เนรมิต “ขยะล่องหน” ระดมสมองถอดบทเรียนสู้โลกร้อน

ขยะล่องหน

จากความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะเรื่อง “ขยะ” จึงทำให้ตลอด 1 ปีผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยดำเนินโครงการ “Care the Whale ขยะล่องหน” ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs)

ในข้อ 13 Climate Action เพื่อเร่งต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบที่เกิดขึ้น, ข้อ 12 Responsible Consumption and Production สร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน และข้อ 17 Partnerships for the Goals เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน

ด้วยการเน้นขับเคลื่อนการทำงานร่วมกับพันธมิตร และเครือข่ายกว่า 30 องค์กร ประกอบด้วย ผู้ประกอบการบนพื้นที่ถนนรัชดาภิเษก 14 แห่ง รวมถึงผู้ประกอบการทางสังคม องค์กรพันธมิตรในธุรกิจ ด้าน circular economy และหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งตลอดทั้งปีของโครงการช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากการบริหารจัดการขยะ และคัดแยกขยะได้ถึง 4,268,495.04 Kg.Co2e เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ใหญ่อายุ 10 ปี จำนวน 474,277 ต้น

ส่วนในด้านกระบวนการปฏิบัติ สมาชิกสามารถบริหารจัดการขยะตั้งแต่การแยกขยะจากต้นทางไปสู่ปลายทาง เพื่อเข้าสู่กระบวนการ circular economy ได้อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจัดงานครบรอบ 1 ปี ในหัวข้อใหญ่ คือ “Climate Care Forum #1 Survice Climate Tipping Point” ตามโครงการ “Care the Whale @ รัชดา”

ทั้งนั้น เพื่อถอดบทเรียนโครงการ พร้อมกับจัดเสวนาเรื่อง “ขยะล่องหน ถอดบทเรียน สู้โลกร้อน” โดยมีวิทยากรหลายภาคส่วนมาร่วมแสดงมุมมองการบริหารจัดการขยะในบริบทต่าง ๆ ทั้งภาคธุรกิจ ชุมชน และสังคม

เบื้องต้น “วราวุธ ศิลปอาชา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “Survice Climate Tipping Point” อันเกี่ยวเนื่องกับประเด็นสิ่งแวดล้อมอย่างน่าสนใจว่า ตอนนี้โลกเหลือเวลาอีกเพียง 6 ปีกว่า ตามเวลาของ Climate Clock หรือนาฬิกาสภาพอากาศ ที่กล่าวถึงวันสิ้นโลก หากเราทำให้อุณหภูมิโลกสูงเกิน 1.5-2 องศาเซลเซียส จะเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อโลกอย่างรุนแรง จนยากจะเยียวยาให้กลับมาเป็นเหมือนเดิม จึงต้องช่วยกันลดก๊าซเรือนกระจก ลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

วราวุธ ศิลปอาชา
วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

“ที่ผ่านมาไทยเข้าร่วมสนธิสัญญา Paris Agreement เพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ในระยะแรกทำได้ 7-15% ตอนนี้กำลังเข้าสู่ระยะ 2 ต้องลดให้ได้ซัก 20-25% เพราะต่อไปการค้าการผลิตจะมีมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น มีกฎหมายข้อบังคับเข้มงวดมากขึ้น ทุกภาคส่วนจะให้ความร่วมมือจริงจัง”

ตอนนี้กระทรวงพาณิชย์ห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ก้าวต่อไปจะเป็นเรื่องยุติการนำเข้าพลาสติกจากต่างประเทศ รวมถึงต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้โลก เพราะพื้นที่ป่าตอนนี้มีไม่มาก เฉพาะประเทศไทยมี 31.2% สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 80 ล้านตันต่อปี ถ้าหากเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ 40% จะช่วยดูดซับได้ร้อยล้านตัน”

