รอยัล พารากอน ฮอลล์ กวาด 3 มาตรฐาน ISO+มอก.

ทาลูน เทง - เจเนท ซาเลม

จากสถิติปริมาณขยะมูลฝอยโดยสำนักสิ่งแวดล้อม แสดงให้เห็นว่าตั้งแต่ปี 2554 ถึง 2560 มีปริมาณขยะในกรุงเทพฯเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของปริมาณขยะในปีงบประมาณ 2556 มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าปริมาณขยะในปีงบประมาณ 2560 เท่ากับ 4.92%

คงต้องยอมรับว่าปริมาณขยะที่เกิดขึ้นเป็นผลพวงที่เกิดจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ทั้งสิ้น ดังนั้น รอยัล พารากอน ฮอลล์ (Royal Paragon Hall) ศูนย์กลางสถานที่จัดงานระดับโลกใจกลางกรุงเทพฯ ในฐานะแหล่งรวมกิจกรรม และงานต่าง ๆ จึงพยายามมุ่งเน้นการลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม และสังคมมาโดยตลอด จนส่งผลให้กวาด 3 มาตรฐาน ISO และ มอก. พร้อมกันครั้งแรกของโลก

“ทาลูน เทง” กรรมการผู้จัดการ รอยัล พารากอน ฮอลล์ กล่าวว่า เราผ่านการรับรอง 3 มาตรฐานระดับสากลพร้อมกันคือ ISO 20121 : 2012 การบริหารการจัดการอย่างยั่งยืน, ISO 22301 : 2012 ระบบการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ และ TISI 22300 : 2550 ระบบการจัดการด้านการรักษาความปลอดภัย สำหรับการจัดประชุม สัมมนา และนิทรรศการ

“มาตรฐานที่เป็นผลมาจากความจริงจังในการสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นกับการจัดงาน โดยเราประยุกต์กลยุทธ์ให้จับต้องได้ ลงมือปฏิบัติได้จริง และเราเชื่อว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นมาจากองค์ประกอบ 4 ด้าน คือ หนึ่ง ความตั้งใจในการสร้างความยั่งยืน สอง แรงบันดาลใจในการสานต่อเจตนารมณ์ด้านความยั่งยืนของสำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB สาม ทีมงานที่มีความเข้าใจในกลยุทธ์ และพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความยั่งยืน สี่ หลักการทำงานที่มีคุณภาพ”

“การดำเนินงานที่ผ่านมา 11 ปีของเรา ใช้มาตรฐานระดับโลกในการจัดงาน พยายามใช้เรื่องความยั่งยืนเป็นหนึ่งนโยบายหลักของการทำธุรกิจ เรามุ่งสร้างประโยชน์ของการจัดงานอย่างยั่งยืนไปที่ 3 ภาคส่วน คือ คน สังคม และประเทศชาติ ทั้งนี้ การจัดงานอย่างยั่งยืนของรอยัล พารากอน ฮอลล์ ใช้กระบวนการ 4-R คือ Rethink, Reduce, Reuse และ Recycle โดยเราสร้างสถานที่ให้มีแสงจากดวงอาทิตย์ส่องถึง เพื่อลดการใช้พลังงานจากไฟฟ้า ซึ่งสามารถช่วยประหยัดไฟได้ 50%”

นอกจากนั้น ฮอลล์ 2 และฮอลล์ 3 มีการเปลี่ยนมาใช้หลอดไฟ LED ทั้งหมด รวมแล้ว 250 หลอด ซึ่งช่วยประหยัดไฟฟ้าได้ถึง 10 เท่า

“ทาลูน เทง” กล่าวต่อว่า เราลดการให้บริการน้ำดื่มจากขวดพลาสติก เป็นการจัดโซนน้ำดื่มพร้อมแก้วไว้บริการ น้ำดื่มที่ดื่มไม่หมด นำไปใช้รดน้ำต้นไม้ หรือใช้ทำความสะอาดพื้น งดการใช้ดอกไม้สดเพื่อตกแต่งงานโดยไม่จำเป็น แต่เป็นการใช้ของตกแต่งที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ หรือสามารถใช้แจกคนร่วมงานเพื่อให้ไปใช้ประโยชน์ต่อได้

“นอกจากนั้น เรายังลดการใช้ผ้าคลุมโต๊ะ ผ้าคลุมเก้าอี้ ผ้าตกแต่งขอบเวที เพื่อลดการใช้น้ำในการซัก และลดการปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำที่เกิดจากกระบวนการทำความสะอาด การรณรงค์ให้ผู้ที่มาร่วมงานใช้บริการขนส่งสาธรณะ เพื่อสร้างส่วนร่วมในการลดการใช้พลังงาน จัดการการแยกขยะ พร้อมกับชักชวนผู้ประกอบการรับฟังนโยบายความยั่งยืน และชวนให้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมความยั่งยืนต่าง ๆ”

