ก.แรงงาน แก้คนงานต่างด้าวขาดแคลน จัด MOU นำเข้า 5-8 หมื่นคน

กระทรวงแรงงานประชุมเตรียมความพร้อมนำเข้าแรงงานต่างด้าว ตาม MOU ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

วันที่ 13 กันยายน 2564 กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน จัดประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) ครั้งที่ 6/2564 เพื่อหาแนวทางการนำเข้าแรงงานต่างด้าวตาม MOU ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และขยายเวลาดำเนินการของศูนย์จัดเก็บข้อมูลแรงงานเมียนมาชั่วคราว (TDCC) จากนั้นจะนำเสนอต่อศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) พิจารณาต่อไป

การประชุมครั้งนี้มีนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยนายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน, นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน, นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน, พล.ต.ต.นันทชาติ ศุภมงคล ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน, นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง), นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน, นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงานร่วมประชุม

สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน-1

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยยังคงมีความรุนแรง และต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน จึงได้มอบหมายกระทรวงแรงงาน, สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง, กรมการการปกครอง, สาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว พร้อม ๆ ไปกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศที่จำเป็นต้องใช้แรงงานข้ามชาติอย่างเหมาะสม และสามารถดำเนินการควบคู่ไปกับความมั่นคงด้านสุขภาพของประชาชนได้

จัดกลุ่มแรงงาน เขียว เหลือง แดง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานชี้แจงว่า ที่ผ่านมากระทรวงแรงงานมีแนวทางในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในประเทศไทยให้สามารถอาศัย และทำงานได้ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 อย่างไรก็ดีจากการสำรวจความต้องการแรงงานข้ามชาติจากนายจ้าง/สถานประกอบการ ยังพบว่าไม่เพียงพอต่อความต้องการ

ดังนั้น ที่ประชุมวันนี้จึงได้พิจารณาและเห็นชอบให้ แบ่งกลุ่มคนต่างด้าวที่อนุญาตให้เข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

  • กลุ่มสีเขียว คือผู้ที่ฉีดวัคชีนครบ 2 เข็ม เป็นระยะเวลา 1 เดือนขึ้นไป จะได้เข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศเป็นลำดับแรก โดยต้องแสดงวัคซีนพาสปอร์ต
  • กลุ่มสีเหลือง คือผู้ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม แต่ยังไม่ครบกำหนดระยะเวลา 1 เดือน
  • กลุ่มสีแดง คือผู้ที่ฉีดวัคซีนเพียง 1 เข็มหรือยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเลย

ส่วนค่าใช้จ่ายที่นายจ้างต้องรับผิดชอบ ประกอบด้วย

  • ค่าสถานที่กักกัน โดยสถานที่กักกันของคนต่างด้าวต้องเป็นของรัฐหรือของเอกชน ตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดให้การรับรอง
  • ค่าตรวจหาเชื้อโควิด-19 (swab 3 ครั้ง)
  • ค่ารักษากรณีคนต่างด้าวติดเชื้อโควิด-19

“ขั้นตอนนำเข้าแรงงานตาม MOU ต้องผ่านกรมการจัดหางาน นายจ้างรับผิดชอบค่าใบอนุญาตทำงาน (work permit) ทำประกันสังคม และทำประกันสุขภาพหรือประกันชีวิตให้ลูกจ้างต่างด้าว” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานอธิบาย

ดันนายจ้างเข้า ม.33 ได้วัคซีนให้ลูกจ้างฟรี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าวด้วยว่า ไม่อยากให้นายจ้างต้องรับภาระค่าใช้จ่ายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ลูกจ้าง จึงอยากให้นายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ขึ้นเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 (ม.33) ของระบบประกันสังคม เพื่อที่แรงงานต่างด้าวที่ครบกำหนดระยะเวลากักตัวแล้วจะได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ตามสิทธิผู้ประกันตน

“กรณีไม่ได้เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 นายจ้างจะเป็นผู้จัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทางเลือกให้แก่แรงงานต่างด้าว และไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายนี้กับลูกจ้างได้”

นอกจากนั้น ที่ประชุมยังได้สรุปให้ขยายระยะเวลาการดำเนินการของศูนย์จัดเก็บข้อมูลแรงงานเมียนมาชั่วคราว (TDCC) ณ จังหวัดสมุทรสาครต่อไปอีก 1 ปี เพื่อให้แรงงานเมียนมาสามารถทำเอกสารประจำตัว (Passport : PP) โดยไม่ต้องเดินทางกลับประเทศ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 โดยสามารถเปิดทำการได้ทันทีหลังคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาครเห็นชอบ

“การนำเข้าแรงงานต่างด้าวตาม MOU ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เบื้องต้นตั้งเป้าไว้ที่ 50,000-80,000 คน และทางกระทรวงแรงงานมั่นใจว่าจะหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้เพียงพอต่อจำนวนแรงงาน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าว

ขั้นตอนนำเข้าแรงงานตาม MOU โควิด

ไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวเสริมเกี่ยวกับขั้นตอนที่นายจ้างต้องปฏิบัติเพื่อนำเข้าแรงงานต่างด้าวตาม MOU ว่ามีดังนี้

  • ยื่นแบบคำร้องขอนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศ ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ทำงานของแรงงานต่างด้าว
  • ประเทศต้นทางจัดทำและส่งบัญชีรายชื่อคนงานต่างด้าวให้นายจ้างไทยพิจารณา
  • นายจ้าง/สถานประกอบการยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว พร้อมชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงาน (2 ปี) จำนวน 1,900 บาท
  • เมื่อแรงงานต่างด้าวเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย จะต้องแสดงหลักฐานการตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยวิธี RT-PCR ระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ณ ด่านตรวจคนเข้าเมืองด้วย
  • คนต่างด้าวต้องเข้ารับการกักตัวก่อนเริ่มทำงาน และตรวจหาเชื้อโควิดโดยวิธี RT-PCR ซึ่งหากผลตรวจโรคไม่ผ่าน ให้เข้ารับการรักษาโดยมีนายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย
  • เมื่อครบกำหนดระยะเวลาการกักตัวและตรวจไม่พบเชื้อโควิด-19 หรือได้รับการรักษาจนหายแล้ว ให้คนต่างด้าวแสดงหลักฐานใบรับรองแพทย์ เพื่อรับใบอนุญาตทำงาน
  • คนต่างด้าวที่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 จะได้รับการฉีดวัคซีนตามสิทธิผู้ประกันตน

ทั้งนี้ หากนายจ้าง/สถานประกอบการ และคนต่างด้าว มีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1–10 หรือที่ไลน์ @Service_Workpermit หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694 ซึ่งมีการจัดล่ามในภาษากัมพูชา เมียนมา และอังกฤษ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร และแนะนำวิธีการดำเนินการ