ผู้เชี่ยวชาญชี้รัฐแก้ปัญหาโควิด ผิดตั้งแต่กระดุมเม็ดแรก แนะศึกษาบทเรียนประเทศอื่น

นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ชี้การแก้ปัญหาโควิดของไทย รัฐติดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรก ทั้งวัคซีนล่าช้า ระบบความเชื่อมั่นล่มสลาย ชี้วิกฤตทำให้เห็นจุดด้อยหลายอย่าง โดยเฉพาะระบบสาธารณสุข รัฐควรทุ่มงบกับการวิจัยหาเครื่องมือ ยารักษา วัคซีนในประเทศอย่างจริงจัง พร้อมแนะก่อนคลายล็อกให้ศึกษาบทเรียนจากประเทศอื่นนำมาปรับใช้

วันที่ 21 สิงหาคม 2564 งานสัมมนาออนไลน์ Healthcare 2021 วัคซีนประเทศไทย #เราจะฝ่าวิกฤติไปด้วยกัน ในหัวข้อ “วัคซีนประเทศไทยก้าวใหม่ฝ่าวิกฤติ” จัดโดยเครือมติชน

วัคซีนกระจายต่างจังหวัดน้อย

นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนวณิชย์ อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า สถานการณ์โควิด ถ้าดูตัวเลขหายป่วยมีมากกว่าผู้ป่วยใหม่ ผมมองว่ามีตัวเลขแฝงเยอะจนเราไม่ค่อยแน่ใจ ตัวเลขติดใหม่อาจจะไม่ได้รวมกับตัวเลขที่มีการตรวจด้วย ATK ดังนั้นค่อนข้างดูยากว่าเราถึงจุดพีคหรือยัง แต่ที่สำคัญมันยังพีคในกลุ่มกรุงเทพฯ ปริมณฑล เรายังไม่รู้ว่าถ้ามีการกระจายสู่ต่างจังหวัดจะมีอีกหลายพีคหรือไม่ อีกทั้งข้อมูล สิ่งที่มีทุกอย่างอยู่ที่กรุงเทพฯ หมดเลย อย่างวัคซีน มาถึงต่างจังหวัดน้อยมาก ทำให้จังหวัดอื่น ๆ ไม่ได้มีการเตรียมพร้อมหากเชื้อมาถึง

“ตอนนี้วัคซีนมา กะปริดกะปรอยมาก มาบ้างไม่มาบ้าง ก็ทำให้วางแผนยาก สิ่งที่ผมกังวลคือเราไม่สามารถสร้าง mass vaccination ได้อย่างต่อเนื่อง บางช่วงทำได้เยอะ ตัวเลขดี แต่บางช่วงหายไปเลย บางที่ศูนย์ฉีดวัคซีนเชียงใหม่ต้องปิดไปเลยเป็นสัปดาห์ก็มี เพราะว่าวัคซีนไม่มา เราจะรู้ว่ามาไม่มาต้องถาม สสจ. แล้วเราจะนัดคนยังไง ศูนย์วัคซีนบางวันว่างมาก

หลายคนบอกว่าเพราะคนไม่อยากฉีดซิโนแวคไปด้อยค่าว่าไม่ดี แต่ผมว่าจริง ๆ ปัญหาใหญ่ไม่ใช่ตรงนั้น แต่เพราะวัคซีนไม่มา พอวัคซีนมาเราส่ง sms ไปนัดประชาชนอาจจะส่งถึงหรือเปล่าไม่รู้ เขาก็ไม่มา ก็เลยกลายเป็น oneway communication ผมมองว่าการนัดไม่เป็นระบบ ฉุกละหุกกันไปหมด สิ่งเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไข ทำให้การสื่อสารเราไม่ดี ก็เข้าใจว่างานอาจจะหนักที่กรุงเทพฯ แต่ถ้าต่างจังหวัดไม่เตรียมพร้อมให้ดีก็จะเกิดปัญหาเหมือนที่กรุงเทพฯ เจอได้”

