กวาดล้างต่างชาติแย่งอาชีพสงวนคนไทย กระทบผู้ประกอบการในพื้นที่

ต่างชาติแห่เข้าไทย ทำอาชีพสงวน กระทบผู้ประกอบการในพื้นที่ กระทรวงแรงงานใช้มาตรการลงพื้นที่สุ่มตรวจทั่วประเทศ เร่งกวาดล้างต่างชาติแย่งอาชีพคนไทย

จากกรณีพบคนต่างชาติเร่ขายสินค้า ตามแหล่งท่องเที่ยวและย่านการค้าซึ่งเป็นที่นิยมทั้งในกลุ่มชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ จนกระทบต่อบรรดาผู้ประกอบการในพื้นที่ กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน จึงใช้มาตรการลงพื้นที่สุ่มตรวจทั่วประเทศโดยไม่แจ้งล่วงหน้า เพื่อตรวจสอบ ปราบปราม คนต่างชาติที่ลักลอบทำงานโดยผิดกฎหมาย ไม่มีใบอนุญาตทำงาน และทำงานนอกเหนือสิทธิ

นอกจากการใช้มาตรการลงพื้นที่สุ่มตรวจโดยไม่แจ้งล่วงหน้าในทุกจังหวัดแล้ว กรมการจัดหางานยังลงพื้นที่ตรวจสอบตามที่ได้รับแจ้งเบาะแสร้องทุกข์จากประชาชน ซึ่งช่วงที่ผ่านมามีคนช่วยเป็นหูเป็นตาแจ้งเบาะแสเป็นจำนวนมาก

ตรวจต่างชาติมากกว่า 2.4 แสนรายแล้ว

จากผลการดำเนินการปีงบประมาณ 2566 (วันที่ 1 ตุลาคม 2565-12 มีนาคม 2566) มีการเข้าตรวจสอบสถานประกอบการที่จ้างแรงงานต่างชาติทั่วประเทศแล้ว จำนวน 18,966 แห่ง ดำเนินคดี 685 แห่ง และตรวจสอบคนต่างชาติ จำนวน 240,918 คน แยกเป็นสัญชาติเมียนมา 177,134 คน กัมพูชา 40,750 คน ลาว 12,311 คน เวียดนาม 140 คน และสัญชาติอื่น ๆ 10,583 คน มีการดำเนินคดีทั้งสิ้น 1,550 คน แยกเป็นสัญชาติเมียนมา 846 คน กัมพูชา 245 คน ลาว 269 คน เวียดนาม 65 คน และสัญชาติอื่น ๆ 125 คน ซึ่งพบเป็นการแย่งอาชีพคนไทย ทั้งสิ้น 883 คน แยกเป็นสัญชาติเมียนมา 392 คน กัมพูชา 195 คน ลาว 139 คน เวียดนาม 55 คน อินเดีย 68 คน และสัญชาติอื่น ๆ 34 คน โดยอาชีพที่พบคนต่างชาติแย่งอาชีพมากที่สุด ได้แก่ งานเร่ขายสินค้า งานตัดผม งานขับขี่ยานพาหนะ และงานนวด ตามลำดับ

ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน ได้ลงพื้นที่สุ่มตรวจทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง เช่น ปากคลองตลาด ห้วยขวาง นนทบุรี พัทยา อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และย่านราชประสงค์

Advertisment

งานห้ามคนต่างชาติทำ

กระทรวงแรงงานกำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ รวม 40 งาน เป็นงานห้ามคนต่างด้าวทำเด็ดขาด 27 งาน และงานที่ให้คนต่างด้าวทำได้โดยมีเงื่อนไข 13 งาน แบ่งออกเป็น 4 บัญชี

บัญชีที่ 1 : งานที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยเด็ดขาด จำนวน 27 งาน

