ดัชนีความยั่งยืน ดาวโจนส์ คือ ? (จบ)

แฟ้มภาพ

คอลัมน์ CSR Talk

โดย ณัฐณรินทร์ อิสริยเมธา


ความท้าทายสำคัญหากรับการจัดอันดับในดัชนี DJSI คือบริษัทต้องพัฒนาตัวเองไปข้างหน้าอยู่เสมอ 

อย่างที่ได้เล่าให้ฟังไปข้างต้นว่า บริษัทที่ได้รับการจัดอันดับอยู่ในดัชนี DJSI จะต้องมีคะแนนประเมินอยู่ใน top 10 percentile นั่นคือ จะต้องมาเทียบกับบริษัทอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกันทุกปี ซึ่งบริษัทจะไม่มีทางทราบว่าเพื่อนร่วมอุตสาหกรรมของเราในช่วงปีที่ผ่านมาพัฒนาไปมากน้อยเพียงใด เราอาจคิดว่าเราทำได้ดีแล้ว แต่เมื่อเทียบกับคนอื่นผ่านการตอบแบบประเมินอาจมีผู้ที่ทำได้ดีกว่า ความท้าทายจึงอยู่ที่เราจะสามารถพัฒนาตัวเองให้เท่าทันเพื่อนร่วมอุตสาหกรรมของเราหรือไม่ หากไม่ได้คะแนนประเมินของเราอาจจะหล่นจาก top 10 percentile และไม่ได้รับการจัดอันดับให้มีรายชื่อติดอยู่ในดัชนีตัวนี้ในปีต่อไปได้

ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ จำนวนบริษัทที่เข้าร่วมตอบแบบประเมิน CSA นี้เพิ่มขึ้นทุกปี และล่าสุดในปี 2019 มีจำนวนบริษัทเข้าร่วมตอบแบบประเมินเพิ่มขึ้นจากปี 2018 ถึง 17% ทำให้ปีนี้ถือเป็นปีที่มีบริษัทตอบรับเข้าร่วมประเมินมากที่สุดในรอบ 20 ปีของดัชนีตัวนี้เลยทีเดียว โดยประเทศไทยติดอันดับ 3 ของประเทศที่มีสัดส่วนการเข้าร่วมตอบแบบประเมินมากที่สุด คิดเป็น 78% หรือประมาณ 28 บริษัทจากบริษัทที่ได้รับเชิญทั้งสิ้น 36 บริษัทในปี 2019

นอกจากการตอบแบบประเมินแล้ว RobecoSAM ยังทำ media & stakeholder analysis อยู่ตลอดเวลา และเมื่อบริษัทใด ๆ มีข่าวในทางลบเกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบถึงคะแนนในการประเมินความยั่งยืนของบริษัทในประเด็นที่เกี่ยวข้องได้ และในกรณีที่ถือว่ามีความร้ายแรงคณะกรรมการดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Index Committee) อาจพิจารณาถอดบริษัทดังกล่าวออกจาก DJSI หากเห็นว่าบริษัทไม่สามารถจัดการกรณีที่เกิดขึ้นได้ตามมาตรฐานของ DJSI ทั้งในด้านจริยธรรมสังคมหรือสิ่งแวดล้อม อาทิ กรณีของ Volkswagen ที่โกงเรื่องการปล่อยค่ามลพิษว่าได้ตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด หรือ Toshiba กับกรณีการตกแต่งบัญชี เป็นต้น

ติด DJSI หมายความว่ายั่งยืนและสร้างผลตอบแทนที่ดีต่อนักลงทุนจริง ๆ หรือไม่

มีการตั้งข้อสังเกตจากบางกลุ่มว่า องค์กรที่ได้รับการจัดอันดับอยู่ในดัชนี DJSI นั้น เป็นองค์กรแห่งความยั่งยืนจริงหรือไม่ หรือเพียงแค่ได้ทำตาม check list เท่านี้ สำหรับประเด็นนี้ดิฉันมีโอกาสได้ยินคำพูดจาก “Mr.Manjin Jus”, Head of ESG Rating ของ RobecoSAM เมื่อครั้งมาอบรมให้กับบริษัทจดทะเบียนไทยที่ได้รับเชิญให้ร่วมตอบแบบประเมิน CSA ว่า RobecoSAM ยอมรับว่าพึ่งพาข้อมูลที่บริษัทส่งให้ เพราะเชื่อในความจริงใจและความโปร่งใสของบริษัท และนี่คือเหตุผลว่าทำไมแบบประเมินความยั่งยืนของ RobecoSAM จึงให้ความสำคัญกับข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะ

และในบางคำถามจะมีการสอบถามว่า ได้มีการทำ external assurance (การตรวจสอบจากบุคคลภายนอก) หรือไม่ เพื่อแสดงถึงความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เพราะข้อมูลที่เปิดเผยย่อมเป็นการเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบจากภาคส่วนอื่นและจากการที่ได้มีส่วนร่วมในการตอบแบบประเมิน CSA ดิฉันเห็นถึงความเข้มข้นของแบบประเมินแต่ละหัวข้อที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี ดังนั้น หากบริษัทใดที่เน้นเพียงตอบแบบประเมินให้ได้ แต่ไม่มีแผนการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง จะไม่มีความก้าวหน้าใด ๆ ปรากฏให้เห็น และในที่สุดจะไม่สามารถได้รับการจัดอันดับอยู่ในดัชนีตัวนี้ได้ในระยะยาว นอกจากนี้ ทาง RobecoSAM เองมีการย้ำกับบริษัทที่เข้าร่วมในการตอบแบบประเมินเสมอว่า อย่าทำอะไรเพียงเพื่อจะสามารถตอบคำถามในแบบประเมินได้เท่านั้น เพราะคำถามเหล่านั้นอาจถูกลบออกไปในปีใดปีหนึ่งก็ได้ แต่ขอให้ใช้คำถามของเขาเป็นเหมือนกรอบในการทำงานว่าสิ่งใดที่บริษัทยังขาดอยู่แล้วควรรีบดำเนินการในลักษณะนี้มากกว่า

และ RobecoSAM ยังพบว่า บริษัทที่มีรายชื่ออยู่ในดัชนี DJSI จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากกว่าบริษัทที่ไม่ได้อยู่ในดัชนีตัวนี้ และยังส่งผลให้มีนักลงทุนจำนวนมากขึ้นลงทุนระยะยาวในบริษัทด้วย โดยวิเคราะห์จากข้อมูลย้อนหลังนาน 10 ปี ตั้งแต่ปี 2005-2015 ของบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับอยู่ใน DJSI ทั้งที่เพิ่งเข้าใหม่ ได้รับการจัดอันดับอย่างต่อเนื่อง และที่ถูกลบออกจาก DJSI เปรียบเทียบกับบริษัทอื่นที่ได้รับการจัดอันดับจากสถาบันอื่น ๆ แต่ไม่ได้มีชื่ออยู่ใน DJSI โดยใช้เกณฑ์พิจารณาหลังจากมีการประกาศรายชื่อใน DJSI ว่า

1) ราคาของหุ้นมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ในช่วง 3 วัน

2) ปริมาณของการซื้อขายหุ้น

3) บทวิเคราะห์ของนักลงทุน

4) สัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนในระยะยาว

และเมื่อเร็ว ๆ นี้ Harvard Business Review ได้สัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงจำนวน 70 คน จาก 43 สถาบันนักลงทุนทั่วโลก รวมไปถึงยักษ์ใหญ่ที่สุด 3 ราย คือ BlackRock, Vanguard, และ State Street พบว่าประเด็นด้าน ESG (environment, social และ governance) คือประเด็นที่สถาบันให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับการพิจารณาลงทุน จึงค่อนข้างเชื่อถือได้ว่านักลงทุนทั่วโลกมั่นใจว่าบริษัทที่ดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของความยั่งยืนนั้นจะสามารถสร้างผลตอบแทนในระยะยาวให้แก่พวกเขาได้จริง ๆ

คลิกอ่านที่นี่…  ดัชนีความยั่งยืน ดาวโจนส์ คือ ? (1)