นพ.รังสฤษฎ์ กล่าวต่อว่า ตอนนี้เชียงใหม่วางแผนอะไรไม่ได้เลย เพราะยังรอวัคซีน ขณะที่ความพร้อมในการฉีดบุคลากรของเราพร้อมมาก สามารถบริการฉีดได้วันละเป็นหมื่น แต่ละศูนย์ฉีดได้ 2,000-3,000 คน แต่ปัญหาคือวัคซีนมาไม่ถึง ก็เข้าใจว่าวัคซีนมีจำกัด กลยุทธ์รัฐคือต้องการกระจายไปสู่จุดที่มีการระบาดสูงสุด ผมไม่แน่ใจว่ากลยุทธ์นี้ดีหรือไม่ จะคุมโรคได้ทันหรือไม่

ผมก็เลยวางแผนไม่ได้ ต้องวางแผนวันต่อวัน ตอนนี้ 6 เดือนผ่านไปเราฉีดไปได้แค่ 4 แสนโดส หรือแค่ 20% ของเป้าหมายเท่านั้น

“ตอนนี้มีการถกเถียงเรื่องการด้อยค่าซิโนแวค แต่ไม่ได้ถกเถียงเชิงวิชาการ เป็นเรื่องเกี่ยวโยงการเมือง ทำให้เกิดเฟกนิวส์ได้จากหลายฝ่าย เพราะจริง ๆ มันเกิดจากความเชื่อที่ประชาชนมีต่อรัฐบาลมันถูกสั่นคลอนในหลาย ๆ เรื่อง เพราะข้อมูลเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ความน่าเชื่อถือจึงถูกทำลายได้ง่าย ๆ รัฐบาลไม่มีการให้ข้อมูลโปร่งใส ไม่ยอมรับความจริง ก็เลยทำให้ความน่าเชื่อถือลดลงไป รัฐบาลควรต้องวางแผนอนาคต ปีหน้าจะเอายังไงกันแน่ จะยืนหยัดพึ่งพาแอสตร้าเซนเนก้าเหมือนที่กล่าวมาตลอดหรือป่าว พอไม่เป็นตามแผน ก็ยังโกลาหลอยู่ อย่างไรก็ตาม เป้าหมายการเปิดประเทศ เราไม่น่าจะพึ่งพาประโยชน์จากวัคซีนซิโนแวคได้แน่นอน เพราะไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้”

ไทยเป็นสังคมบริโภคโดยสิ้นเชิง

นพ.รังสฤษฎ์ กล่าวต่อว่า เราเป็นสังคมบริโภค ไม่ใช่สังคมผลิต แม้แต่องค์ความรู้เราก็บริโภคมา ผลิตเองน้อยมาก ตั้งแต่การวินิจฉัย ชุดตรวจ ก็ซื้อมา วัคซีนก็พยายามทำอยู่ ผมเห็นว่านักวิทยาศาสตร์เราไม่ได้เก่งน้อยกว่าประเทศอื่น แต่โครงสร้าง เงินทุนต่าง ๆ ที่จะซัพพอร์ตให้มันออกมาเป็นสเกลระดับอุตสาหกรรมได้ ผมมองว่ายังอีกเยอะมากที่รัฐจะต้องทุ่มเทเรื่องนี้จริง ๆ ถ้าจะสร้างความมั่นคงทางสาธารณสุข ผลิตวัคซีนเองได้ ดูแลตนเองได้ มันต้องเอาจริงกว่านี้

“ความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ ไม่รู้จะพูดอย่างไร เราต้องทำให้ระบบสาธารณสุขเราพึ่งพาได้ไม่ใช่พึ่งพาคนอื่นอย่างเดียว มีแค่ฟ้าทะลายโจรที่เราพึ่งพาได้ ผมมองว่าเราต้องเปลี่ยน และทำให้อุตสาหกรรมการแพทย์เข้มแข็ง เพราะศึกครั้งนี้ไม่ใช่แค่จะมีโควิด-19 อย่างเดียว แต่ยังมีโรคใหม่ ๆ ที่จะเกิดในปีข้างหน้าต่อไปอีก เพราะสมดุลย์ทางธรรมชาติเราเพี้ยนไปหมดแล้ว ทั้งเรื่องอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งมันทำให้เกิดอุบัติการณ์โรคใหม่ได้เรื่อย ๆ และอาจรุนแรงกว่านี้ด้วยซ้ำ ถ้าเรายังไม่ได้บทเรียนอะไรจากรอบนี้ ไม่เตรียมพร้อมอีกก็ไม่รู้จะว่ายังไง ต้องเตรียมพร้อมให้มีความมั่นคงทางสาธารณสุข”

“ผมเคยภูมิใจมาตลอดว่าสาธารณสุขเราดีมาก อัตราเสียชีวิตของเด็กแรกเกิดก็ต่ำ แต่เอาเข้าจริง ๆ ภูมิความรู้ก็ไม่ใช่ของเรา ไปยืมคนอื่นมา ยาก็ยืมมา อุปกรณ์ก็ซื้อมาหมดเลย เราเป็นสังคมบริโภคโดยสิ้นเชิง ทางรอดมีอย่างเดียวคือเอาจริงเรื่องนี้ เรามีคนเก่งเยอะมาก แต่การสนับสนุนภาครัฐไม่เพียงพอ ต้องถามว่าไทยเรายังเอาเงินไปลงเรื่องอื่น ๆ ซึ่งไม่จำเป็นอยู่หรือเปล่า แต่การลงทุนเรื่องนี้คุ้มค่าแน่นอน

นพ.รังสฤษฎ์ กล่าวอีกว่า ตอนนี้เหมือนเราเจอสงครามแต่เราไม่มีอาวุธ ถ้าเป็นทหารจะซื้ออาวุธเตรียมพร้อมกับสู้รบ แต่พอเป็นวิกฤตสาธารณสุขปรากฏว่าเราพึ่งพาตนเองไม่ได้เลย ผมคิดว่าสิ่งสำคัญที่เราได้บทเรียนครั้งนี้คือความไม่มั่นคงทางสาธารณสุข ถ้าเราจะออกรบ แต่จะรอแต่ไปยืมอาวุธคนอื่นมามันก็ไม่ได้ เราต้องพึ่งพาตนเองให้ได้ด้วย

ขณะที่ภาครัฐก็ต้องสร้างความศรัทธาขึ้นมาใหม่ ไม่ใช่สร้างภาพลักษณ์ ไม่ใช่หยิบยกเฉพาะสิ่งที่สวยงามขึ้นมา เพราะประชาชนมีวิธีการหาข้อมูลตรวจสอบได้มากมาย มันปิดไม่ได้ในยุคนี้ แต่สิ่งที่อยากเห็นจากภาครัฐคือความเอาใจเขามาใส่ใจเรา มีความรู้สึกร่วมให้มาก ๆ ถ่อมตน ยอมรับความผิดที่ตนเองทำมา อย่ามองคนอื่นเป็นศรัตรู เพราะเขาอยากเห็นความเจริญก้าวหน้า อยากเห็นการแก้ปัญหาที่ช่วยกันคิด แม้หลายประเด็นไม่เห็นด้วยก็อย่าคิดว่าเป็นศัตรู”

ยอดผู้ติดเชื้อ ศบค.ยังไม่สะท้อนความจริง

ขณะที่ ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้ยังบอกไม่ได้เลยว่าถึงจุดพีคหรือยัง เพราะตัวเลขที่ศบค.รายงานมาจากการตรวจ RT-PCR ซึ่งมีเพดานการตรวจอยู่ ดังนั้นจำนวนการตรวจด้วยวิธีนี้จึงไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่ค่อนไปทางลดลงเรื่อย ๆ ขณะที่ยอดของผู้ที่ตรวจจาก ATK ก็มีเรื่อย ๆ ซึ่งคนที่ตรวจ ATK คือคนไม่มีอาการ ส่วนใหญ่ตรวจพบผลบวกแทบจะเชื่อมั่นได้เกือบ 100% ว่าติดแน่นอน ไม่ใช่ผลบวกลวง ทั้งนี้รายงานตัวเลข ศบค.ยังเป็นเพียงการรายงานตัวเลขในระบบ ยังไม่ใช่จำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด และอาจจะยังไม่รวมยอด ATK

