พลังคนสร้างสรรค์โลก ฟื้นฟูชุมชนวิกฤตด้วยศาสตร์พระราชา

หนึ่งในโครงการของ “เชฟรอน” ที่ดำเนินอย่างต่อเนื่อง คือ โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ที่ร่วมกับสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อรวมพลังให้เป็นแรงขับเคลื่อนการเรียนรู้เกี่ยวกับ “ศาสตร์พระราชา” ในการจัดการดิน น้ำ ป่า อย่างยั่งยืน

โดยนำเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่อาศัยหลักเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ มาดัดแปลงใช้ให้เหมาะกับสภาพพื้นที่ และสังคมแต่ละท้องถิ่น เพื่อถอดบทเรียนตัวอย่างหลุมขนมครกรูปแบบต่าง ๆ อาทิ โคก หนอง นา โมเดล และบันได 9 ขั้น เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม แล้ง สู่การพึ่งตนเองอย่างยั่งยืน รวมทั้งเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยอีกด้วย

 

สำหรับปีนี้ โครงการพลังคนสร้างสรรค์โลกฯเดินหน้าสู่ปีที่ 8 หลังจากดำเนินกิจกรรมโดยเน้นช่องทางออนไลน์เป็นหลักมากกว่า 4 เดือน (มี.ค.-มิ.ย. 63) เพื่อให้กำลังใจ และให้ความรู้แก่ประชาชนในการนำศาสตร์พระราชามารับมือกับวิกฤต จึงมีการจัดกิจกรรมออนกราวนด์ขึ้นอีกครั้ง ด้วยการเริ่มต้นจัดอบรมหลักสูตรการป้องกัน เตือนภัย และฟื้นฟูชุมชนในภาวะวิกฤต หรือ CMS (Crisis Management Survival Camp)

ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในการสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งการเตรียมป้องกัน การพึ่งพาตนเองเมื่อเกิดวิกฤต การฟื้นฟูวิถีชีวิตหลังภัยพิบัติ ควบคู่ไปกับกิจกรรมเอามื้อสามัคคี ใน 3 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดลพบุรี, ชัยภูมิ และฉะเชิงเทรา

อาทิตย์ กริชพิพรรธ

“อาทิตย์ กริชพิพรรธ” ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่าการฝึกอบรม CMS เป็นกิจกรรมที่มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติจัดขึ้น เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้นำอาสาสมัคร ให้มีความพร้อมที่จะรับมือกับภาวะวิกฤตต่าง ๆและช่วยเหลือคนอื่นได้ เนื่องจากปัญหาวิกฤตของโลกนับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น และใกล้ตัวเรามากขึ้น การส่งเสริมให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญ และความจำเป็นในการเตรียมพร้อมเพื่อเผชิญเหตุภัยพิบัติ จึงเป็นภารกิจที่มีความสำคัญ

“ทั้งนั้น เพราะการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติ CMS จัดขึ้น ณ ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชาคืนป่าสัก โรงเรียนสงครามพิเศษ และศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ (วัดใหม่เอราวัณ) จ.ลพบุรี โดยมีอาสาสมัครเข้าร่วมเกือบ 40 คน เราจึงใช้หัวข้อ CMS สู้ อยู่ หนี รอดพอดีด้วยศาสตร์พระราชา”

ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร

“ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร” หรือ “อาจารย์ยักษ์” นายกสมาคมดินโลก และที่ปรึกษามูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติกล่าวถึงรายละเอียดโครงการว่า โครงการนี้เป็นการเร่งสร้างกองกำลังอาสาสมัครภาคประชาชน เพื่อการเตือนภัย และฟื้นฟูหลังประสบภัยพิบัติ ด้วยกระบวนการอบรมทักษะ ความรู้ โดยน้อมนำแนวทางของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ และหลักเศรษฐกิจพอเพียง มาประยุกต์ใช้ เช่น การดำรงชีวิตในป่า เรื่องของธรรมชาติพยากรณ์ การเตรียมตัวป้องกัน เผชิญเหตุ ว่าเราจะสู้ จะอยู่ หรือหนีเมื่อเจอภัยพิบัติ

“นอกจากนั้น ยังมุ่งเน้นการฝึกออกแบบพื้นที่อยู่อาศัย และพื้นที่ทำกิน ด้วยการสร้างแหล่งน้ำไว้ในพื้นที่ของตนเอง เช่น ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง สมุนไพรใกล้ตัวรักษาโรค ควบคู่กับการหนุนนำให้เกิดจิตอาสา มีความเสียสละเพื่อส่วนรวม โดยรู้เท่าทันสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติ ซึ่งจะประสานงานและเชื่อมโยงกับเครือข่ายความช่วยเหลือทั้งใน และนอกพื้นที่ได้”

