Michael Page เผยผลสำรวจ เทรนด์จ้างงานที่น่าจับตามองในไทยปี 64

"คริสโตเฟอร์ พาลุดัน" ผู้อํานวยการประจําภูมิภาคของ Michael Page ประเทศไทย

Michael Page เผยผลสำรวจ เทรนด์จ้างงานที่น่าจับตามองในไทยปี 64 พบว่าร้อยละ 65 ของบริษัทในไทยยังคงรักษาพนักงานไว้ หรือไม่ก็เพิ่มการว่าจ้าง

ผู้ให้บริการสรรหาบุคคลากร Michael Page Thailand เปิดตัวรายงานประจําปี Talent Trends 2021 ที่น่าจับตามองในตลาดงานไทย แม้ว่ากิจกรรมการจ้างงานจะลดลงร้อยละ 37 ในปี 2563 ระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่เริ่มมีสัญญาณบวกในปี 2564 โดยบริษัทในไทยร้อยละ 33 มองหาพนักงานเพิ่มในขณะที่ร้อยละ 32 ยังคงสถานะเดิมไว้

ธุรกิจที่จ้างงานเพิ่มสูงที่สุด

“คริสโตเฟอร์ พาลุดัน” (Kristoffer Paludan) ผู้อํานวยการประจําภูมิภาคของ Michael Page ประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นเช่นเดียวกับตลาดอื่น ๆ ในเอเชียแปซิฟิก ที่ภาคเทคโนโลยียังคงลอยตัวและพลิกฟื้นกลับมาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอีคอมเมิร์ซ และธุรกิจที่พึ่งพาอินเตอร์เน็ตเป็นหลัก ส่วนธุรกิจผลิตอาหารก็ไปได้ดี และมีส่วนช่วยพยุงกิจการด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ เคมีภัณฑ์ เกษตรกรรม ตลอดจนเทคโนโลยีการเกษตร

เมื่อคํานึงถึงอุปทานด้านเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจที่มีกิจกรรมการจ้างงานสูงที่สุดคือ อุตสาหกรรมการผลิต สินค้าอุปโภคบริโภค เทคโนโลยีและโทรคมนาคม การดูแลสุขภาพและยา ตลอดจนค้าปลีก

ทั้งนี้ รายงานระบุว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังเป็นตัวเร่งกระบวนการแปลงเป็นดิจิทัลในช่วงปีที่ผ่านมา โดยบริษัทในไทยได้ปรับตัวเพื่อตอบสนองความต้องการปรับเปลี่ยนมาสู่รูปแบบดิจิทัลได้ในระยะเวลาอันสั้น เทคโนโลยีอย่างระบบเสมือนจริงและคลาวด์ ช่วยให้ธุรกิจหลายต่อหลายแห่งทํางานได้คล้ายภาวะปกติที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

นอกจากนั้น รายงานระบุว่าร้อยละ 67 ของผู้ที่ทํางานด้านเทคโนโลยีในไทย กําลังมองหาโอกาสใหม่ ๆ ในปี 2564 ในขณะที่อีกร้อยละ 31 แม้ไม่ได้กําลังมองหา แต่ทว่าไม่ปิดกั้นหากมีข้อเสนอที่ดีเข้ามา

อิทธิพลต่อการมองหางานใหม่

เมื่อพิจารณาถึงการแข่งขันในการสรรหาพนักงานด้านเทคโนโลยีที่มีศักยภาพสูง “คริสโตเฟอร์” มีความเห็นว่า การโยกย้ายในสายงานมีเหตุผลหลักมาจากธรรมชาติของธุรกิจ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพราะต้องปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป

ส่วนสาเหตุที่ทำให้พนักงานต้องการออกจากงานโดยสมัครใจในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ในปี 2564 มีเหตุผลหลัก ๆ คือ ขาดโอกาสในการเติบโต, ค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ที่อื่นดีกว่า, ทักษะถูกใช้น้อย, ขาดความโปร่งใสในการสื่อสารของผู้นำ และความไม่มั่นคงของบริษัท

อย่างไรก็ตาม พนักงานชาวไทยยังคงใช้ข้อมูลที่มีอยู่มากเป็นหลักในพิจารณางานใหม่ โดยร้อยละ 40 ของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่า พวกเขาศึกษาข้อมูลของบริษัทโดยละเอียดก่อนที่จะสมัครงานกับบริษัทนั้น

ในขณะที่การรับรู้ของผู้ที่อยู่ในตลาดแรงงานต่อองค์กร (employer brand) ก็มีอิทธิพลต่อการมองหางานใหม่ แตกต่างกันไปตามแต่ละเจนเนอร์เรชั่น ดังนี้

  • Baby Boomer (ผู้ที่เกิดก่อนปี 2509) ให้ความสำคัญกับ 1. พันธกิจและคุณค่าขององค์กรที่ไปในทิศทางเดียวกับตนเอง 2. วัฒนธรรมการทำงานที่ดี 3. แบรนด์องค์กรที่แข็งแกร่งและเป็นที่จดจำ
  • Gen X (ผู้ที่เกิดระหว่างปี 2509 และ 2522) ให้ความสำคัญกับ 1. โอกาสในการเติบโตในสายอาชีพที่เป็นไปได้, พันธกิจและคุณค่าขององค์กรที่ไปในทิศทางเดียวกับตนเอง 3. มีผลการดำเนินงานทางการเงินที่แข็งแกร่ง
  • Gen Y (ผู้ที่เกิดระหว่างปี 2525 และ 2537) ให้ความสำคัญกับ 1. โอกาสในการเติบโตในสายอาชีพที่เป็นไปได้ 2. วัฒนธรรมการทำงานที่ดี 3. พันธกิจและคุณค่าขององค์กรที่ไปในทิศทางเดียวกับตนเอง

ค่าตอบแทนปี 64

ค่าตอบแทนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นสำหรับการจ้างงานใหม่ในปี 2564 เป็นดังนี้

เทคโนโลยี 20%, อุตสาหกรรมและการผลิต 18%, การดูแลสุขภาพและวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต, บริการด้านการธนาคารและการเงิน, บริการระดับมืออาชีพ, และการขนส่งและการจัดจำหน่าย 15%, อสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง 14%, ค้าปลีก 13%, อีคอมเมิร์ซ/อินเทอร์เน็ต 12%, และทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน 9%

ทั้งนี้ มีผู้หางานที่ไม่คาดหวังเงินเดือนเพิ่มจากการหางานใหม่อยู่ที่ 6%

“คริสโตเฟอร์” กล่าวด้วยว่า เพื่อเพิ่มพูนทักษะให้กับพนักงานและรองรับการกลับมาฟื้นตัวของธุรกิจในปี 2564 ส่งผลให้ร้อยละ 42 ของบริษัทในไทยยังคงลงทุนอย่างต่อเนื่องในการฝึกอบรมด้านต่าง ๆ ในขณะที่บริษัทร้อยละ 46 หันไปใช้ระบบอัตโนมัติในกระบวนการขั้นพื้นฐาน