เพราะฉะนั้นผมมองว่าสถานการณ์นี้คงต้องใช้เวลาอย่างน้อยไปถึงสิ้นเดือนนี้ หรือเดือนหน้า ที่จะพอมองออกว่าทิศทางเป็นอย่างไร ผู้ติดเชื้อจะลดลงหรือเรื้อรังไปเรื่อย ๆ ขณะที่การฉีดวัคซีน ตอนนี้เรามีสูตรเฉพาะกิจ เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในสถานการณ์ที่เรามีวัคซีนเท่านี้ เมื่อทุกอย่างผ่านไป เราจัดหาวัคซีนได้มาก ผมเชื่อว่าก็จะกลับมาปกติ

“โควิดเป็นสถานการณ์พิเศษ เป็นปัญหาด้านการแพทย์ที่ถูกแก้ปัญหาด้วยวิธีวิทยาศาสตร์ ไทยโชคดีในทุกระลอก เพราะเราไม่ใช่ประเทศแรกที่จุดการระบาด และเรามีตัวอย่างในประเทศอื่นเยอะมาก ที่จะเรียนรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นและเอามาปรับใช้ ทำได้ เพราะเราจะล็อกดาวน์ไปตลอด หรืออยู่คนเดียวในโลกนี้ไปตลอดเลยก็ไม่ได้ เราต้องฉุกคิดว่า อะไรที่เรามองข้ามไปแล้วไม่ทำแบบเขา เจ็บแล้วต้องจำ เพราะทุกคนบาดเจ็บจากวิกฤตนี้เยอะ แต่ใช้เรื่องนี้เป็นบทเรียนที่เราต้องปรับปรุงแก้ไข อย่าลืมปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ทั้งหมด ไม่ใช่ว่าวิกฤตผ่านไป ปีหน้าเปิดประเทศกลับมาปกติก็หลงลืมไป ผมคิดว่าถ้ามีคนคอยเก็บบทเรียนนี้ ถอดทุกอย่างแล้วยกเครื่องทั้งประเทศ โครงสร้างที่บิดเบี้ยวสังคมเศรษฐกิจปรับให้ดีขึ้น”

ความแข็งแกร่งภาคประชาชนอุดรูรั่วสาธารณสุข

ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม กล่าวว่า จากสถานการณ์เท่าที่เห็น เดือนที่ผ่านมารุนแรงมาก มีคนเสียชีวิตในบ้านเยอะมาก ยังไม่ต้องพูดถึงคนเสียชีวิตบนถนน ถือว่าเป็นยอดภูเขาน้ำแข็ง สิ่งที่มองเห็นจากสถานการณ์คือ

1.เริ่มเห็นข่าวดี เพราะช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาสถานการณ์เริ่มดีขึ้นจากการที่เราเปลี่ยนมาใช้ระบบ Isolation มี ATK ตรวจรู้ผลเร็วขึ้น มีระบบจัดการยาฟาวิพิราเวียร์เร็วขึ้น แม้จะเปลี่ยนช้าไปหน่อยก็ดีกว่าไม่เปลี่ยนเลย ขณะที่สถานการณ์ในชุมชนเริ่มหายใจได้ดีขึ้น ติดเชื้อเยอะแต่คนเริ่มรู้สึกว่าเป็นสถานการณ์ที่อยู่บ้านกินยา ก็พออยู่ได้ ไม่ต้องรีบไปหาเตียง กลยุทธ์นี้แมทช์กับสถานการณ์ แต่ก็ไม่ได้แก้ได้ 100% เพราะยังมีปัญหาโลจิสติกส์ และปัญหารอบคอขวดเยอะ