“ดังนั้น สิ่งที่ผู้อบรมในเครือข่ายต้องทำให้ได้เป็นลำดับแรก คือ การปลุกชาวบ้านให้มีสติ ซึ่งถือเป็นขั้นยากที่สุด เพราะเมื่อเกิดภัยพิบัติรุนแรง ผู้คนมักจะตกใจ และขาดสติ ขั้นต่อมา คือ ความรู้ว่าจะเผชิญกับเหตุการณ์ต่าง ๆ อย่างไร เช่น จะสู้อย่างไร หรือถ้าหากสู้ไม่ไหวก็ต้องอพยพ แต่จะอพยพอย่างไร และนำมาสู่ขั้นตอนของการเตรียมที่หมายปลายทางเพื่อรองรับการอพยพ มีพื้นที่กันฝน กันแดด มีน้ำ มีอาหาร มียารักษาโรค จนท้ายสุดเมื่อเหตุการณ์ผ่านไปหากบ้านเรือนเกิดความเสียหาย ต้นไม้ เรือกสวนไร่นา งานอุตสาหกรรมจมน้ำ แล้วจะฟื้นฟูอย่างไร”

พล.อ.ธนศักดิ์ เก่งถนอมม้า

“พล.อ.ธนศักดิ์ เก่งถนอมม้า” ประธานคณะทำงานจัดทำหลักสูตรฝึกอบรม พัฒนาศักยภาพอาสาสมัครเพื่อการป้องกัน เตือนภัย และฟื้นฟูชุมชนในภาวะวิกฤต ที่ปรึกษาการฝึกอบรมในครั้งนี้ กล่าวเสริมว่า CMS เป็นการผสมผสานหลักกสิกรรมธรรมชาติกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง ผนวกกับวิธีการเอาตัวรอดเมื่อเผชิญเหตุในสถานการณ์ต่าง ๆ อาทิ การเรียนรู้เรื่องทัศนสัญญาณ การปฐมพยาบาล การผูกเงื่อนเชือก และการเอาตัวรอดในน้ำ เป็นต้น

“แต่สิ่งสำคัญ คือ เราฝึกให้มีการใช้สติในการแก้ปัญหา เพราะหากมีสติเราจะไม่ปล่อยละเลย จะแก้ปัญหาได้ผมเชื่อว่าถ้าเราเตรียมพร้อมจะรอดวิกฤตแน่นอน โดยเฉพาะการทำโคกหนองนา ทำเกษตร ยกตัวอย่าง เช่น แก้มลิงห้วยกระแทก ที่เปรียบเสมือนคลังอาหาร เมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติขึ้นจะกลายเป็นแหล่งอาหารสำคัญแก่คนลพบุรีได้”

อย่างไรก็ตาม ในปีที่ 8 ของโครงการจะมีการจัดกิจกรรมเอามื้อสามัคคี2 ครั้ง ครั้งแรกที่ศูนย์ปราชญ์ศาสตร์พอเพียงบอกเล่าก้าวตาม อ.เมืองจ.ชัยภูมิ เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ “ณรงค์ วุ่นซิ้ว” ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ว่าราชการ จ.ภูเก็ต ได้รวบรวมคนมีใจ และมีความรู้ด้านหลักกสิกรรมมาถ่ายทอดความรู้ศาสตร์พระราชาเพื่อแก้ปัญหาด้านสุขภาพ และด้านเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ให้แก่ประชากรในจังหวัดชัยภูมิ

ส่วนครั้งที่ 2 ดำเนินโครงการ ณ โคก หนอง นาขาวัง ต.เขาดิน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งนาขาวัง คือ ร่องน้ำรอบแปลงนา ซึ่งเป็นผืนนามหัศจรรย์แห่งภูมิปัญญาในการจัดการน้ำของชาวนาบางปะกง เนื่องจากผืนนาที่นี่เป็นพื้นที่ระบบนิเวศ 3 น้ำ มีทั้งน้ำจืด, น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ส่วนใหญ่ทำนาในฤดูฝน ส่วนฤดูแล้งตั้งแต่น้ำกร่อยจนน้ำเค็มจะเลี้ยงกุ้ง หอย ปู ปลา ซึ่งอาจเป็นผืนนานิเวศ 3 น้ำ ที่เดียวในโลก โดยมีกิจกรรมการปั่นจักรยานรณรงค์จากโคก หนอง นามหานคร (หนองจอก) ถึงโคก หนอง นาขาวัง จ.ฉะเชิงเทราอีกด้วย

