“เอสซีจี” รักษ์น้ำ สานต่อที่พ่อทำ สร้างฝายทั่วไทย

เอสซีจียังคงเดินหน้าขับเคลื่อนกิจกรรม “รักษ์น้ำ The Journey สานต่อที่พ่อทำ สร้างฝายทั่วไทย” สืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน โดยนำองค์ความรู้ และหลักปฏิบัติจากต้นแบบ “การสร้างฝายชะลอน้ำ” ไปเผยแพร่ สานต่อ และพัฒนาการบริหารจัดการน้ำให้กับชุมชน และเยาวชนรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง

หลังจากที่เอสซีจีนำตัวแทนชุมชนและเยาวชนรุ่นใหม่ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี, ขอนแก่น และนครศรีธรรมราช ไปศึกษาเรียนรู้ชุมชนที่ประสบความสำเร็จจากการสร้างฝายชะลอน้ำที่ จ.ลำปาง และไปดูแนวทางการสร้างฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริจากศูนย์การศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงใหม่ สำหรับครั้งนี้มีการลงพื้นที่ในป่าชุมชนตำบลม่วงหวาน อำเภอน้ำพอง จ.ขอนแก่น เพื่อนำความรู้มาปฏิบัติจริง โดยการสร้างฝายชะลอน้ำที่มีรูปแบบเหมาะสมตามภูมิสังคมของพื้นที่

“ธนวงษ์ อารีรัชชกุล” กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี แพคเกจจิ้ง กล่าวว่า หน้าแล้งพื้นที่ตรงนี้จะขาดแคลนน้ำ เพราะป่าไม่ได้อุ้มน้ำ อาจจะเกิดปัญหาไฟป่า แนวคิดการสร้างฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริ นับเป็นจุดเริ่มต้นของการบริหารจัดการน้ำของชุมชนในหลาย ๆพื้นที่ เพราะฝายชะลอน้ำทำให้พื้นดินชุ่มชื้น และกักเก็บน้ำบางส่วนให้อยู่ในพื้นที่นานที่สุด เมื่อมีน้ำ และสามารถเก็บน้ำไว้ได้ จะทำให้การเพาะปลูกได้ผลผลิตดีขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีตามมา

“ลักษณะพื้นที่ของตำบลม่วงหวาน เราจะสร้างฝายต้นน้ำแบบผสมผสาน เป็นฝายที่สร้างขึ้นเป็นการชั่วคราว เพื่อขวางทางเดินของน้ำในลำธาร หรือร่องน้ำ สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ด้วยวัสดุที่หาง่าย และราคาถูก ซึ่งเราใช้วัสดุที่มีอยู่ในท้องที่ ได้แก่ กิ่งไม้, ใบไม้, เสาไม้, ก้อนหิน โดยประโยชน์ของการสร้างฝายนอกจากช่วยชะลอน้ำสร้างความชุ่มชื้นให้กับผืนป่า และชุมชนมีน้ำใช้อย่างพอเพียงในหน้าแล้งแล้ว ยังทำให้น้ำไม่ท่วมในหน้าฝน และยังช่วยลดการเกิดไฟป่าอีกด้วย”

“สำรวย นารี” ที่ปรึกษานายกเทศมนตรี ตำบลม่วงหวาน จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ตำบลม่วงหวาน มีลักษณะเป็นเนินเขาหิน ที่ประกอบด้วยลานหิน และป่าเต็งรัง ไม่มีร่องน้ำไหลแบบภูเขาทางภาคเหนือ แต่เป็นน้ำที่ไหลหลากผ่านป่า ไร่นา เนินเขา มารวมกันในลำน้ำ ก่อนที่จะไหลลงมาเรื่อย ๆ ผ่านพื้นที่เกษตรของชุมชน โดยมีลำน้ำสาขาบางส่วนถูกบุกรุกไปทำเป็นแปลงนาข้าว ทำให้ลำน้ำไม่ต่อเนื่องกัน จนกลายเป็นคลองดักน้ำหลากที่กระจายตัวตามไร่นา แต่ยังมีลำน้ำเส้นหลักที่เชื่อมต่อกันจนไปลำห้วยยาง สระกูด และลงลำน้ำเชื่อมต่อไปบ้านคำแก่นคูณ

“ปัญหาเรื่องน้ำของที่นี่ คือพื้นที่ไม่มีจุดพักน้ำ ทำให้น้ำไหลลงห้วยมาตลอดทำให้เกิดโครงการนี้ขึ้น ซึ่งทางชุมชนได้ติดต่อกับทางเอสซีจีให้มาดูยังพื้นที่เพื่อที่จะวางแผนการสร้างฝาย เพราะทางชุมชนมองเห็นปัญหานี้อยู่ก่อนแล้วและคิดว่าหากสร้างฝายคิดว่าจะสามารถกักเก็บน้ำ ชุมชนก็จะได้ประโยชน์เพราะว่าจะได้หาอาหารได้ในป่าเช่นเดิม ตั้งเป้าไว้ว่าจะสร้างฝายชะลอน้ำประมาณ 63 ฝาย คาดว่าจะเสร็จในเดือนกันยายนนี้”

ถึงตรงนี้ “ธนวงษ์” จึงเสริมว่า สำหรับกิจกรรมที่ตำบลม่วงหวานครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมพลังสร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อฟื้นคืนชีพความชุ่มชื้นให้ป่าต้นน้ำของชุมชน ซึ่งจากนี้ทางชุมชนก็ได้ร่วมกันวางแผนที่จะจัดทำแก้มลิง และเชื่อมต่อระบบน้ำ เพื่อให้มีน้ำใช้ทำการเกษตรอย่างพอเพียงในอนาคตอีกด้วย ซึ่งตรงตามแนวทางพระราชดำริ…หาน้ำให้ได้ เก็บน้ำไว้ใช้ และใช้น้ำให้เป็น

ดังนั้น การเดินทางของโครงการ “รักษ์น้ำ The Journey” ยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะเป็นแค่จุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่เอสซีจีสนับสนุนจุดประกายชุมชนต่าง ๆ ในประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการทรัพยากรในชุมชน เสริมความเข้มแข็ง สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนต่อไป