ซีเอสอาร์ฉบับ “SPBT” อนุรักษ์ต้นน้ำสร้างวิถีชุมชนยั่งยืน

อาจเป็นเพราะกลุ่มบริษัทซันโทรี่มีปณิธานในการดำเนินธุรกิจที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างผาสุก ด้วยการให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ทั้งนั้นเพราะ “น้ำ” เป็นองค์ประกอบหลักในการดำเนินธุรกิจมาตลอด 120 ปี จึงทำให้ปรัชญาหลักของกลุ่มบริษัทคือ “Mizu To Ikiru” ซึ่งมีความหมายว่าน้ำคือแหล่งทรัพยากรของทุกชีวิตบนผืนโลก

ขณะที่เป๊ปซี่โค อิงค์มองเรื่อง “น้ำ” เป็นทรัพยากรหลักในการประกอบธุรกิจ ทั้งยังเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของทุกชีวิตบนผืนโลก โดยมีปรัชญาว่า “Living with Water” อันมีความหมายว่า “อาศัยอยู่กับน้ำ” ดังนั้นเมื่อซันโทรี่ กับเป๊ปซี่โค อิงค์ มาร่วมทุนกันในเดือนพฤศจิกายน 2560 พร้อมกับตั้งชื่อ บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ SPBT จึงทำให้ปรัชญาของทั้ง 2 บริษัทมาหลอมรวมกัน

ภายใต้วิสัยทัศน์ “Growing for Good” ที่ไม่เพียงจะคำนึงถึงเรื่องการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืน หากยังมองเรื่องการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำตามธรรมชาติอีกด้วย จนที่สุดจึงเกิดโครงการอนุรักษ์ต้นน้ำ พื้นที่ลุ่มน้ำแม่ศึก อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งต้นน้ำของประเทศไทย กับโครงการให้ความรู้เรื่องน้ำ (มิตซุยกุย) แก่เด็กและเยาวชนในจังหวัดระยองและสระบุรี

เพื่อสร้างสำนึกด้านการอนุรักษ์น้ำและการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าด้วยการร่วมมือกับมูลนิธิรักษ์ไทยดีไซน์โปรแกรมกิจกรรมเพื่อสังคม ในการดำเนินการสร้างฝายชะลอน้ำ, ปลูกหญ้าแฝก, ปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกและป่าเสื่อมโทรม รวมถึงการปลูกป่าเสริมในเขตตำบลแม่ศึก อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ พร้อมทั้งให้ความรู้เรื่องน้ำแก่เด็ก เยาวชน และบุคลากรในท้องถิ่น เพื่อสร้างจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์และการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าทั้งนั้นเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคม รวมถึงการส่งเสริมกิจกรรมจิตอาสาและสร้างจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับพนักงานของ SPBT ด้วย
เบื้องต้น “โอเมอร์ มาลิค” ประธานกรรมการบริหารบริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าเราร่วมมือกับมูลนิธิรักษ์ไทยในการออกแบบโครงการอนุรักษ์ต้นน้ำ พื้นที่ลุ่มน้ำแม่ศึก บริเวณลุ่มน้ำแจ่ม ด้วยการพาพนักงานจิตอาสาของเราทั้งในส่วนกลางและโรงงานทั้ง 2 แห่งคือจังหวัดระยองและสระบุรีมาร่วมโครงการทั้งหมด 56 คน เพื่อต้องการให้พวกเขามีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ต้นน้ำทางธรรมชาติ เพราะบริษัทของเราให้ความสำคัญกับเรื่องน้ำเป็นอย่างมาก

“ด้วยการให้พวกเขากับชาวบ้านในชุมชนร่วมสร้างฝายชะลอน้ำทั้งสิ้น 200 ฝาย พร้อมกับปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุก จนเกิดความเสื่อมโทรมอีกประมาณ 500 ไร่ พร้อมกันนั้นก็ปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่เสี่ยงต่อการพังทลายของหน้าดินอีกราว 20 กิโลเมตร เพื่อหวังว่าหญ้าแฝกจะช่วยลดการพังทลายของดิน และช่วยป้องกันอุทกภัยในฤดูฝน ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เราดำเนินโครงการตามรอยศาสตร์พระราชาของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นต้นแบบของการทำงานตลอดโครงการ”