2.จากที่คุยกับหมอหน้างาน เตียงเขียวเริ่มว่างเยอะขึ้น แต่ว่าปัญหายังอยู่ที่เตียงเหลืองแดง ฉะนั้นถ้าคนเริ่มป่วยหนักขึ้นก็จะไม่มีเตียงสีเหลืองแดงว่าง ฉะนั้นเราต้องพยายามเบ่งเตียงเหลืองเตียงแดงให้ได้มากขึ้น

3.เห็นความร่วมมือดีขึ้น เพราะแต่ก่อนระบบมั่ว อาจเพราะเป็นวิกฤตที่ไม่เคยเจอมาก่อน แต่ละหน่วยงานไม่มีความไว้ใจกัน ไม่ประสานกัน หน่วยงานไม่ไว้ใจภาคประชาสังคม กลุ่มประชาสังคมที่ตั้งขึ้นมาหลายแห่งมีปัญหาเรื่องประสานงาน แต่ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาบรรยากาศดีขึ้น มีการยอมรับซึ่งกันและกันมากขึ้น

4.ตัวเลขการฉีดวัคซีน 3 วันหลังมีฉีดได้ 6-8 แสนคน ผมว่าด่านหน้าพร้อมฉีดให้ ประชาชนก็พร้อมจะรับวัคซีน ขอแค่มีวัคซีนดี ๆ ให้เขาฉีด แต่ก็ยังมีปัญหาในแง่ความพร้อมของการกระจายวัคซีนเรายังขาดซัพพลาย บางจังหวัดต้องซื้อวัคซีนเอง เพราะระบบสาธารณสุขส่งให้น้อย

5.ความแข็งแกร่งของภาคประชาชน ซึ่งโควิด ประกอบด้วย 3 ขา คือ ระบบสาธารณสุข การบริหารจัดการภาครัฐ ภาคทุนทางสังคม โดยเฉพาะทุนทางสังคม เป็นการช่วยเหลือกันและกันช่วยอุดรูรั่วที่ภาคสาธารณสุขไทยเข้าไปไม่ถึงในระบบเส้นเลือดฝอย เป็นตัวที่ทำให้เรายังประคองอยู่ได้ มันอาจไม่ใช่สิ่งที่เป็นอุดมคติ แต่ว่าสุดท้ายแล้วการที่ประชาชนช่วยกันเอง มันคือชีวิตจริงที่เราต้องเอาตัวรอด อย่างคลองเตย ดูแลด้วยสาธารณสุข 41 มีหมอ 6 คน พยาบาล 10 กว่าคน บุคลากรอื่น ๆ ทั้งหมด 82 คน ต้องดูแลคนในเขตคลองเตยเป็นแสน ซึ่งเป็นไปไม่ได้

แต่พอกลุ่มคนรวมตัวกันทั้งกลุ่มเส้นด้าย เราต้องรอด ฯลฯ นี่คือพลังยิ่งใหญ่ ผมว่ากลุ่มนี้ถ้าทำให้เข้มแข็งได้ น่าจะอยู่นานกว่ารัฐบาล เพราะมันคือทุนทางสังคมที่ผมเชื่อว่ามีความเข้มแข็ง ถ้าทำให้ดีผมว่าช่วยอุดช่องว่างเส้นเลือดฝอยได้ และภาครัฐก็ต้องปรับกลยุทธ์ใ้ห้ดีขึ้น

รัฐติดกระดุมเม็ดแรกผิด

ดร.ชัชชาติ กล่าวต่อว่า ตอนนี้ถ้าดูกลไกภาครัฐผมคิดว่าติดกระดุมเม็ดแรกผิด เราวิเคราะห์สถานการณ์ผิดพลาดตั้งแต่แรก ทำให้กระดุมเม็ดถัดมาผิดตาม โดยเฉพาะการเลือกวัคซีน ตอนนี้เกิดคำถามว่า ทำไมต้องจ่ายเงินซื้อโมเดอร์นาเอง แล้วทำไมรัฐต้องซื้อซิโนแวคอีก 12 ล้านโดส จริง ๆ ผมเชื่อว่าเพราะมันไม่มีอย่างอื่นให้ซื้อในตอนนี้ ถ้าจะฉีดให้ครบ 100 ล้านโดสภายในสิ้นปีตามที่ตั้งไว้ ก็ต้องเอาซิโนแวคมาก่อน แต่เหตุผลจริง ๆ ไม่ทราบ