ถัดจากนั้น “นพเก้า สุจริตกุล” ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานสื่อสารองค์กรและพัฒนาเพื่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงโครงการว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯเห็นถึงความสำคัญในเรื่องการจัดการขยะ ในช่วง 1 ปีผ่านมา โดยเริ่มจากการติดกระดุมเม็ดแรก คือ ปรับมุมคิดร่วมกับกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคมว่า “ไม่มีอะไรในโลกเป็นขยะ” เราต้องร่วมกันทำให้เศษวัสดุเหลือใช้ต่าง ๆ ที่ผลิตขึ้นหายออกไปจากพจนานุกรม นั่นหมายถึงต้องใช้ให้คุ้มค่าที่สุด

นพเก้า สุจริตกุล
นพเก้า สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานสื่อสารองค์กรและพัฒนาเพื่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

แนวคิดนี้ขยายไปสู่ตึกออฟฟิศย่านรัชดาภิเษก ซึ่งเราใช้ “วาฬ” เป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของระบบนิเวศ เพราะช่วงหนึ่งพบข่าววาฬกินขยะจนเสียชีวิต ฉะนั้น มนุษย์ต้องช่วยกันแก้ไข จากนั้นกระดุมเม็ดต่อมาต้องให้แต่ละองค์กรสร้างรูปแบบการจัดการขยะของตนเองว่าจะดำเนินการอย่างไร ? เพื่อให้พนักงานมีส่วนร่วม โดยใช้หลักการ 3 ด้าน คือ

หนึ่ง การกำหนดนโยบายกลยุทธ์ และการวางแผนระบบบริหารจัดการขยะที่ร่วมดำเนินงานตั้งแต่ระดับผู้บริหารจนถึงระดับผู้ปฏิบัติการ

สอง การวัดค่า วิเคราะห์และประเมิน

สาม การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างสมาชิก โดยการสื่อสารในวงกว้าง เพื่อขยายผลลัพธ์ทางสังคม

“ทั้ง 3 ด้านคือ หัวใจหลักของโครงการ โดยตลาดหลักทรัพย์ฯเป็นผู้ประเมินผลให้ ปรากฏว่าได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ สมาชิกสามารถบริหารจัดการขยะตั้งแต่การแยกขยะจากต้นทางในส่วนพื้นที่สำนักงานตนเองไปสู่ปลายทางได้ด้วยรูปแบบวิธีการต่างกัน และปีนี้จะต้องขยายพื้นที่ออกไปนอกถนนรัชดาภิเษกมากขึ้น”

“พร้อมทั้งพัฒนาสู่ดิจิทัลไลฟ์ เป็น climate care calculator digital platform เครื่องมือบริหารจัดการขยะ คำนวณผลเป็นค่าการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ช่วยวิเคราะห์พัฒนาการบริหารจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยรองรับการแยกขยะให้ได้จำนวนมากขึ้น เพราะบางเดือนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เราแยกขยะได้กว่าร้อยประเภท เช่น ถุงขนม ถุงเติม ฯลฯ เรากำลังหาสปอนเซอร์หรือพันธมิตรอื่น ๆ มาช่วยแยกช่วยเก็บตั้งแต่แรกเพื่อส่งไปอัพไซเคิล”

อันไปสอดคล้องกับความคิดของ “สมศักดิ์ บริสุทธนะกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) ที่กล่าวถึงการจัดการขยะในประเทศไทยว่า ข้อมูลจากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เมื่อปี 2562 มีขยะพลาสติก 2.12 ล้านตัน แต่นำกลับมารีไซเคิลได้เพียง 495,000 ตัน คงเหลือที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ 1.63 ล้านตัน ส่วนปี 2563 มีขยะพลาสติก 3.4 ล้านตัน รีไซเคิลได้ 660,000 ตัน รีไซเคิลไม่ได้ 2.78 ล้านตัน

สมศักดิ์ บริสุทธนะกุล
สมศักดิ์ บริสุทธนะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน)

