“ซัมซุง” ส่งมอบ “ห้องเรียนแห่งอนาคต” แก่ สพฐ. หวังเป็นต้นแบบขยายผลสู่โรงเรียนทั่วประเทศ

“ผู้สื่อข่าวประชาติธุรกิจ” รายงานว่า “บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด” จัดงาน “6 ปี สร้างพลังเรียนรู้สู่อนาคต” เพื่อส่งมอบนวัตกรรมและความสำเร็จจาก “โครงการ Samsung Smart Learning Center ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต” แก่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งโครงการได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน

โดยได้พัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และใช้เทคโนโลยีของซัมซุง มาขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้ของเด็กไทยให้มีทักษะของศตวรรษใหม่ พัฒนาต้นแบบ “ห้องเรียนแห่งอนาคต” ในโรงเรียน 50 แห่ง ทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2562

“นางวรรณา สวัสดิกูล” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการตลาด บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด กล่าวว่า ซัมซุงมุ่งเน้นการพัฒนาโครงการด้านความรับผิดชอบต่อสังคม โดยยึดแนวคิดด้านศักยภาพคน และการพัฒนาสู่ชีวิตที่ดีร่วมกัน (People and Co-prosperity) จึงเป็นที่มาของการพัฒนาโครงการ Samsung Smart Learning Center ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต

“มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการพัฒนาทักษะศตวรรษที่ 21 ให้กับเด็กและเยาวชน ผ่านแนวคิดห้องเรียนแห่งอนาคต โดยเริ่มพัฒนาต้นแบบร่วมกับโรงเรียนภาคีนำร่อง 10 แห่ง เมื่อปี 2556 จนถึงวันนี้มีจำนวนโรงเรียนภาคีรวม  50 แห่ง กระจายอยู่ทุกภาคทั่วประเทศ และมีครูที่ผ่านการอบรมจากโครงการกว่า 4,000 พันคน และเด็กที่ผ่านประสบการณ์ห้องเรียนแห่งอนาคตกว่าแสนคน”

“ทั้งนั้น ในห้องเรียนแห่งอนาคต ซัมซุงได้นำเทคโนโลยี มาสนับสนุนการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning เพิ่มความสามารถและเสริมศักยภาพผู้เรียนให้พัฒนาทักษะศตวรรษที่ 21 และภายในเวลา 6 ปี แนวคิดห้องเรียนแห่งอนาคต ได้รับการนำไปประยุกต์ใช้ในโรงเรียนที่มีบริบทแตกต่าง หลากหลาย ตั้งแต่โรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ โรงเรียนประจำอำเภอ โรงเรียนประถมขยายโอกาส โรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือแม้แต่ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม อย่างได้ผล”

“และในวันนี้ซัมซุงร่วมกับคณะผู้บริหารและคณะครูจากโรงเรียนภาคีร่วมโครงการทั้งหมด มีความยินดีที่จะส่งมอบกระบวนการจัดการและข้อเรียนรู้ที่ได้จากการพัฒนาต้นแบบห้องเรียนแห่งอนาคต ที่เกิดขึ้นในตลอดระยะเวลา 6 ปี เพื่อแบ่งปันสู่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และผู้มีส่วนกำหนดนโยบายด้านการศึกษา รวมไปถึงผู้ที่สนใจขับเคลื่อนการพัฒนาด้านการศึกษา ที่จะนำไปปรับใช้หรือพัฒนาให้เกิดความก้าวหน้าต่อไป”

ด้าน “นายวาริท จรัณยานนท์” ผู้จัดการโครงการ Samsung Smart Learning Center ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต กล่าวว่า ความสำเร็จในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา คือ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับเด็กๆ ที่เข้าร่วมโครงการ ได้เห็นการพัฒนาทักษะใหม่ๆ จากการที่เขาได้ทำโครงงานร่วมกัน การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศสืบค้นข้อมูล ฝึกตั้งคำถาม หาคำตอบ คิดวิเคราะห์และเรียนรู้ด้วยตัวเอง ก่อนจะสร้างสรรค์ผลงาน การเล่าเรื่องผ่านสื่อดิจิทัล (Digital Storytelling) เพื่อสื่อสารและแบ่งปันการค้นพบ

“นอกจากเด็กแล้ว ที่สำคัญก็คือ “คุณครู” ในโครงการ ซึ่งยอมเปลี่ยนจาก “ครูผู้สอน” มาเป็น “โค้ชผู้อำนวยกระบวนการเรียนรู้” ก็ถือเป็นต้นแบบของความเสียสละและกล้าที่จะเริ่มทดลองทำในสิ่งใหม่ๆ เพราะว่าคุณครูเข้าใจ ว่าโลกกำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ความรักความห่วงใยลูกศิษย์ จึงยินดีจะเป็นผู้เริ่มเปลี่ยนแปลงแนวทางการเรียนการสอนสู่วิธีที่ไม่คุ้นเคย”

“หลังจากที่ครูเปลี่ยนวิธีสอน ก็ได้เห็นผลว่าเด็กเปลี่ยน มีพัฒนาการขึ้นทุกด้าน ทำให้ครูเกิดกำลังใจ และ มุ่งมั่นพัฒนาการจัดการเรียนรู้แบบใหม่นี้ไปในวิธีของตนเอง จนเกิดเป็นต้นแบบห้องเรียนแห่งอนาคตที่มีความหลากหลายไม่ซ้ำกัน พร้อมให้โรงเรียนอื่นๆ ที่มีเงื่อนไขแวดล้อมคล้ายๆ กัน นำไปปรับใช้ได้”

“เราเชื่อมั่นว่า ห้องเรียนแห่งอนาคต นี้จะเป็นสิ่งที่ยั่งยืน เพราะความรู้และประสบการณ์ในการจัดการเรียนรู้แบบใหม่บัดนี้อยู่ในตัวครูทุกคนแล้ว ครูในโครงการไม่เพียงแค่สอนเด็ก แต่ยังถ่ายทอดต่อให้เพื่อนครูคนอื่นๆ จนเกิดเครือข่ายครูแห่งอนาคต ที่น่าชื่นชม”

ขณะที่ “นายอัมพร พินะสา” รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า การจัดระบบการศึกษาแบบเดิมในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา มุ่งเน้นความทั่วถึงแต่เกิดความไม่เท่าเทียมกันจากบริบทและข้อจำกัดต่างๆ

“โครงการ Samsung Smart Learning Center ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต จึงเป็นแนวทางที่ตอบโจทย์ระบบการศึกษาสมัยใหม่ด้วยการนำเทคโนโลยีมาส่งเสริมให้เด็กได้มีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ เปิดให้โอกาสการใช้ปัญญาแสวงหาวิธีการแก้ไขปัญหา จากห้องเรียนสู่ชุมชนและโลกกว้างในอนาคต”

“สพฐ.พร้อมนำข้อเรียนรู้ที่ได้จากโครงการฯ นี้ ไปดำเนินการต่อในโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล ซึ่งมีอยู่ทั้งสิ้น 7,000 แห่งทั่วประเทศ และขอให้ทางผู้บริหารและคุณครูช่วยกันนำไปขยายผลสร้างความเข้าใจ ไปสู่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนที่เคยเป็นมาให้เกิดประโยชน์กับนักเรียนมากที่สุด”