8 ผลกระทบขึ้นค่าจ้าง

คอลัมน์ เอชอาร์คอร์เนอร์

โดย ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์ http://tamrongsakk.blogspot.com

เป็นที่ทราบกันแล้วนะครับ ว่าจะมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำกันทั้งหมด 7 อัตราโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 เป็นต้นไป (รายละเอียดหาดูได้ในกูเกิล)

แน่นอนว่าเมื่อมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำจะต้องมีผลกระทบตามมา แต่จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่ว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำนั้นมากหรือน้อยแค่ไหน

ยกตัวอย่างเช่น ในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อปี 2555 มีผลกระทบที่แรงมากที่สุด นับตั้งแต่ผมทำงานด้านบริหารค่าตอบแทนมากว่า 30 ปี เพราะครั้งนี้แหละที่มีการปรับเพิ่มขึ้นมากถึง 40 เปอร์เซ็นต์

ส่วนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อ 1 มกราคม 2560 ปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ และในปี 2561 นี้เรามีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นประมาณ 4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแม้จะดูเผิน ๆ อาจมีเปอร์เซ็นต์ไม่สูงนักก็ตาม แต่จะมีผลกระทบกับบริษัทในบางเรื่องตามที่ผมจะได้อธิบายต่อไป

เรามาดูกันไหมครับ ว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำไม่ว่าในครั้งนี้หรือครั้งไหนก็ตามจะมีผลกระทบอะไรกับบริษัทของท่านบ้าง

1.ต้นทุนในการจ้างพนักงานเข้าใหม่ในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น เฉพาะต้นทุนเรื่องเงินเดือนเพียงอย่างเดียวจะสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 4 เปอร์เซ็นต์ต่อคน แต่จะเพิ่มขึ้นรวมเป็นเงินเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทว่าจะรับพนักงานเข้าใหม่ (unskilled labor) เข้ามากี่คน แต่ละบริษัทคำนวณกันเอาเองนะครับ

2.บริษัทต้องปรับเงินเดือนพนักงานเก่าที่ทำงานมาก่อนทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นเพื่อรักษาคนเก่าเอาไว้ เช่น พนักงานที่เข้ามาเมื่อปีที่แล้วได้เงินเดือน 310 บาทได้ขึ้นเงินเดือน 5 เปอร์เซ็นต์ เงินเดือนปัจจุบัน 325 บาท จะเท่ากับค่าจ้างขั้นต่ำของพนักงานที่เข้ามาใหม่ที่ยังไม่รู้งานเลย แต่คนเก่าที่เข้ามาปีที่แล้วเขารู้งานแล้ว แต่ถ้าไม่ปรับค่าจ้างให้คนเก่า อาจจะทำให้คนเก่าลาออก ตรงนี้อยู่ที่บริษัทว่าจะปรับให้คนเก่าหรือไม่

ถ้าคิดว่าถ้าคนเก่าลาออกไปแล้วคนใหม่ทำแทนได้โดยสอนงานไม่นานนักก็ทำได้ ก็ไม่ต้องปรับ แต่ถ้าคิดว่ามีผลกระทบก็ต้องปรับเงินเดือนให้คนเก่า ส่วนจะปรับให้เท่าไหร่ วิธีไหนอย่างไร ต้องมาว่ากันในรายละเอียดของแต่ละบริษัทต่อไป แต่ที่แน่ ๆ ต้นทุนการปรับเงินเดือนคนเก่าเพิ่มขึ้นแหง ๆ ครับ

3.บริษัทอาจจะต้องปรับอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิสำหรับพนักงานที่เพิ่งจบการศึกษาใหม่เพื่อหนีผลกระทบของการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ทำให้ต้นทุนเงินเดือนเพิ่มขึ้นตามจำนวนอัตรากำลังที่จะรับพนักงานจบใหม่ในคุณวุฒิต่าง ๆ เข้าทำงาน เช่น ปวช., ปวส., ปริญญาตรี, ปริญญาโท ท่านลองดูตารางที่ผมทำมาข้างล่างนี้สิครับจะได้เห็นภาพชัดขึ้น

จากภาพข้างต้นจะเห็นได้ว่าถ้าไม่ปรับอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิ ปวช.หรือ ปวส.คงจะมีปัญหาแหละ นี่ผมไม่ได้ปรับปริญญาตรีเพิ่มขึ้นนะครับ เพราะยังเห็นว่าเปอร์เซ็นต์ความห่างระหว่าง ปวส.ถึง ปริญญาตรียังพอไหวแต่ถ้าบริษัทไหนจะปรับอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิปริญญาตรีเพิ่มขึ้น แน่นอนครับว่าจะมีต้นทุนในส่วนนี้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ตรงนี้ในรายละเอียดคงต้องกลับไปดูว่าบริษัทของท่านกำหนดอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิกันไว้เท่าไหร่กันบ้าง และควรจะปรับเพื่อหนีผลกระทบจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำดีหรือไม่

4.บริษัทต้องปรับเงินเดือนคนเก่าที่จบคุณวุฒิเดียวกันและเข้ามาก่อน เช่น พนักงานจบ ปวช.เมื่อปี 2560 บริษัทรับเข้าทำงานในอัตรา 10,000 บาท ได้ขึ้นเงินเดือนประจำปีนี้ 5 เปอร์เซ็นต์ เงินเดือนใหม่ 10,500 บาท จะเท่ากับการรับพนักงานจบ ปวช.ใหม่ที่บริษัทปรับเพิ่มขึ้นในปีนี้ (สมมุติว่าบริษัทปรับอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิ ปวช.เข้าใหม่ให้เริ่มต้นที่ 10,500 บาท ปีที่แล้วเริ่มต้นที่ 10,000 บาท)