“ฉะนั้น จะเห็นว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงถึง 33% เป็นตัวชี้วัดว่า ประเทศไทยมีการแอ็กทีฟสูงขึ้นในการจัดการขยะ แต่ไม่สามารถชนะขยะที่เกิดขึ้นได้ ยิ่งเฉพาะเมื่อโควิด-19 เข้ามา ปริมาณขยะจึงเพิ่มขึ้น ดังนั้นถ้ามองไปในอนาคต เมื่อโควิดหายไปกลับสู่สภาวะปกติ แต่การสั่งซื้อของผ่านออนไลน์ ดีลิเวอรี่ยังสูงขึ้น เพราะคนเริ่มคุ้นชินกับรูปแบบนี้ แต่เราก็มีความหวังถ้าตั้งเป้าว่าจะนำกลับมารีไซเคิล อัพไซเคิลให้มากขึ้นกว่าเดิม หรือเพิ่มเป็น 40% แล้วมีโครงการแยกขยะเหมือน care the whale เพิ่มมากขึ้น น่าจะพอช่วยลดปริมาณขยะได้”

“ยกตัวอย่าง ทีพีบีไอมีการจัดทำโครงการวน โดยร่วมกับหน่วยงานหลายแห่ง เพื่อขอรับบริจาคพลาสติกชนิดอ่อน (ประเภท PE) ที่สะอาด และแห้ง สามารถทดสอบด้วยการใช้นิ้วโป้งดันที่พลาสติก หากว่าพลาสติกชิ้นนั้นสามารถยืดได้ ก็สามารถส่งเข้าร่วมโครงการวน เพื่อนำไปรีไซเคิลได้ เช่น ถุงหูหิ้ว, ถุงช็อปปิ้ง, ถุงน้ำแข็ง, ฟิล์มห่อสินค้า ฯลฯ”

“พลาสติกที่ได้รับมาทุก ๆ 1 กิโลกรัม โครงการวนจะแปลงเป็นเงิน 5 บาท เพื่อนำไปบริจาคให้กับมูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อม และจะถูกนำมาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล โดยเริ่มต้นจากขั้นตอนการหลอมพลาสติกให้เป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิล ก่อนที่จะนำไปผลิตเป็นถุงพลาสติกใบใหม่ ขณะนี้มีการร่วมมือขยายโครงการกับบริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) เพื่อนำกระบวนการไปปรับใช้กับหมู่บ้านต่อไป”

“สมศักดิ์” กล่าวต่อว่า เมื่อถามว่าหากคนใช้พลาสติกน้อยลง ผู้ประกอบการจะปรับตัวอย่างไร ผมคงต้องบอกว่าบริษัทขาดทุนตลอดในช่วงหลังที่คนเริ่มงดใช้พลาสติก แต่เราต้องร่วมมือกับโครงการแยกขยะ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคน และเราในฐานะผู้ผลิตต้องทำให้ผลิตภัณฑ์ของตนเองสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ เพราะพลาสติกมีหลายประเภท อาจลำบากต่อการรีไซเคิล หรืออย่างผลิตภัณฑ์อาหาร มีทั้งฟิล์ม อะลูมิเนียมฟอยล์ ถ้าอยู่ในผลิตภัณฑ์ชิ้นเดียวกันจะนำไปรีไซเคิลยาก ต้องแยกส่วน ฉะนั้น ผู้ผลิตต้องตอบสนองด้วยการทำให้ง่ายต่อการนำไปรีไซเคิล

สำหรับ “ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์” กรรมการกำกับกิจการพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวว่า ไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 350 ล้านตัน มาจากขยะ 16.8 ล้านตัน คิดเป็น 4.7% ส่วนภาคพลังงานมีส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 69% ถือว่าค่อนข้างมาก

ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์
ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