“แม้ว่าจะติดกระดุมเม็ดแรกผิด แต่ต่อจากนี้ไป การวางกลยุทธ์ ระบบต่าง ๆ รัฐก็ต้องอัพเดตตลอด อย่าไปกังวลกับกระดุมที่ผิดไปแล้ว ต้องติดใหม่ คิดใหม่ แล้วก็มองไปอนาคต อย่างเรื่องวัคซีน อนาคตผมมองว่าเหนื่อยแน่ ๆ เพราะต่างประเทศเริ่มบูสเตอร์กันแล้ว เพราะโรคมันแรง ฉะนั้นเขาก็ต้องการเข็มสามเข็มสี่ ผมว่าอนาคตดีมานด์วัคซีนมีแน่ ฝ่ายบริหารต้องมองอนาคต

ถ้าให้ผมคิดแบบคนนอก เช่น สั่งไฟเซอร์ทำไมไม่สั่ง 100 ล้านโดส เผื่อไปเลย ไม่ใช่สั่งทีละ 15-30 ล้านโดส จะได้เมื่อไหร่สั่งเผื่อไว้ก่อน แต่พอเราสั่งทีละน้อย ๆ พอถึงปีหน้าก็ต้องมาเริ่มต่อคิวใหม่ หรือเหมือนอย่าง ATK สั่งไปเลย 100 ล้าน ถ้าจะให้คนตรวจเชิงรุก ต้องแจกให้ประชาชนตรวจทุกสัปดาห์ ผมว่าบางทีภาครัฐไม่ได้มอง scenerio อนาคต ทำให้เราเหมือนวิ่งตาม curve”

“ฉะนั้นแล้ว พอเราผิดพลาดก็ต้องยอมรับผิดและมูฟออน เพราะความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งสำคัญสุดผมทำงานมา 3 วงการ เป็นทั้งอาจารย์ นักการเมือง นักธุรกิจ ผมว่า trust คือสิ่งที่มีค่าที่สุด มันต้องรักษาไปเท่าชีวิต เมื่อไหร่ก็ตามที่ไม่มี trust ผมว่าแย่ ยิ่งวิกฤติตอนนี้มันน่ากลัวกว่านั้น เพราะเกิดความล่มสลาย ความไว้วางใจในประเทศ แม้รัฐบาลนี้หมดไป แต่ความล่มสลายนี้ยังอยู่ หรือแม้แต่บุคลากรการแพทย์ แต่ก่อนเราไว้ใจ สิ่งที่เราเชื่อคือ เป็นคนเก่ง มีคาแรกเตอร์เห็นแก่ส่วนรวม แต่ตอนนี้ถึงขนาดทำให้หมดความน่าไว้วางใจได้ ผมมองว่าน่ากลัว แล้วพอไม่มีความไว้วางใจใคร

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ทุกอย่างมันยาก ช้าไปหมด อนาคตจะหนักกว่านี้ พอเราไม่ไว้ใจกัน ต่างชาติจะไว้ใจเราไหม แค่ในประเทศยังจัดการไม่ได้ นี่คือปัญหาใหญ่ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ผมว่าต้องรีบฟื้นระบบ trust ขึ้นมาต้องมีผู้นำสร้างความไว้ใจ มั่นใจ อย่างวัคซีนในฐานะประชาชนก็ไม่รู้จะฟังใคร ใครคือซีอีโอด้านวัคซีนที่ออกมาพูดแล้วผมเชื่อได้ ใครคือซีอีโอด้านยา เอาคนที่มีคาแรกเตอร์เชื่อได้ พอเราไม่เชื่อใจกันสุดท้ายก็ไปเจอเฟกนิวส์ตามโซเชียล”