1.งานแกะสลักไม้ 2.งานขับขี่ยานยนต์ ยกเว้นงานขับรถยก (forklift) 3.งานขายทอดตลาด 4.งานเจียระไนเพชร/พลอย 5.งานตัดผม/เสริมสวย 6.งานทอผ้าด้วยมือ 7.งานทอเสื่อ หรืองานทำเครื่องใช้ด้วยกก หวาย ฟาง ไม้ไผ่ ขนไก่ เส้นใย ฯลฯ 8.งานทำกระดาษสาด้วยมือ 9.งานทำเครื่องเขิน 10.งานทำเครื่องดนตรีไทย 11.งานทำเครื่องถม 12.งานทำเครื่องทอง/เงิน/นาก 13.งานทำเครื่องลงหิน

14.งานทำตุ๊กตาไทย 15.งานทำบาตรพระ 16.งานทำผ้าไหมด้วยมือ 17.งานทำพระพุทธรูป 18.ทำร่มกระดาษ/ผ้า 19.งานนายหน้า/ตัวแทน 20.งานนวดไทย 21.งานมวนบุหรี่ 22.งานมัคคุเทศก์ 23.งานเร่ขายสินค้า 24.งานเรียงอักษร 25.งานสาวบิดเกลียวไหม 26.งานเลขานุการ 27.งานบริการทางกฎหมาย

Advertisment

บัญชีที่ 2 : งานที่ให้คนต่างด้าวของประเทศที่มีข้อตกลงกับประเทศไทยทำเท่านั้น

ให้คนต่างด้าวทำงานได้ตามข้อตกลงระหว่างประเทศหรือพันธกรณีที่ประเทศไทยมีความผูกพันภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย จำนวน 3 อาชีพ ได้แก่ วิชาชีพบัญชี วิชาชีพวิศวกรรม วิชาชีพสถาปัตยกรรม

บัญชี 3 : งานฝีมือหรือกึ่งฝีมือ ที่ให้คนต่างด้าวทำโดยมีเงื่อนไข

ให้คนต่างด้าวทำงานฝีมือหรือกึ่งฝีมือนั้นได้ก็แต่เฉพาะงานที่มีนายจ้าง จำนวน 8 งาน ได้แก่ 1.งานกสิกรรม 2.งานช่างก่ออิฐ/ช่างไม้/ช่างก่อสร้างอาคาร 3.งานทำที่นอน 4.งานทำมีด 5.งานทำรองเท้า 6.งานทำหมวก 7.งานประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย 8.งานปั้นเครื่องดินเผา

บัญชีที่ 4 : งานฝีมือที่ให้คนต่างด้าวทำเฉพาะงานที่มีนายจ้าง และให้เข้ามาไทยตาม MOU

งานที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยมีเงื่อนไข ให้คนต่างด้าวทำงานนั้นได้ก็แต่เฉพาะงานที่มีนายจ้างและได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองภายใต้บันทึกข้อตกลงหรือบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ (MOU) จำนวน 2 งาน ได้แก่ งานกรรมกร และงานขายของหน้าร้าน

ทั้งนี้ ตามมติคณะรัฐมนตรี ผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ คือ พม่า ลาว และกัมพูชา ทำงานสงวนได้ 2 อาชีพ คือ งานกรรมกร และงานบ้าน

สามารถเช็กร่างนิยามอาชีพของประเทศไทยได้จากลิงก์นี้ → นิยามอาชีพ

ฝ่าฝืนมีบทลงโทษ

กระทรวงแรงงานขอให้นายจ้าง/สถานประกอบการและคนต่างด้าว ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด หากตรวจพบการฝ่าฝืนกฎหมาย นายจ้างที่จ้างคนต่างด้าวโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน

หากกระทำผิดซ้ำต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี และคนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ จะมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000-50,000 บาท และถูกผลักดันส่งกลับ

กรมการจัดหางานยังฝากผู้ที่พบเห็นการจ้างคนต่างชาติทำงานโดยผิดกฎหมาย หรือพบคนต่างชาติลักลอบทำงานโดยผิดกฎหมาย ให้ช่วยกันแจ้งมาที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน 0-2354-1729 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน 1694 หรือที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด