โควิดเพิ่มขยะพลาสติกทวีคูณ เปิดแนวทางแก้ปัญหาของภาครัฐ-เอกชน

โควิดเพิ่มขยะพลาสติกในประเทศไทยทวีคูณ เปิดแนวทางแก้ปัญหาของภาครัฐ-เอกชน เปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน ใช้ปลูกต้นไม้ รวมถึงนำมารีไซเคิลเป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน

การระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมผู้บริโภค มีการใช้บริการดีลิเวอรี่และซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น เกิดขยะพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (single-use) เช่น ช้อน ส้อม กล่องโฟม กล่องพัสดุ ถุงพลาสติก รวมไปถึงแก้วพลาสติก เนื่องจากร้านเครื่องดื่มทุกแห่งไม่อนุญาตให้ลูกค้าใช้แก้วส่วนตัววนมาใส่เครื่องดื่ม นอกจากนั้นมีขยะติดเชื้ออย่างหน้ากากอนามัย เพิ่มขึ้นจำนวนมากอย่างรวดเร็ว ซึ่งขยะพลาสติกเหล่านี้ยังไม่ได้รับการจัดการที่ดีพอในประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกภาคส่วนในประเทศไทศต้องร่วมกันแก้ปัญหา

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมตัวอย่างกลยุทธ์การลดขยะพลาสติกของหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ และภาคธุรกิจเอกชน ที่เริ่มต้นมองหาวิธีการนำขยะเหล่านี้กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้มีขยะชิ้นไหนถูกทิ้งให้กลายเป็นขยะกำพร้า

เปลี่ยนขยะกำพร้าเป็นพลังงาน

“ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์” ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า ช้อน ส้อม ถุงพลาสติก กล่องโฟม กล่องพัสดุ รวมไปถึงขยะติดเชื้ออย่างหน้ากากอนามัย ถูกบัญญัติด้วยคำศัพท์ใหม่ว่า “ขยะกำพร้า” ซึ่งเป็นขยะมูลฝอยที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการจัดการขยะในขั้นตอนกลางทาง หรือขั้นตอนการจัดเก็บ รวบรวม คัดแยก ปรับปรุงสภาพ ให้มีคุณลักษณะเหมาะสมต่อการจัดการ และไม่เป็นที่ต้องการของตลาดรับซื้อ

เพราะส่วนใหญ่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ หรือนำไปรีไซเคิลแล้วไม่คุ้มค่าการลงทุน จึงไม่เป็นที่ต้องการของทั้งภาคธุรกิจและภาคที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดขยะ NIA จึงได้หยิบเอาความท้าทายนี้มาเป็นโจทย์ในการสร้างทางออกของสังคม ด้วยวิธีการเปลี่ยนขยะกำพร้าเป็นพลังงาน (Waste to Energy)

“Waste to Energy เป็นการนำขยะมาสร้างประโยชน์แปรสภาพให้เป็นพลังงาน แม้ว่าจะมีการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง หรือนำขยะกลับไปรีไซเคิลใช้ประโยชน์ก็ยังคงเหลือขยะจำนวนมากที่กำจัดไม่หมด จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยลดปริมาณขยะจำนวนมาก NIA พยายามผลักดันให้คนไทยเข้าใจปัญหาขยะ และเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า จึงได้ทำโครงการสนามการเรียนรู้ (The Electric Playground) ขึ้น โดยจะคัดเลือกโรงเรียนเข้าร่วมโครงการจำนวน 50 โรงเรียนใน 3 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล จ.ขอนแก่น และ จ.ภูเก็ต เพื่อสร้างครูผู้สร้างนวัตกร 250 ชีวิต ไปต่อยอดร่วมสร้างนวัตกรรุ่นเยาว์ในโรงเรียนกว่า 10,000 คน บนโจทย์การสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องการจัดการขยะและการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน (Waste to Energy-W2E) ผ่านกระบวนการคิดแบบ STEAM4INNOVATOR โดยเราได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน”

ระยะเวลาโครงการเริ่มตั้งแต่ 1 มี.ค. 2564 ไปจนถึง 31 ธ.ค. 2564 โดยแนวคิดของโครงการเป็นไปเพื่อส่งเสริมแนวคิดรักษ์พลังงานในกลุ่มเยาวชนระดับมัธยมศึกษา สร้างความตระหนักและเน้นความเข้าใจในการจัดการขยะจากต้นทางทั้งในระดับครัวเรือน โรงเรียน ชุมชน สู่การนำทรัพยากรหมุนเวียนกลับมาใช้ในรูปแบบการผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าเพื่อกระจายกลับคืนสู่สังคม (circular economy)

แก้วเพาะต้นไม้

ร้านอินทนิล ภายใต้การบริหารของบริษัท บางจาก รีเทล จำกัด ในเครือบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มีสาขารวมกว่า 700 ทั่วประเทศ ได้ปรับบรรจุภัณฑ์ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (ECO Package) และได้รับรางวัลรางวัลจาก Thai Star Packaging Awards

โดยในปี 2563 บางจาก รีเทล เป็นผู้ใช้แก้วพลาสติกชีวภาพ ที่ย่อยสลายได้โดยธรรมชาติ มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน ทั้งนี้ บริษัทมีแนวความคิดที่ว่า “1 แก้ว Inthanin Natural Cup ไม่ใช่แค่การดื่มกาแฟ แต่คือการบริโภคด้วยจิตสำนึกที่ดี และร่วมรับผิดชอบโลกใบนี้ไปพร้อมกัน

ล่าสุด อินทนิลสานต่อการส่งมอบแก้วย่อยสลายได้โดยธรรมชาติของอินทนิลที่ใช้แล้วให้กรมป่าไม้นำไปเพาะกล้าไม้ ปีที่ 3 เพื่อลดการใช้ถุงดำ ตั้งเป้า 5 แสนใบภายในสิ้นปี 2564

“เสรี อนุพันธนันท์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางจาก รีเทล จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราสนับสนุนให้เกิดการนำแก้วใช้แล้วส่งมอบให้กรมป่าไม้ ในชื่อโครงการแก้วเพาะกล้า ซึ่งในปีแรกมอบส่วนลด 5 บาทให้ผู้บริโภค สำหรับการส่งมอบแก้วใช้แล้ว 10 ใบ

“แต่ปี 2564 เราปรับเงื่อนไขให้น่าสนใจขึ้น ด้วยการมอบส่วนลด 5 บาท สำหรับการส่งมอบแก้วใช้แล้ว 5 ใบ และในวันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา สามารถสะสมแก้วได้สูงสุดถึง 50 ใบ เพื่อใช้แทนส่วนลด 50 บาท สำหรับการซื้อเครื่องดื่ม 1 แก้ว ที่ร้านอินทนิลทุกสาขาทั่วประเทศ”

“อดิศร นุชดำรงค์” อธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผยว่า ปัจจุบันกรมป่าไม้ใช้ถุงดำพลาสติกสำหรับเพาะกล้าไม้ปีละ 100 ล้านใบ ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งให้กรมป่าไม้หาแนวทางในการใช้วัสดุย่อยสลายมาโดยตลอด

“แต่พลาสติกชีวภาพมีต้นทุนและเงื่อนไขการใช้งานที่ค่อนข้างจำกัด ที่ผ่านมาอินทนิลผลิตแก้วย่อยสลายปีละ 20 กว่าล้านใบ ถ้าลูกค้าทุกคนของอินทนิลช่วยกันรวบรวมแก้วใช้แล้วส่งมอบให้กรมป่าไม้ผ่านโครงการแก้วเพาะกล้า เราจะสามารถลดการใช้ถุงดำไปได้ถึง 20%”

รีไซเคิลขวด PET เป็นของใช้

หนึ่งในภารกิจลดขยะพลาสติกอย่างจริงจังของ “กลุ่มเซ็นทรัล” (Central Group) คือ การรีไซเคิลขวดพลาสติก PET นำมาแปรรูปเป็นเส้นใยพลาสติกเพื่อนำมาผลิตเป็นกระเป๋าผ้า และผ้ากันเปื้อนสำหรับพ่อค้า/แม่ค้า โดยร่วมกับภาคีคณะทำงานการจัดการขยะ Our Khung Bangkachao และวิสาหกิจชุมชนวัดจากแดง ซึ่งกระเป๋าผ้า 1 ใบ ช่วยลดขยะขวดพลาสติกได้ประมาณ 10 ใบ และผ้ากันเปื้อน 1 ผืน ลดขวดพลาสติกประมาณ 10 ใบ

ในปี 2564 กลุ่มเซ็นทรัลมีแผนจะผลิตถุงผ้ารักษ์โลกในหลายรูปแบบ โดยการนำขยะขวดพลาสติกที่คัดแยกจากศูนย์การค้าเซ็นทรัล และร้านอาหารภายในศูนย์มาแปรรูปเป็นเส้นใยพลาสติกเพื่อนำมาผลิตเป็นถุงผ้า นอกจากนั้นเมื่อวันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) ในวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้มีการจำหน่ายถุงผ้ารักษ์โลกรุ่นพิเศษ (limited edition) ที่ร้าน Good Goods โดยรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายเข้ามูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสนับสนุนกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมด้วย

ทั้งนี้ ในเดือน มิ.ย. 2564 กลุ่มเซ็นทรัลได้ผลิตถุงผ้าไปแล้วทั้งสิ้น 378 ใบ ใช้ขวดพลาสติก PET มารีไซเคิลจำนวน 2,400 ขวด สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 64 KgCo2e ส่วนผ้ากันเปื้อนเพื่อให้พ่อค้าแม่ค้าในตลาดจริงใจ Farmer’s Market ผลิตจากเส้นใยพลาสติก PET รีไซเคิล 100% โดยในปี 2563 ผลิตไปเป็นจำนวนทั้งสิ้น 200 ผืน แปรรูปขวดพลาสติกที่ใช้แล้วไปทั้งสิ้น 2,000 ใบ และปี 2564 มีแผนในการผลิตผ้ากันเปื้อนสำหรับตลาดจริงใจ Farmer’s Market รวม 11 สาขา รวมผลิตผ้ากันเปื้อนจำนวนทั้งหมด 1,100 ผืน แปรรูปขวดพลาสติกได้ 11,000 ใบ และจะสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 295 KgCo2e