ล็อกดาวน์ไม่เกิดประโยชน์

ดร.ชัชชาติ กล่าวอีกว่า เศรษฐกิจตอนนี้หนักกว่าโควิด ถ้าไปดูในชุมชน คนจะอดตาย อาจจะมากกว่าโควิดด้วยซ้ำ ผมไม่เชื่อว่าการล็อกดาวน์มีประสิทธิภาพมากที่จะช่วยให้ดีขึ้น ส่วนคลายล็อก อย่าเรียกว่าคลายล็อก แต่ให้เรียกว่าการเปิดอย่างมียุทธศาสตร์ ให้ดูตัวอย่างต่างประเทศที่เขาทำ อย่างแรกสุดที่ควรเปิดให้ได้ก็คือโรงเรียน เพราะเด็กตอนนี้ห่างการศึกษาไปเยอะ เราจะเปิดอย่างมียุทธศาสตร์ยังไง ก็คือ นักเรียนก็ต้องฉีดวัคซีน ครูก็ต้องได้รับวัคซีนเพราะเป็นด่านหน้าไม่ต่างจากแพทย์ รวมถึงบุคลากรโรงเรียน ผู้ปกครอง หรือช่วงที่มีเวลาว่างอย่างช่วงนี้ก็ต้องปรับปรุงโรงเรียน สร้างความปลอดภัยโรงเรียน ทำห้องน้ำใหม่ ทำระบบสกรีน ทำอ่างล้างมือ

เหล่านี้คือการเปิดอย่างมียุทธศาสตร์ไม่ใช่คลายล็อก ถ้าระบาดอีกก็ต้องมาล็อกอีก อย่างห้างเปิดได้แต่ต้องตรวจโควิดก่อนทุกคน แต่หัวใจคืออย่าผลักเป็นภาระให้ภาคเอกชน รัฐต้องช่วย นี่คือแผนระยะสั้น

อย่างไรก็ตาม ผมว่าคนที่ตายหนักตอนนี้คือเอสเอ็มอี บริษัทที่มีคนน้อยกว่า 200 คน รายได้ไม่ถึง 500 ล้าน มีอยู่ 3 ล้านบริษัท จ้างงาน 12 ล้านคนกำลังตาย ส่วนบริษัทใหญ่แค่หมื่นบริษัท จ้างงาน 5 ล้านคนก็ยังพอไปได้ ฉะนั้นรัฐต้องดูแลเอสเอ็มอี ช่วง 2-3 ปีนี้อย่าไปกังวลเรื่อง GDP มาก เพราะมันมาจากบริษัทใหญ่ ไม่ได้กระจายลงคน ต้องดูแลเอสเอ็มอีเป็นหลัก

อย่างผู้ว่าแบงก์ชาติพูดเรื่องการกู้เงินเพิ่ม รัฐไม่ต้องกลัว ต้องดูแลคนเล็กคนน้อยให้รอดตรงนี้ไปได้ก่อน เพราะเขาคือผู้ขับเคลื่อน ฉะนั้นค่าใช้จ่ายให้กลุ่มเอสเอ็มอีอะไรลดได้ก็ลด สาธารณูปโภค น้ำไฟ ให้ใช้ฟรีไปเลย 1 ปีได้ไหม อย่าแค่ช่วยพักชำระหนี้เพราะดอกเบี้ยยังเดิน แค่ไม่ต้องจ่าย และต้องมาจ่ายทีหลัง นี่คือการช่วยต่อลมหายใจ แต่ก็ทำเรื่องสาธารณสุขให้จบก่อนรัฐบาลต้องมองอนาคตให้แตก ต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้ทันที

