โซเด็กซ์โซ่ ผุดบริการออกแบบออฟฟิศ รับความต้องการลูกค้ายุคโควิด

“โซเด็กซ์โซ่” มองไกล ดันธุรกิจออกแบบและปรับพื้นที่สำนักงาน รองรับกลุ่มลูกค้าองค์กรที่ ลด-ปรับ พื้นที่ เนื่องจากมีการผสมผสานระหว่างทำงานที่บ้านและออฟฟิศมากขึ้นทั่วโลก หลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด

“โซเด็กซ์โซ่” ผู้ให้บริการพนักงานเอาท์ซอร์ส on-site เต็มรูปแบบ เช่น บริการพนักงานต้อนรับ ทำความสะอาด ปรุงอาหาร ฟื้นฟูสมรรถภาพ ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าองค์กรทั่วไป สถานพยาบาล องค์กรพื้นที่ห่างไกล และสถานศึกษา ที่ดำเนินธุรกิจใน 64 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย มีพนักงานทั้งหมด 420,000 คนทั่วโลก ต้องปรับตัวหาช่องทางใหม่ ๆ เพื่อให้ธุรกิจดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และพยุงพนักงานจำนวนมากให้อยู่ต่อได้ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

อุตสาหกรรมลูกค้าชะงักเพราะโควิด

“อาร์โนด์ เบียเลคกิ” ประธานบริหาร โซเด็กซ์โซ่ ประเทศไทย และผู้อำนวยการ กลุ่มลูกค้าองค์กร เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย บอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลดีในระยะยาวกับโซเด็กซ์โซ่ เพราะบริษัทเชี่ยวชาญด้านงานทำความสะอาด รักษาความปลอดภัย และช่างเทคนิค ซึ่งเป็นแผนกที่มีลูกค้าต้องการใช้บริการมากขึ้น

แต่ในขณะเดียวกันโควิด-19 ก็ส่งผลเสียกับบริษัทในระยะสั้น เพราะลูกค้ากลุ่มองค์กรในบางอุตสาหกรรมต้องปิดตัวลง เช่น โรงเเรม ขณะที่บางอุตสาหกรรมหยุดชะงัก เช่น โรงพยาบาลที่ทำการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โรงงานที่ลดชั่วโมงการผลิตลง และบางอุตสาหกรรมปิดชั่วคราว เช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัย และสำนักงานต่าง ๆ

“ปีที่แล้วพนักงานบางส่วนของโซเด็กซ์โซ่ทั่วโลก ที่เคยประจำไซต์งานลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวไม่มีงานทำไปช่วงหนึ่ง ในสถานการณ์เช่นนั้น บริษัทก็ไม่เลิกจ้างพนักงาน แต่ใช้วิธีหมุนเวียนไปทำหน้าที่ที่มีความต้องการทดแทน เพื่อช่วยพวกเขาให้มีรายได้พอที่จะอยู่รอดในวิกฤตโควิด”

“อาร์โนด์ เบียเลคกิ” ประธานบริหาร โซเด็กซ์โซ่ ประเทศไทย และผู้อำนวยการ กลุ่มลูกค้าองค์กร เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

ทั้งนี้ สถานการณ์ในไทยดูเหมือนจะดีขึ้น เพราะช่วง 1 – 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาลูกค้าหลายองค์กรเริ่มกลับเข้าไปทำงานในสำนักงาน แม้จะยังไม่ 100% ก็ตาม ทำให้งานบริการตามมาตราการความปกติใหม่ (new normal) เช่น การดูแลรักษาความสะอาดอย่างเคร่งครัด ตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าตัวอาคาร ติดตั้งกล้องตรวจจับความร้อนเพื่อฆ่าเชื้อภายในอาคาร รวมทั้งให้คำแนะนำการรักษาระยะห่างทางสังคมมีความต้องการมากขึ้น