“แต่กระนั้น เราคุยกับทางมูลนิธิรักษ์ไทยก่อนเริ่มโปรเจ็กต์ค่อนข้างชัด เพราะพื้นที่ของโครงการมีการบุกรุกทำลายป่าค่อนข้างมาก ซึ่งเราตระหนักถึงปัญหาข้อนี้ดี เพราะถ้าชาวบ้านไม่หยุดทำลายป่า เราจะไม่มีทางหยุดปัญหาได้ เพราะในโปรเจ็กต์มีเรื่องการปลูกป่าด้วย ดังนั้นเมื่อเราปลูกป่าปีนี้ แต่ปีหน้าชาวบ้านยังตัดไม้ทำลายป่าอยู่ ต่อให้เราลงเงินไปเท่าไหร่ ปัญหาก็ไม่มีทางหมด ซึ่งทางมูลนิธิรักษ์ไทยทราบปัญหานี้ดี เพราะเขาทำงานในพื้นที่และอยู่กับชาวบ้านมาหลายสิบปี จนเข้าใจปัญหาทุกอย่าง”

“ทั้งยังเล่าให้เราฟังอีกว่า ตอนนี้ทัศนคติของพวกเขาเริ่มเปลี่ยนไป เพราะเขารู้ดีว่าการบุกรุกทำลายป่าเพื่อปลูกข้าวโพดไม่เพียงจะทำร้ายตัวเขาเองจนทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย ยังทำให้เขามีหนี้สิน และไม่มีน้ำกินน้ำใช้ ที่สำคัญ พื้นที่ลุ่มน้ำแจ่มเป็นพื้นที่ต้นน้ำสำคัญที่จะไหลไปรวมกับแม่น้ำปิง ดังนั้นถ้าหากเขายังบุกรุกทำลายป่าก็เท่ากับว่าเขาทำร้ายคนภาคเหนือด้วย ลึกไปกว่านั้นที่นี่ยังเป็นต้นตอที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งตามมาด้วย และไม่เฉพาะแต่แม่แจ่ม หากอีกหลาย ๆ จังหวัดตามมา”

คำมั่นสัญญาจากชาวบ้านในชุมชนที่รับปากกับมูลนิธิรักษ์ไทยและหน่วยงานภาครัฐนี่เองที่ทำให้บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) เชื่อใจและไว้วางใจเพื่อมาดำเนินโครงการในที่สุด

แต่กระนั้น ก็เกิดคำถามตามมาว่า เมื่อฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายป้องกัน แต่มีอีกหลายฝ่ายยังพยายามให้พวกเขาบุกรุกทำลายป่าอยู่ แล้วจะมีวิธีแก้ปัญหาอย่างไร “โอเมอร์ มาลิค” จึงตอบว่า ผมเชื่อในเรื่องของ harmony (ความสามัคคี) และผมเชื่อว่าเราจำเป็นต้องสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาในชุมชน เพราะความสามัคคีจะทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างผาสุกและมีความกลมเกลียวกัน

“ดังนั้นเมื่อชาวบ้านรู้แล้วว่าการบุกรุกทำลายป่าเพื่อปลูกข้าวโพดก่อให้เกิดผลอะไรบ้าง เขาจึงต้องค่อย ๆ ปรับพฤติกรรม คือแทนที่จะทำมาหากินแบบเดิม ๆ แต่ทำอย่างไรถึงจะให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือทำลายทรัพยากรธรรมชาติให้น้อยที่สุด เพราะนั่นจะเป็นคำตอบสุดท้ายที่ทำให้คุณภาพชีวิตของเขาดีขึ้น และจะทำให้พวกเขาสามารถทำการเกษตรทางเลือกได้”

ถึงตรงนี้ “ดร.พรชัย ศรีประไพ” กรรมการมูลนิธิรักษ์ไทยกล่าวเสริมว่า กลยุทธ์ของเราคือการเข้าไปเชื่อมโยงกับคนในท้องถิ่น และเราทำแบบ bottom up คือจากล่างขึ้นบนด้วยการเข้าไปพูดคุย อธิบายเพื่อให้เขาเห็นปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และปัจจุบันเราใช้ระบบจีพีเอสเข้ามาทาบพื้นที่ทำกินของพวกเขาเลยว่า ปีนี้ถ้าคุณปลูกป่าเท่านี้ ปีหน้าความอุดมสมบูรณ์ของป่าจะเกิดขึ้นเท่าไหร่ และเขาจะได้อะไรจากป่าชุมชนเหล่านี้

“ทั้งนั้นเพราะเราเห็นเทรนด์ที่กำลังเปลี่ยนไป ไม่ใช่พวกเขาไม่รู้ว่าบุกรุกถางป่าเพื่อปลูกข้าวโพดจะส่งผลอะไร แต่พวกเขาไม่มีทางเลือก เพราะข้าวโพดปลูก 4 เดือนก็ได้เงินแล้ว เพียงแต่ตอนแรกเขาไม่เห็น แต่ตอนนี้เขาเริ่มได้บทเรียน ปีสองปีแรกมีกำไรจริง แต่ปีที่สาม ปีที่สี่เริ่มไม่มีกำไร พอปีที่ห้าเริ่มขาดทุน และเริ่มเป็นหนี้ ตรงนี้เป็นวงจรอุบาทว์ที่เกิดขึ้นกับพวกเขาตลอดช่วงเวลาผ่านมา”

“ฉะนั้น สิ่งที่เรานำเสนอคือการสร้างวิถีชีวิตใหม่ เพื่อให้เขาปลูกป่าชุมชนขึ้นมา โดยให้พวกเขาขับเคลื่อนและดูแลชุมชนด้วยกันเอง ตรงนี้ระยะยาวจะตอบโจทย์พวกเขา แต่เขาจะต้องมีส่วนร่วมกับเราด้วย และจะต้องช่วยเหลือเราด้วย ไม่เช่นนั้นจะไม่มีใครชนะ ทุกคนจะแพ้เหมือนกันหมด แม้เราจะมีสำนักงานอยู่ที่นี่ หรือมีเจ้าหน้าที่เข้ามาทำงานกับชุมชนก็ตาม เขาก็จะต้องพร้อมร่วมมือกับเรา”

“ที่ผ่านมาเราเห็น success story ชัดขึ้น แต่ยังไม่มาก เพราะพื้นที่อำเภอแม่แจ่มครอบคลุมพื้นที่ป่ากว่า 1.7 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ถึง 7 ตำบล และประชากรส่วนใหญ่มีโฉนดทำกินเพียง 4-5% เท่านั้นเอง นอกนั้นเป็นเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ คำถามง่าย ๆ คือเขาจะทำอะไรกิน ถ้าไม่บุกรุกถางป่า ทางแก้ของเราคือต้องพาเขาไปดู ไปศึกษาพื้นที่ในลักษณะเดียวกันว่าเมื่อเขาปรับเปลี่ยนทัศนคติแล้ว ผลจะเป็นอย่างไร และจะทำอะไรกินได้บ้าง ซึ่งอำเภอกัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ คือตัวอย่างหนึ่งของ success story”

อันไปสอดรับกับความคิดบนแนวทางการแก้ปัญหาของภาครัฐอย่าง “บุญลือ ธรรมธรานุรักษ์” นายอำเภอแม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ที่กล่าวว่า ลำห้วยที่แม่แจ่มมีหลายร้อยลำห้วย แต่ละลำห้วยจะไหลไปรวมกันเป็นแม่น้ำแจ่ม และแม่น้ำแจ่มจะไหลไปรวมกับแม่น้ำปิงที่อำเภอฮอดและอำเภอดอยเต่า จ.เชียงใหม่ เพื่อลงสู่เขื่อนภูมิพล จ.ตาก ก่อนที่แม่น้ำปิงจะไหลไปรวมกับแม่น้ำวัง ยม น่านที่ จ.นครสวรรค์ กระทั่งกลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาในที่สุด

“กล่าวกันว่า 40% ของแม่น้ำปิงมาจากแม่น้ำแจ่ม อีกส่วนหนึ่งจะเป็นน้ำที่ไหลมาจาก อ.เชียงดาว ผมจึงอยากบอกว่า น้ำแจ่มจึงมีความหมายกับคนไทยครึ่งค่อนประเทศ ยิ่งกิจกรรมที่ SPBT มาทำโครงการที่นี่ ชาวบ้านจะได้รับประโยชน์ 2 อย่างหลัก ๆ ด้วยกันคือ หนึ่ง ประชาชนในพื้นที่จะได้เรื่องน้ำกินน้ำใช้ อันนี้สำคัญมาก ๆ เพราะชาวบ้านขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ในหน้าแล้ง ดังนั้นการที่พนักงานจิตอาสาของ SPBT มาช่วยกันปลูกป่า ปลูกหญ้าแฝก ทำประปาหมู่บ้าน และระบบกรองน้ำนอกจากจะช่วยให้ชาวบ้าน 4 หมู่บ้านคือบ้านนากลาง, บ้านแม่สะต๊อบ, บ้านแม่หยอด และบ้านห้วยบง ประมาณ 2,000 คนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ ยังทำให้เขารู้สึกมีความหวังขึ้นด้วย”

“สอง การแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่า เพราะการทำฝาย ปลูกต้นไม้จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ต้นน้ำในทางบวก ทำให้ลำห้วยของเราสามารถส่งน้ำเพื่อที่จะไปลงลำน้ำแจ่มได้อย่างสม่ำเสมอ ทั้งยังทำให้ระบบนิเวศฟื้นตัว จนทำให้พื้นที่ป่าชุมชนไม่แห้งแล้ง เพราะฝายคือแนวกันไฟอย่างดีที่จะทำให้ไม่เกิดไฟป่าลุกลามอย่างต่อเนื่อง”