ถ้าไม่ปรับเพิ่มให้ อาจจะทำให้ลาออกในขณะที่คนใหม่ยังไม่รู้งานอะไรเลย ซึ่งพนักงานเก่าที่รับเข้ามาก่อนหน้านี้ในคุณวุฒิอื่น ๆ ก็อยู่ในปัญหาเดียวกัน ดังนั้นถ้าบริษัทปรับเงินเดือนคนเก่าเหล่านี้ จะทำให้ต้นทุนการปรับเงินเดือนสูงขึ้นแหง ๆ อยู่แล้วครับ

5.เปอร์เซ็นต์การขึ้นเงินเดือนประจำปีของพนักงานจะลดลงเมื่อเทียบกับเปอร์เซ็นต์การเติบโตของค่าจ้างในตลาดภายนอกบริษัท ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาตามมาอีก 3 เรื่องคือ

5.1 บริษัทอาจจะต้องปรับเงินเดือนพนักงานที่เป็น talent หรือพนักงานที่มีความสามารถที่บริษัทเห็นว่าสำคัญเพื่อรักษา key position เหล่านี้เอาไว้

5.2 พนักงานที่ทำงานปานกลางถึงค่อนข้างดี อาจจะลาออกถ้าพบว่าเงินเดือนของตัวเองถูกคนเข้าใหม่จี้หลังเข้ามามากเกินไป

5.3 พนักงานที่ยังไปไหนไม่ได้ และยังจำเป็นต้องอยู่กับบริษัทจะเริ่มก่อหวอดเรียกร้องขอเงินเดือนเพิ่มจากฝ่ายบริหารเพื่อให้ท่านเห็นภาพที่ผมบอกมาชัดขึ้นผมเลยนำตารางมาให้ดูกันดังนี้ครับ

ภาพหนึ่งภาพแทนคำพูดเป็นร้อยคำ จากตารางข้างต้นท่านจะเห็นได้ว่า ถ้าในปีนี้บริษัทขึ้นเงินเดือนเฉลี่ย 5 เปอร์เซ็นต์ก็เท่ากับพนักงานได้รับการขึ้นเงินเดือนจริงต่ำกว่าเปอร์เซ็นต์การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ+เงินเฟ้อ ซึ่งเป็นอัตราเติบโตของค่าจ้างนอกบริษัท

6.จากข้อ 5 จึงอธิบายได้ว่า เมื่อมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำจะมีผลต่อเปอร์เซ็นต์การเติบโตของอัตราการจ้างสำหรับตลาดภายนอกบริษัททุกครั้ง และจะทำให้เปอร์เซ็นต์การขึ้นเงินเดือนที่พนักงานจะได้รับมีแนวโน้มลดลง ส่วนจะมากหรือน้อยเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับเปอร์เซ็นต์การปรับค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละครั้งว่ามากหรือน้อยแค่ไหน ซึ่งจะเกิดผลกระทบระหว่างเปอร์เซ็นต์การเติบโตของค่าจ้างภายนอกกับภายในบริษัทเช่นนี้อยู่เสมอ

7.มีแนวโน้มที่จะต้องปรับค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานเพิ่มขึ้น ตรงนี้จะขึ้นอยู่กับเปอร์เซ็นต์ความห่างระหว่างค่าจ้างขั้นต่ำกับค่าจ้างตามทักษะวิชาชีพ เช่น ตอนนี้ค่าจ้างพนักงานประกอบอุปกรณ์ไฟฟ้าและแสงสว่างระดับ 1 จะได้วันละ 360 บาท ตอนนี้จะห่างจากค่าจ้างขั้นต่ำใน กทม. (325 บาท) อยู่ 10.8 เปอร์เซ็นต์

ถ้ามีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำครั้งต่อไปแล้วมีเปอร์เซ็นต์ความห่างลดลงมากกว่านี้ ก็มีแนวโน้มที่จะต้องมีประกาศปรับค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน จะทำให้ตลาดจะมีการปรับค่าจ้างเงินเดือนในตำแหน่งงานต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้น และบริษัทจะต้องจ่ายค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานเพิ่มขึ้นตามประกาศของกระทรวงแรงงาน ซึ่งจะทำให้ต้นทุนของบริษัทในส่วนนี้เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

8.อาจจะต้องมีการ update โครงสร้างเงินเดือนใหม่ ถ้าพบว่าค่าจ้างในตลาดในตำแหน่งงานต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะถ้าไม่ update โครงสร้างเงินเดือนของบริษัทก็จะจ่ายต่ำกว่าตลาดแข่งขัน (under paid) จะกระทบกับความสามารถในการรักษาคนในและจูงใจคนนอกเข้ามาร่วมงานกับบริษัทในที่สุด

ทั้งหมดที่บอกมานี้คือสิ่งที่ผมนึกออกในตอนนี้ ว่าถ้ามีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ (ไม่ว่าจะครั้งไหนก็ตาม) จะมีผลกระทบอะไรกับบริษัทบ้างจึงเอาเรื่องเหล่านี้มาแชร์ให้กับคนที่เป็น compensation manager หรือคนที่เกี่ยวข้องจะได้นำมาคิด วิเคราะห์และวางแผนเพื่อรับมือกับผลกระทบในแต่ละด้านเพื่อนำเสนอแนวทางแก้ไขให้กับฝ่ายบริหารได้ทันท่วงที

หวังว่าเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับทุกท่านที่เกี่ยวข้องในการรับมือกับการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในรอบนี้นะครับ