กระทรวงแรงงานเตรียมชง ครม. ขยายเวลา MOU ต่างด้าว และศูนย์ CI

แรงงานต่างด้าว

ที่ประชุม คบต. เห็นชอบ 3 ประเด็น ขยายเวลาให้กลุ่มที่ยื่นขออนุญาตทำงานและจ่ายค่าธรรมเนียมแล้ว, ขยายเวลาให้บริการ ศูนย์ CI และขยายเวลาอยู่ต่อกลุ่ม MOU ครบ 4 ปี

วันที่ 26 มกราคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) ครั้งที่ 1/2566 โดยมีนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน ผู้บริหารกรมการจัดหางาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม โดยนายสุชาติกล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม คบต.ได้เห็นชอบ 3 ข้อพิจารณา ดังนี้

1.เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวภายหลังวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 โดยผ่อนผันให้คนต่างด้าวที่ยื่นขอต่อใบอนุญาตทำงาน และชำระค่าธรรมเนียมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ กรมการจัดหางาน ภายในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 แล้ว สามารถอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษและทำงานได้ถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2566

เพื่อจัดทำหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง โดยระหว่างที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตทำงานจากกรมการจัดหางาน ให้ใช้ใบรับคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงาน หรือทะเบียนใบอนุญาตทำงาน ตามแต่ละกรณี คู่กับใบเสร็จรับเงิน เพื่อใช้แสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าได้รับอนุญาตทำงานตามกฎหมายแล้ว

ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการครบตามขั้นตอนแล้ว คนต่างด้าวจะได้รับอนุญาตทำงานถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 หรือวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 แล้วแต่กรณี

2.พิจารณาขยายระยะเวลาการดำเนินการออกเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity : CI) ของทางการเมียนมา ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรปราการ ระนอง และชลบุรี ให้ดำเนินการได้ไม่เกินวันที่ 13 พฤษภาคม 2566 (90 วัน) และขอความร่วมมือทางการเมียนมาเพิ่มสถานที่ออกเอกสารรับรองบุคคล (CI)

3.เห็นชอบให้คนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตาม MOU ที่วาระการจ้างงานครบ 4 ปี อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษและทำงาน โดยกลุ่มที่ครบกำหนด 4 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563-31 ธันวาคม 2565 ประมาณ 60,000 คน

และกลุ่มที่วาระการจ้างงานครบ 4 ปี ระหว่างวันที่ 1 มกราคม-31 กรกฎาคม 2566 จำนวน 50,000 คน ให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษไม่เกิน 6 เดือน นับจากวันที่การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุดลง เพื่อดำเนินการขออนุญาตนำแรงงานต่างด้าวที่ได้รับการผ่อนผันเข้ามาทำงานตาม MOU ควบคู่ไปด้วย โดยไม่ต้องเดินทางกลับประเทศต้นทาง หรือเดินทางกลับเพียงระยะสั้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับประเทศต้นทาง

นายสุชาติกล่าวว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทย หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายอย่างยิ่ง โดยได้กำชับกระทรวงแรงงาน บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแนวทางป้องกันปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะงานที่คนไทยไม่ทำ และจำเป็นต้องใช้แรงงานข้ามชาติ

เพื่อให้ผู้ประกอบการมีแรงงานในการขับเคลื่อนกิจการ จึงเป็นที่มาของการเสนอข้อพิจารณา ทั้ง 3 ประเด็นในวันนี้ โดยล่าสุดกรมการจัดหางานได้มีหนังสือไปสอบถามความเห็นจากประเทศต้นทางแล้ว และอยู่ระหว่างรอหนังสือตอบกลับ ระหว่างนี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการในส่วนที่รับผิดชอบ เพื่อเตรียมเสนอต่อที่ประชุมครม.ต่อไป” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าว

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ทางการเมียนมามีหนังสืออย่างเป็นทางการถึงประเทศไทย ถึง 2 ฉบับ ขอให้พิจารณาขยายระยะเวลาการผ่อนผันให้แรงงานเมียนมา ดำเนินการเพื่อมีหนังสือเดินทางจนถึงเดือนสิงหาคม 2566 เนื่องจากคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตาม MOU ซึ่งวาระการจ้างครบ 4 ปี หนังสือเดินทางกำลังทยอยหมดอายุและอยู่ระหว่างการจัดทำหนังสือเดินทางฉบับใหม่ และขอให้พิจารณาขยายระยะเวลาการดำเนินการออกเอกสารรับรองบุคคลออกไปอีก 6 เดือน

นอกจากนี้ กรมการจัดหางานยังได้รับการประสานจากภาคเอกชนถึงปัญหาขัดข้องที่สถานทูตไม่สามารถจัดทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่ได้ทันภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2565 จากข้อเสนอของทางการเมียนมาและภาคเอกชนดังกล่าว จึงจำเป็นต้องมีแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวในส่วนที่เกี่ยวข้องให้สามารถอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ เพื่อการทำงานในช่วงระยะเวลาที่อยู่ระหว่างการจัดทำหนังสือเดินทาง หรือเอกสารรับรองบุคคลฉบับใหม่ ตลอดจนขยายระยะเวลาการดำเนินการของศูนย์ CI เพื่อสามารถดำเนินการออกเอกสารรับรองบุคคลให้เสร็จสิ้น