“ฝากถึงประชาชน หลาย ๆ คนกังวลเรื่องอนาคต ผมอยากให้ทุกคนอยู่กับปัจจุบันให้มาก ๆ ระวังตัว ดูแลสุขภาพ ดูแลคนใกล้ตัว ครอบครัวให้ดี แต่สำหรับท่านผู้บริหาร ท่านผู้มีอำนาจ อย่าอยู่กับปัจจุบัน ท่านต้องอยู่กับอนาคต เพราะว่าชีวิตเราอยู่กับการคิดถึงอนาคตของท่าน ท่านต้องคิดถึงอนาคตเยอะ ๆ คิดถึงทางเลือก การเตรียมตัว เพราะต้องเอาอนาคตมากำหนดปัจจุบัน”

รัฐควรศึกษาบทเรียนประเทศอื่น

นศ.ดร.ป๋วย อุ่นใจ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมว่า มีเรื่องน่ากังวลอีกเยอะ และเราเรียนรู้ช้าไป ตอนนี้ต่างประเทศเริ่มบูสเตอร์กันเข็ม 3-4 กันแล้ว ถามว่าประเทศเราจะสั่งซื้อวัคซีนทันไหม เพราะเราเพิ่งเริ่มสั่งกันไม่นานมานี้ แล้วบริษัทผลิตเขาอยากจะแบ่งให้เรามากน้อยแค่ไหน ก็ต้องลุ้นอีกที ถ้าไม่ลุ้นเราก็ต้องหาวิธีทำให้ประเทศพึ่งพาตนเองได้ อันนี้สำคัญมาก

แต่ถึงแม้ว่าวัคซีนจะทยอยเข้ามา แต่เชื้อเดลต้าน่ากลัว ประเด็นคือเรามีแผนจะคลายล็อกประเทศ จะทำอย่างไรไม่ให้เชื้อแพร่กระจายมากขึ้น ก็ต้องไปดูตัวอย่างจากหลาย ๆ ประเทศ เช่น อิสราเอล สิงคโปร์ หรือประเทศอื่น ๆ ที่มีตัวอย่างเต็มไปหมดให้เห็นชัดเจนว่าเขาทำอย่างไรในการกดกราฟผู้ติดเชื้อให้ต่ำลงมาอีกรอบ และมีวิธีเปิดประเทศอย่างไร เราต้องไม่โดดเดี่ยว เพราะถ้าโดดเดี่ยวมันจะมีปัญหา ถ้าบริหารโดดเดี่ยวไม่เหมือนใครเลย นอกจากทำได้ไม่ดี และแก้ปัญหาไม่ได้ ท้ายสุดเราจะโดดเดี่ยวจากโลก กลายเป็นถูกมองว่าเป็นฮอตสปอตในการแพร่เชื้อ ปัญหาจะเกิดใหญ่กว่านี้ ควรเรียนรู้จากคนอื่น เขาก็เจ็บมาเหมือนกัน ค่อย ๆ เรียนรู้ มีข้อมูลมากมายมหาศาล

ถามว่าประเทศเราเมื่อไหร่จะเรียนรู้จากเขา เพราะเท่าที่ดูการบริหารหลาย ๆ อย่าง เราบริหารเหมือนคนสิ้นหวัง เช่น ไม่ได้วัคซีน เอาตัวไหนก็เอามาก่อน ตัวไหนได้ก็เอา ซึ่งเป็นเรื่องน่ากังวล ขณะเดียวกันก็กำลังแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหลาย ๆ อย่าง และไม่ยอมออกมายอมรับกับประชาชนจริง ๆ ว่านี่คือปัญหาที่เคยพลาด ปะะชาชนตอนนี้เริ่มตั้งคำถามขึ้นมากมายว่าทำไมรัฐต้องทำแบบนี้ตลอดเวลา ก็เพราะว่ามันเกิดความไม่เชื่อ ผมมองว่าเราเห็นความอัปลักษณ์หลาย ๆ อย่างในประเทศโผล่ขึ้นมา ก็ต้องใช้โอกาสตอนนี้ปรับปรุงแก้ไขมันได้ไหม อนาคตจะได้ไม่วนกลับมาลูปเดิมเหมือนงูกินหาง จะพึ่งตนเองยังไงโดยไม่ยืมจมูกคนอื่นหายใจ