การบินทั่วโลกฟื้น แนะแอร์ไลน์เร่งปรับตัวใช้ SAF ลดปริมาณคาร์บอน

น้ำมัน SAF

ธุรกิจการบินทั่วโลกฟื้น ผู้เชี่ยวชาญแนะแอร์ไลน์เร่งปรับตัวใช้ SAF ทางเลือกที่ทำได้เร็วที่สุด ลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่อากาศ

วันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (23 พ.ย.) หม่อมหลวงณัฐสิทธิ์ ดิศกุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS ได้กล่าวในเวทีเสวนาหัวข้อ “Pioneering Sustainable Aerospace : พลิกโฉมน่านฟ้า สู่การบินยั่งยืน” ในงานสัมมนา Bangchak Group Greenovative Forum ครั้งที่ 13 “Regenerative Fuels : Sustainable Mobility” จัดโดยกลุ่มบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ว่า

ธุรกิจการบินเป็นธุรกิจสำคัญต่อเศรษฐกิจและการเติบโตของโลก ถึงแม้ว่าในช่วงโควิดที่ผ่านมา การบินชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งพอโควิดคลี่คลายกลับเติบโตขึ้นมาอีกครั้ง แม้ว่าจะยังไม่ฟื้น หรือเติบโตเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด แต่จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาอินเดียมีการสั่งเครื่องบินไปแล้วกว่า 500 ลำ ซึ่งจะส่งมอบประมาณปี 2030 

“ฉะนั้น ผมมองว่าทิศทางของธุรกิจการบินจะเติบโตไปเรื่อย ๆ และมากกว่าที่เราเห็นในปัจจุบัน แต่ปัญหาคือจะทำอย่างไรให้ธุรกิจการบินมีปริมาณการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง ซึ่งทางออกที่น่าจะเป็นไปได้และทำได้ทันทีคือการใช้เชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel หรือ SAF) 

ด้านนายยงยุทธ ลุจินตานนท์ Area Manager IATA Thailand, Laos, Cambodia and Myanmar กล่าวเสริมว่า IATA เราทำงานร่วมกับสายการบินในการพัฒนาธุรกิจการบินให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งเรามีสมาชิกกว่า 318 การบิน การเดินทางของผู้คนในปี 2023 เมื่อเทียบกับช่วงที่เกิดโควิดเมื่อปี 2019 มีการเติบโตถึง 80% แม้จำนวนการเดินทางจะยังไม่กลับมาเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด แต่จากการคาดการณ์พบว่าตัวเลขการเดินทางจะกลับมาเป็นปกติก่อนช่วงเกิดโควิดจะอยู่ที่ปี 2025 และหากเทียบสัดส่วนอีก 20 ปีข้างหน้า การเดินทางไปยุโรปจะโตระดับ 700 ล้านคน ขณะที่สหรัฐโต 500 ล้านคน

Advertisment

ส่วนเอเชีย-แปซิฟิกตัวเลขอาจจะโตขึ้นมีจำนวนมากถึง 2,800 ล้านคน แปลว่าจะเห็นจำนวนประชากรที่เดินทางอย่างมากมายมหาศาล และหากมีการเดินทางมากขึ้น ความท้าทายคือ ธุรกิจการบินจะเพิ่มเที่ยวบินอย่างไร และจะผลิตเครื่องบินทันหรือไม่ รวมถึงการบริหารจัดการทางอากาศจะทำอย่างไรบ้าง 

นอกจากนี้ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึง AI จะมีบทบาทสำคัญกับภาคการบิน เพราะเมื่อการเดินทางที่เพิ่มขึ้น ความปลอดภัยจึงต้องมาควบคู่กัน ขณะเดียวกัน ก็ต้องคำนึงถึงการปลดปล่อยคาร์บอน ถึงแม้ว่าธุรกิจการบินจะมีการปลดปล่อยคาร์บอนคิดเป็น 2% เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ แต่เมื่อดูปริมาณการปลดปล่อยก็ถือว่ามีปริมาณมหาศาล ดังนั้น ผมมองว่าการที่ทุกฝ่ายเห็นความสำคัญของการใช้ SAF จะเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ที่สุดในเวลานี้ 

ด้านนายปิยะชาติ อิศรภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แบรนดิ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญนอกจากการบินจะนำ SAF มาใช้แล้ว สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันคือ ผู้ใช้บริการรับรู้ และทำอย่างไรให้ผู้บริโภคเรียกร้องว่า ทำอย่างไรให้สายการบินมีเที่ยวบินที่รักโลก และมีราคาที่สมเหตุสมผล เป็นธรรม 

ขณะเดียวกัน การเดินทางแบบยั่งยืนถือเป็นเรื่องไก่กับไข่ที่กฎหมายจะนำหรือความต้องการจะนำ ดังนั้น ทั้งผู้ออกกฎเกณฑ์ นักธุรกิจ และผู้บริโภคจะต้องวิน-วินด้วยกัน เพราะคนทำธุรกิจจะต้องมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ส่วนประชาชนจะต้องได้รับความปลอดภัยและราคาที่เป็นธรรม

Advertisment