ผุดธุรกิจออกแบบพื้นที่ออฟฟิศ

“อาร์โนด์” กล่าวถึงเทรนด์ที่เห็นว่าจะเป็นโอกาสของบริษัทคือ งานออกแบบออฟฟิศ และงานจัดออฟฟิศใหม่ เพราะกระแสทำงานระยะไกล (remote work) มีมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้หลายบริษัทเริ่มลดพื้นที่เช่าออฟฟิศ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย หรือปรับเปลี่ยนการจัดวางพื้นที่ทำงานใหม่ เช่น จากที่เคยมีโต๊ะนั่งทำงานประจำ เปลี่ยนเป็นการนั่งทำงานตรงไหนก็ได้ และใช้ห้องประชุมเพื่อคุยโปรเจ็กร่วมกันบ่อยมากขึ้น

“เหมือนกับสำนักงานใหญ่ของโซเด็กซ์โซ่ในกรุงเทพฯ ที่ลดพื้นที่ปีนี้ เสียค่าเช่าน้อยลง และปรับรูปแบบทำงาน ผสมผสานระหว่างที่บ้านและออฟฟิศ”

ด้วยจำนวนคนและความเชี่ยวชาญในการทำงาน on-site กลุ่มบริษัทโซเด็กซ์โซ่จึงผลักดันให้เกิดแผนกงานออกแบบพื้นที่ทำงาน (Space Management) โดยทำหน้าที่ตรวจสอบพื้นที่ เสนอการปรับปรุงให้สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติที่เหมาะกับโลกยุคนี้ และลงมือปรับปรุงให้ลูกค้า ซึ่งตอนนี้มีนำร่องในบางประเทศ เช่น สิงคโปร์ ส่วนประเทศไทยกำลังอยู่ในขั้นตอนการเตรียมพร้อม

งานวิจัยชี้ องค์กรต้องปรับพื้นที่ออฟฟิศ

จากการสำรวจของเมอร์เซอร์ (Merzer) ในหัวข้อ The design of work post COVID-19 เมื่อไม่นานมานี้ ระบุว่า นายจ้างโดยเฉลี่ยสามารถลดต้นทุน 11,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 333,410 บาท) ต่อพนักงานต่อปี เมื่อพนักงานแต่ละคนใช้รูปแบบผสมระหว่างทำงานจากระยะไกล 50% และในสำนักงาน 50%

ในขณะที่ Okra บริษัทผู้เชี่ยวชาญการออกแบบสำนักงานในอังกฤษเผยผลสำรวจ ที่สรุปเหตุผลว่าทำไมองค์กรทั่วโลกควรปรับการออกแบบสำนักงานใหม่ในปี 2564 ดังนี้

  1. ช่วยทีมเติบโตมากขึ้น การออกแบบสำนักงานใหม่ช่วยการใช้พื้นที่ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควรออกแบบให้พนักงานมีทางเลือกว่าจะนั่งทำงานอย่างไรและที่ไหน เพราะบางคนต้องการพื้นที่ส่วนตัวในการทำงานบางประเภท และบางครั้งก็ต้องใช้พื้นที่ที่นั่งทำงานร่วมกัน เพื่อระดมความคิด
  2. เพิ่มผลิตผล (productivity) การทำงานในสภาพแวดล้อมเดิม ๆ เป็นเวลานานอาจส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพการทำงาน ดังนั้น การออกแบบสถานที่ทำงานใหม่สามารถเพิ่มระดับผลผลิตได้ และส่งผลโดยตรงต่อความสำเร็จทางธุรกิจ
  3. มีวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่งขึ้น รูปแบบดีไซน์ของสำนักงานเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมองค์กรอยากหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากออกแบบที่ทำงานให้สามารถทำงานร่วมกันได้ดี มีความยืดหยุ่น พร้อมกับมีพื้นที่ว่างเพียงพอ จะช่วยสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงาน และแรงผลักดันในการทำงาน
  4. มีความยั่งยืน การออกแบบสถานที่ทำงานให้ยั่งยืนช่วยลดต้นทุนด้านพลังงาน และนำไปสู่สถานที่ทำงานที่มีความสุข โดยเฉพาะวิกฤตโควิด-19 สร้างแรงกดดันเรื่องต้นทุนและการแข่งขันกับองค์กรต่าง ๆ มากขึ้น ดังนั้น หลสยองค์กรต้องปรับเช่าออฟฟิศที่มีพื้นที่เล็กลง ลดต้นทุนการดำเนินงาน