นอกจากนั้น “บุญลือ” ยังพูดถึงแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เนื่องจากอำเภอแม่แจ่มมีอยู่ 7 ตำบล 104 หมู่บ้าน มีประชากร 60,000 กว่าคน ทั้งยังมี 4 กลุ่มชาติพันธุ์ อาทิ กะเหรี่ยง, ปกากะญอ, ลัวะ และม้ง ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินทำกินของตัวเอง เพราะพื้นที่ประมาณ 95% อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ มีอยู่เพียง 5% เท่านั้นที่มีโฉนดที่ดินทำกิน หรือน.ส.3 ดังนั้นเขาจึงต้องบุกรุกถางป่าเพื่อปลูกข้าวโพดและพืชการเกษตรชนิดอื่น ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

“สำคัญไปกว่านั้นประชากร 60,000 กว่าคนมีหนี้สินรวมจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว 2.4 พันล้าน และมีอยู่ 53 ครอบครัวเป็นหนี้ 22 ล้าน โดยไม่ได้ชำระดอกเบี้ยเลยมากว่า 3 ปีแล้ว คำถามคือแล้วเขาจะใช้ชีวิตอย่างมีความหวังได้อย่างไร เพราะการปลูกข้าวโพดนอกจากจะทำให้เขาเป็นหนี้ ยังทำให้เขาป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจและโรคระบบเนื้อเยื่อที่เกิดจากผิวหนังโดนสารเคมีอีกด้วย”

“ทั้ง ๆ ที่พื้นที่อำเภอแม่แจ่มมีภาคีเครือข่ายเข้ามาช่วยเหลือเยอะมาก ทั้งในเรื่องของดิน น้ำ ป่า แต่โจทย์ที่ท้าทายผมคือเราจะเปลี่ยนแปลงอาชีพเขาได้อย่างไร จนที่สุดจึงนำศาสตร์พระราชาของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ด้วยการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง โดยให้ประชาชนในพื้นที่อำเภอแม่แจ่มมีพันธะสัญญากับเราว่าจะไม่บุกรุกป่าอีก ซึ่งเขาก็เริ่มเห็นด้วย เพราะเขารู้แล้วว่าสิ่งที่ทำผ่านมาเกิดผลร้ายอะไรกับเขาและประเทศชาติบ้าง”

“เราจึงเริ่มหาทางแก้ด้วยการแนะนำเขาให้ปลูกอ้อยน้ำตาล เพราะปลูก 6 เดือนก็ตัดได้แล้ว ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่เคยปลูกข้าวโพดประมาณ 50 ไร่ เราก็ให้เขามาปลูกอ้อยน้ำตาล ซึ่ง 1 ไร่ สามารถปลูกอ้อยน้ำตาลได้ 6,400 ลำ 1 ลำแปรรูปเป็นน้ำตาลสีน้ำตาล, น้ำตาลผง, น้ำตาลไซรัปได้ประมาณ 100 บาท เพราะฉะนั้นชาวบ้านปลูกอ้อยน้ำตาล 1 ไร่ ก็จะมีรายได้ประมาณ 640,000 บาท ซึ่งแตกต่างจากการปลูกข้าวโพดมาก แม้ 4 เดือนจะตัดข้าวโพดได้ แต่ก็ได้ประมาณ 1 แสนกว่าบาทเท่านั้นเอง”

“บุญลือ” บอกว่า นอกจากนั้นเรายังวางแผนว่าถ้าชาวบ้านหันมาปลูกป่ากันจำนวนมาก ผลที่ตามมาคือเขาจะปลูกกาแฟอราบิก้าได้ เพราะพื้นที่ของแม่แจ่มสูงกว่าระดับน้ำทะเล และกาแฟต้องอาศัยร่มเงาของป่าไม้ หากพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์เขาจะมีอาชีพเลี้ยงตัวอย่างยั่งยืน

“นอกจากกาแฟแล้ว เขายังปลูกพืช ผัก ผลไม้เมืองหนาวต่าง ๆ ได้อีก แต่ทั้งหมดนี้ต้องใช้ระยะเวลาและความอดทน ดังนั้นการที่ SPBT เข้ามาทำโครงการยังพื้นที่ต้นน้ำแจ่ม พร้อมกับมาสร้างฝายชะลอน้ำ ปลูกหญ้าแฝก ปลูกกล้าไม้ ปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุก และป่าเสื่อมโทรม รวมถึงปลูกป่าเสริม และวางระบบประปาหมู่บ้าน และติดตั้งเครื่องกรองน้ำให้กับ 4 ชุมชนต้นแบบจึงนับว่ามีประโยชน์กับชาวบ้านอย่างมาก และผมเชื่อว่าภายใน 3 ปีสิ่งที่เราทำกิจกรรมในวันนี้จะแตกหน่อต่อยอดจนทำให้ทุก ๆ คนที่เป็นพนักงานจิตอาสาภูมิใจ”

“ผมเชื่อเช่นนั้นนะ”