‘ไอแอลโอ’ ดันอาชีพแม่บ้านเข้าระบบ ลดกดขี่ชั่วโมงทำงาน-ค่าแรง

ที่มาภาพ: REUTERS/Mansi Thapliyal

‘ไอแอโอ’ ดันอาชีพแม่บ้านเข้าระบบ ลดการกดขี่ชั่วโมงทำงาน-ค่าแรง ในเอเชียและแปซิฟิกมีแรงงานทำงานบ้านกว่า 38.3 ล้านคน เกินครึ่งทำงานโดยไม่จำกัดเวลา และไม่ได้รับวันหยุด

วันที่ 16 มิ.ย. 2564 องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือไอแอลโอ (International Labour Organization : ILO) เปิดเผยข้อมูลของรายงาน “การสร้างงานที่มีคุณค่าให้เกิดขึ้นจริงกับแรงงานอาชีพทำงานบ้าน” ฉบับใหม่ เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของอาชีพทำงานบ้าน และผลักดันสิทธิมนุษยชนในสายอาชีพนี้ ในวันแรงงานอาชีพทำงานบ้านสากล (International Domestic Workers Day) ซึ่งเป็นวันที่ 16 มิ.ย. ของทุกปี โดยในรายงานระบุเกี่ยวกับความก้าวหน้า และโอกาสในอนาคตสำหรับแรงงานอาชีพทำงานบ้านหลังจากมีการจัดทำอนุสัญญาแรงงานทำงานบ้านในปี 2554 ฉบับที่ 189 (ILO’s Domestic Workers Convention, 2011, No. 189)

ข้อมูลในรายงานระบุว่า แรงงานทำงานบ้านจำนวนมากกว่าครึ่ง (ร้อยละ 61.5) ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายแรงงานในประเทศ ขณะที่ร้อยละ 84.3 เป็นแรงงานที่อยู่ในรูปแบบการจ้างงานนอกระบบ เทียบกับร้อยละ 52.8 ที่เป็นการจ้างงานนอกระบบของแรงงานประเภทอื่น

ทั้งนี้ ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิคมีแรงงานอาชีพทำงานบ้านที่อายุมากกว่า 15 ปี ประมาณ 38.3 ล้านคน (คิดเป็นร้อยละ 50.6 ของแรงงานทำงานบ้านทั่วโลก) ในจำนวนดังกล่าวร้อยละ 78.4 เป็นผู้หญิง และภูมิภาคนี้ยังเป็นภูมิภาคที่มีการจ้างงานแรงงานชายทำงานบ้านจำนวนมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 46.1 ของแรงงานทำงานบ้านชายทั่วโลก

ข้อมูลที่มียังชี้ให้เห็นว่า ภายใต้กฎหมายแรงงานในปัจจุบัน แรงงานทำงานบ้านส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้ ทำงานโดยไม่มีการจำกัดชั่วโมงการทำงาน (ร้อยละ 71) และไม่มีสิทธิ์ได้รับวันหยุดประจำสัปดาห์ตามกฎหมาย (ร้อยละ 64) และรายงานยังพบว่าแรงงานทำงานบ้านมักจะได้รับค่าจ้างต่ำที่สุดในตลาดแรงงาน โดยเฉพาะเมื่อเป็นแรงงานนอกระบบ

นอกจากนี้ มีการประเมินว่าโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อแรงงานทำงานบ้านในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งมีการจ้างงานนอกระบบในระดับที่สูง และไม่มีการคุ้มครองทางกฎหมาย จึงนำไปสู่การตกงานที่สูงกว่าแรงงานอื่น ๆ ประมาณ 2-3 เท่า

ที่มาภาพ : ILO/A. Mirza

“ชิโฮโกะ อาซาดะ มิยากาวา” ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่และผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) กล่าวว่า มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการทำให้อาชีพทำงานบ้านในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเป็นงานในระบบ

“เริ่มจากการกำหนดให้งานบ้านเป็นงานที่ได้รับความคุ้มครองภายใต้กฎหมายแรงงาน และการประกันสังคม เพื่อให้แน่ใจว่าแรงงานทำงานบ้านได้รับการคุ้มครองและได้รับเกียรติที่แรงงานสมควรได้รับ”

ข้อมูลอื่น ๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับภาพรวมแรงงานอาชีพทำงานบ้านในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก มีดังนี้

  • ประเทศจีนมีสัดส่วนแรงงานทำงานบ้านจำนวนมากที่สุด (22 ล้านคน) ส่วนประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ที่มีจำนวนแรงงานทำงานบ้านสูง ได้แก่ ประเทศอินเดีย (4.8 ล้านคน) ประเทศฟิลิปปินส์ (2 ล้านคน) ประเทศบังกลาเทศ (1.5 ล้านคน) และประเทศอินโดนีเซีย (1.2 ล้านคน)
  • มีเพียงร้อยละ 19 ของแรงงานทำงานบ้านในภูมิภาคนี้เท่านั้นที่มีสิทธิ์ได้รับวันหยุดประจำปี และได้รับค่าจ้างเฉกเช่นเดียวกับแรงงานที่ทำงานประเภทอื่น
  • ครึ่งหนึ่งของแรงงานทำงานบ้านทั้งหมดในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกทำงานมากกว่า 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สัดส่วนนี้สูงถึงร้อยละ 58 สำหรับแรงงานทำงานบ้านที่เป็นการจ้างงานนอกระบบ
  • เมื่อเปรียบเทียบกับแรงงานทำงานบ้านทั่วโลก ค่าจ้างแรงงานทำงานบ้านในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกดูเหมือนจะสูงสุด (ร้อยละ 65 ของค่าจ้างที่แรงงานที่ทำงานประเภทอื่นได้รับ หรือร้อยละ 58 สำหรับแรงงานหญิง)
  • มีเพียงร้อยละ 11 ของแรงงานทำงานบ้านในภูมิภาคนี้ที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมาย เหมือนกับแรงงานที่ทำงานประเภทอื่น
  • ประเทศฟิลิปปินส์เป็นเพียงประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาแรงงานทำงานบ้าน เป็นเวลา 10 ปีแล้ว นับจากวันที่มีการรับรองอนุสัญญา
  • ในระดับภูมิภาค มีหลักฐานจากประเทศฟิลิปปินส์และประเทศเวียดนามชี้ว่า แรงงานทำงานบ้านอาจมีโอกาสตกงานในช่วงที่มีการระบาดใหญ่นี้มากกว่าแรงงานอื่น ๆ ถึง 2-3 เท่า