จับตามอง 5 ปัญหาความยั่งยืนระดับโลกปี 2565

ภาพ: Henry & Co./unsplash

แต่ละประเทศต้องมีนโยบายและแผนการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่เพียงพอ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะมีอนาคตที่ยั่งยืน และเท่าเทียมกันมากขึ้น

วันที่ 12 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มูลนิธิองค์การสหประชาชาติ (United Nations Foundation) เปิดเผย 5 ประเด็นสำคัญระดับโลกที่น่าจับตามองในปี 2565 ท่ามกลางสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ที่เป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าด้านการสร้างความเท่าเทียม มั่งคั่ง และการมีสุขภาพดีขึ้น โดย 5 ประเด็นมีดังนี้

1. การรับมือกับโควิด-19

ปี 2565 นับเป็นปีที่ 3 ที่โควิด-19 แพร่ระบาด ซึ่งปัญหาและความท้าทายหลัก ๆ ในปีนี้คือเรื่องของการดำเนินงานที่เชื่องช้า และไม่มีระบบในการรับมือกับโรคระบาด รวมถึงการมีผู้นำที่ไม่กระตือรือร้นกับการแก้ปัญหา และความขัดแย้งด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งจุดอ่อนตรงนี้ขัดขวางความสามารถในการป้องกันและการลดการแพร่ระบาดของเดลต้าและโอมิครอน ด้วยเหตุนี้ จึงมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ตอนนี้กว่า 270 ล้านคนทั่วโลก และมีจำนวนผู้เสียชีวิตได้เกิน 5 ล้านคน

ซึ่งทางแก้ที่ควรเกิดขึ้นในปี 2565 คือ ลดช่องว่างในการรับมือกับโควิด-19 ระดับโลก และคน 70% ในทุกประเทศต้องได้รับการฉีดวัคซีนภายในกลางปี 2565 ทั้งนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 15 ธันวาคม 2565 ประเทศที่มีรายได้สูง มีผู้ได้รับการฉีด 66% แต่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำมีเพียง 9% เท่านั้นที่ได้รับการฉีดวัคซีน

หัวข้อที่จะมีความสำคัญมากขึ้นในปี 2565 คือ การให้ความสำคัญกับระบบสุขภาพที่เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง ขณะที่ปี 2566 ประชาคมโลกจะมองไปข้างหน้าถึงเรื่องการประชุมระดับสูงว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

2. ความยากจน เหลื่อมล้ำ

โควิด-19 เป็นอุปสรรคต่อความพยายามในการขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างโลกที่เจริญขึ้น ทั้งยังส่งผลต่อบริการด้านสุขภาพที่ไม่เพียงพอ ผู้คนหลายล้านต้องตกงาน โอกาสในการศึกษาในวัยเด็กถูกขัดจังหวะหรือหายไป และความเหลื่อมล้ำแย่ลงไปอีก

มูลนิธิองค์การสหประชาชาติระบุว่า ประชาชนระหว่าง 100 ล้านถึง 150 ล้านคน ถูกผลักให้กลับสู่ความยากจนขั้นรุนแรงในปี 2564 โดยคนเหล่านี้จำนวนมากอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เปราะบางด้วย

ซึ่งหนทางการแก้ไขข้างหน้าต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากผู้ดำเนินการทุกภาคส่วน ตั้งแต่รัฐบาลท้องถิ่นไปจนถึงซีอีโอ มหาวิทยาลัย และชุมชน

3. อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น

การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties : UNFCCC COP) สมัยที่ 26 หรือ COP26 นับว่าเป็นครั้งที่มีผู้เข้าร่วมมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2015 ซึ่งเป็นปีที่มีการเจรจาข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) เป็นครั้งแรก

โดยข้อตกลงปารีสมีจุดมุ่งหมายเพื่อจำกัดอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม และการทำให้แน่ใจว่าทุก ๆ ประเทศจะมีความก้าวหน้า และความทะเยอทะยานด้านการดูแลสภาพอากาศมากขึ้น

ทั้งนี้ COP26 แสดงให้เห็นว่า หลายประเทศมีความทะเยอทะยานมากขึ้น รวมถึงกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่ายสนใจร่วมแก้ไขปัญหามลพิษ การตัดไม้ทำลายป่า การจัดหาถ่านหิน และการขนส่ง ยกตัวอย่าง เช่น สหรัฐอเมริกาและจีน ที่ยอมตกลงที่จะส่งเสริมความร่วมมือในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ปี 2565 จะเป็นปีที่มีการปล่อยคาร์บอนพุ่งสูงขึ้นจากปี 2564 และสภาพภูมิอากาศแปรปรวนมากขึ้น รวมทั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนน่าตกใจ

ดังนั้น แต่ละประเทศต้องมีนโยบายและแผนการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่เพียงพอ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะมีอนาคตที่ยั่งยืน และเท่าเทียมกันมากขึ้น

4. ความเท่าเทียมทางเพศ

โควิด-19 ส่งผลกระทบด้านความไม่เท่าเทียมต่อเด็กหญิงและสตรี โดยเด็กและสตรีจะเผชิญกับความท้าทายที่ขัดขวางความก้าวหน้ามากกว่า

แต่ละประเทศจึงต้องมีกลไกเพื่อพัฒนาความเท่าเทียมทางเพศที่ชัดเจน และใช้งานได้จริง เช่น การกำหนดมาตรฐานการจ่ายค่าจ้างที่เท่าเทียมกัน วันลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรที่ได้รับค่าจ้าง และการพัฒนาความเป็นผู้นำของผู้หญิง และการสร้างความก้าวหน้าให้กับผู้หญิงในที่ทำงาน

5. ความขัดแย้งด้านมนุษยธรรม

โลกกำลังเผชิญกับความขัดแย้งด้านมนุษยธรรมในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยในปี 2565 มูลนิธิองค์การสหประชาชาติคาดว่า ประชาชน 274 ล้านคนต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเพิ่มขึ้นเกือบ 20% จากตัวเลขที่สูงเป็นประวัติการณ์ในปี 2564

ทั้งนี้ มีแนวโน้มที่น่าเป็นห่วงหลายประการ ได้แก่ การบังคับให้ต้องพลัดถิ่นเพิ่มขึ้น ผู้คนบริเวณชายขอบมีความอดอยากเพิ่มขึ้นฉับพลัน การกระจายวัคซีนที่ไม่เท่าเทียมกัน มีการเพิ่มขึ้นในระบอบอำนาจนิยม และความรุนแรงที่เพิ่มสูงขึ้น