“จากข้อมูลนักวิทยาศาสตร์ระบุว่าตั้งแต่ปี ค.ศ. 1850 เป็นปีที่ปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ, เยอรมนี ผ่านมา 170 ปี โลกเราร้อนขึ้น 1 องศา จึงมีเป้าหมายว่าจากนี้ไปต้องไม่ทำให้อุณหภูมิโลกเกิน 2 องศา เพราะผ่านมาเราปล่อยก๊าซต่าง ๆ มากมาย มีอายุอยู่บนชั้นบรรยากาศได้เป็นร้อยปี หรือไนตรัสออกไซด์ที่มาจากปุ๋ยจะอยู่ได้ 114 ปี, ก๊าซเรือนกระจกบางตัวอาจอยู่ได้มากที่สุดคือ 3,000 ปี นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่าเหลือเวลาอีกแค่ 6 ปีเท่านั้น ถ้าเราไม่ช่วยกันกดกราฟอุณหภูมิลง โลกจะร้อนทะลุกว่า 2 องศาแน่นอน”

“ตอนนี้ความเคลื่อนไหวของภาคเอกชนเป็นทิศทางที่ดี เพราะเรื่องความยั่งยืนเริ่มขยับจากซีเอสอาร์แบบวันเดย์อีเวนต์ สู่การนำเข้ามาอยู่ใน core business หรืออยู่ในภาคการผลิตมากขึ้น ทั้งลดขยะตั้งแต่ต้นทาง ออกแบบผลิตภัณฑ์ใช้วัตถุดิบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการจัดการปลายทาง อย่างไรก็ดีความตื่นตัวเกิดขึ้นภายใต้ SDGs โดยเฉพาะข้อ 17 เรื่องพลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ บทบาทของภาคพลังงานคือต้องทำให้ต้นทุนพลังงานไม่สูงเกินไป ภาคธุรกิจต้องช่วยกันคิดค้นพลังงานสะอาด”

“ใน World Economic Forum เมื่อปีผ่านมา เรื่องพลังงานถูกพูดถึงในระดับโลกและบอกว่ากำลังเปลี่ยนไปสู่ทิศทางเรื่อง 3D ได้แก่ การลดลงของปริมาณก๊าซคาร์บอน (decarbonization), การปฏิรูปสู่ระบบดิจิทัล (digitalization) และการกระจายศูนย์พลังงาน (decentralization) ทั้ง 3 อย่างนี้ต้องเกิดขึ้น โดยเฉพาะเทรนด์รถ EV กำลังเข้ามา ระบบ internet of think เข้ามา ที่สำคัญอีกตัวคือ ประชาธิปไตย (democracy) จะต้องมีการเข้าถึงอย่างเท่าเทียม”

“ดร.บัณฑูร” กล่าวในตอนท้ายว่า เพราะวันนี้โลกตื่นตัวกับพลังงานมาก ญี่ปุ่นประกาศจะเป็น carbon neutral ปี 2030 จะไม่ผลิตรถน้ำมัน ผมเพิ่งได้ประชุมกับสภาอุตสาหกรรมฯ ด้านพลังงานทดแทน นโยบายจากสำนักงานใหญ่ญี่ปุ่น ส่งมาถึง value chain ในประเทศไทยแล้วว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ต้องปรับตัวตั้งแต่วันนี้ โดยให้เวลาภายใน 10 ปี และตอนนี้มีการประชุมถึงทิศทางเรื่องโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลจะให้ชุมชนเป็นผู้ผลิตได้เอง

“ฉะนั้น ทิศทางพลังงานจะไม่ใช่เป็นทางเลือกแล้ว แต่เป็นทางรอดที่เราจะเดินไป อยู่ที่ว่าเอกชนจะปรับตัวได้ช้า หรือเร็ว ถ้าปรับได้เร็วก็ยังอยู่ในตลาดการแข่งขัน ซึ่งเปิดกว้างอยู่แล้ว ส่วนภาคเอกชนที่เคยสนุกกับการทำธุรกิจฟอสซิล วันนี้ก็ปรับตัวไปเยอะแล้ว หลายบริษัทเข้ามาทำหน้าที่ติดตั้งแผงโซลาร์รูฟท็อป แม้แต่ธุรกิจโรงแรม โดยเฉพาะภาคใต้ ตอนนี้ก็เริ่มหันมาใช้โซลาร์เซลล์มากขึ้นอีกด้วย”

นับว่าน่าสนใจทีเดียว