“อาทิตย์” กล่าวเสริมในเรื่องนี้ว่า ทั้ง 2 พื้นที่เป็นการสร้างพื้นที่ต้นแบบใหม่ สร้างคนใหม่ ๆ ให้มาเข้าร่วมมากขึ้น เพราะเราคาดหวังอยากจะได้กลุ่มคนใหม่ ๆ โดยคนกลุ่มใหม่ที่เราหมายถึงมีการนำเสนอแนวคิดร่วมกันว่าประเทศไทยมีการเช่าที่ และทำเกษตรบนพื้นที่เช่าจำนวนมาก ทำอย่างไรถึงจะให้กลุ่มคนเหล่านี้มาเข้าร่วมโครงการ และใช้โมเดลโคก หนอง นา ประยุกต์กับพื้นที่ เพื่อเกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนทุกฝ่าย

“จากการทำงานตลอด 7 ปีผ่านมามีผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 20,000 คน ถือว่ามาไกล เพราะเกิดการรับรู้วงกว้างทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน และตอนนี้คำว่า โคก หนอง นา ไม่ใช่เรื่องแปลกแล้ว เป้าหมายต่อไป เราอาจทำโคก หนอง นา ไม่ครอบคลุมทั้งประเทศ แต่อย่างน้อยจากเดิมที่คนมองว่าเป็นการบริหารจัดการน้ำเพื่อเกษตรทางเลือก ก็อยากให้กลายเป็นเกษตรทางหลักอีกทางหนึ่งที่คนอยากจะทำ แต่ยังต้องผลักดันอีกต่อเนื่องเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนมากกว่านี้”

“อาจารย์ยักษ์” กล่าวเสริมว่า โครงการตามรอยพ่อฯขับเคลื่อนมาจนเข้าสู่ปีที่ 8ซึ่งเป็นระยะที่ 3 ของแผนหลัก 9 ปี (แบ่งเป็น 3 ระยะ ระยะละ 3 ปี) ของโครงการ ซึ่งระยะแรกเป็นการตอกเสาเข็ม สร้างการรับรู้ ระยะที่ 2คือการแตกตัว เป็นการขยายผลสร้างคน สร้างครู สร้างเครื่องมือเพื่อยกระดับเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต ระยะที่ 3 เป็นการขยายผลเชื่อมโยงทั้งระบบ ซึ่งเป้าหมายเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม สามารถยกระดับสู่การแข่งขันได้ต่อยอดการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานให้เกิดความยั่งยืนขึ้น ด้วยการเดินตามบันได 9 ขั้นไปสู่ความพอเพียงตามแนวทางศาสตร์พระราชา และการวางรากฐานการพัฒนามนุษย์ เพราะหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนและพัฒนา คือ คน โครงการจึงพยายามสร้างคน จากคนมีใจ สู่เครือข่าย และแม่ทัพผู้พาทำ เพื่อร่วมกันสืบสานศาสตร์พระราชาต่อไป

“ผมตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่า ระยะที่ 3 จะต้องมีคนเข้าร่วมโครงการเพิ่มมากขึ้นจนเกิดเป็นหลุมขนมครกมากกว่า 1 แสนหลุม ซึ่งคาดว่าน่าจะทะลุเป้าอย่างแน่นอน เพราะจากการดำเนินงานมาตลอด ช่วงแรกโครงการอาจยังไม่เป็นที่รับรู้มากนัก แต่ปัจจุบันเริ่มเห็นว่าคนรับรู้มากขึ้น ขณะเดียวกัน รัฐบาลที่ใช้เงินกู้มาช่วยเหลือโควิด-19 ยังมีแผนที่จะนำมาใช้ดำเนินการเรื่องการบริหารจัดการดิน น้ำ ป่า อันเป็นโครงการระดับประเทศ ภายใต้การดำเนินงานของกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งมีมากกว่า 10 กรม โดยใช้โคก หนอง นา เป็นต้นแบบในการทำโครงการ”

“ดังนั้น สิ่งที่ผมคาดหวัง หากสำเร็จ เราจะไม่ต้องกังวลเรื่องน้ำท่วมอีกเลย เพราะนี่คือทางรอดที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่คนไทยทุกคน แม้พระองค์จะไม่ตรัสอะไรมากหรือเผยแพร่ผ่านหนังสือไม่เยอะแต่พระองค์กลับทรงงานเป็นตัวอย่างให้ประชาชนคนไทยทุกคนดู ฉะนั้น หน้าที่ของผมคือการขยายผลในสิ่งที่พระองค์ทำไปเรื่อย ๆ เพื่อให้ประชาชนคนไทยเข้าใจในสิ่งที่พระองค์ทรงทำตลอดมา”