การได้รับการรับรองมาตรฐานสากล ISO และ มอก.ทั้ง 3 ด้าน จะช่วยรักษาการขยายสัดส่วนลูกค้าในประเทศ และต่างประเทศของรอยัล พารากอน ฮอลล์ ที่เป็น 70:30 ไว้ได้อย่างดี ทั้งยังเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ในเรื่องความปลอดภัยของสถานที่แห่งนี้ พร้อมกับช่วยยกระดับภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร ในฐานะของสถานที่จัดงานที่มีหลักการพัฒนาการจัดงานอย่างยั่งยืน

“เพราะเรื่องการพัฒนาการจัดงานอย่างยั่งยืนเป็นกระแสที่ระดับนานาชาติต่างให้ความสำคัญ ต่อจากนี้ไปเราจะยังคงมุ่งมั่นที่จะสานต่อความสำเร็จ เพื่อต่อยอดความสำเร็จสูงสุดให้กับทุกภาคส่วน โดยเราตั้งเป้าหมายปีหน้าว่าจะลดผลกระทบต่อชุมชนรอบ ๆ ให้น้อยที่สุด พร้อมกับปลูกฝังให้พนักงานเข้าใจ และมีส่วนร่วมกับการสร้างความยั่งยืนมากขึ้น และจะลดการใช้ไฟฟ้าเพิ่มอีก 10% เมื่อเทียบกับปี 2017”

“เจเนท ซาเลม” ตัวแทนจากองค์การสหประชาชาติด้านสิ่งแวดล้อม ภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก กล่าวว่า การจัดงานอย่างยั่งยืนคือการออกแบบการจัดงานในรูปแบบที่ลดผลกระทบ และลดการสร้างมรดกเชิงลบ โดยต้องคำนึงถึง 3 ด้าน คือ หนึ่ง ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม เกี่ยวข้องกับของเหลือทิ้ง มลพิษ และการจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน

“สอง ความรับผิดชอบต่อเศรษฐกิจ เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายอย่างเหมาะสม ไม่มีการคอร์รัปชั่น การจัดซื้อจัดจ้างที่โปร่งใส สินค้าและบริการมีคุณภาพ มีนวัตกรรม และมีการสร้างงาน สาม ความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นการจัดงานที่ปลอดภัย ให้โอกาสของการรวมกลุ่มของชนกลุ่มน้อย เคารพความแตกต่าง มีความเท่าเทียมกัน ให้ความสำคัญต่อความเปราะบางด้านศาสนา และมีส่วนร่วมกับความต้องการของสังคม”

“สำหรับกระบวนการในการจัดอีเวนต์ต่าง ๆ ที่ดี ต้องมีการวางแผนที่มีวัตถุประสงค์ชัดเจน และวัดผลด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ จัดสรรการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างทีมที่ใช้ความยั่งยืนเป็นแก่นในการทำงาน ทำทีละขั้นตอนเพื่อให้ถึงเป้าหมาย ให้ความสำคัญกับพื้นที่รอบ ๆ จัดงาน นอกจากนั้น ยังต้องพัฒนาการสื่อสารเรื่องการสร้างความยั่งยืนให้มีประสิทธิภาพอีกด้วย”

“จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา” ผู้อำนวยการทีเส็บ กล่าวเสริมว่า การดำเนินธุรกิจในปัจจุบันให้ความสำคัญกับการจัดการธุรกิจอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการบริหารความเสี่ยง นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการจัดประชุม และแสดงสินค้า เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ให้ความสนใจกับแนวทางดังกล่าว เพราะเรื่องของความยั่งยืนเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้เดินทางเข้ามาจัดงาน รวมถึงยังเป็นการสร้างจุดขายให้แก่ผู้ประกอบการไมซ์ในประเทศไทยให้มีศักยภาพในการแข่งขัน เพื่อให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายของการจัดงานได้มากขึ้น

“ทีเส็บจึงดำเนินการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไมซ์ไทยได้รับมาตรฐานสากลตามแนวทางดังกล่าว โดยรอยัล พารากอน ฮอลล์ ได้รับการสนับสนุนจากทีเส็บด้านงบประมาณ และองค์ความรู้เพื่อให้ได้รับการรับรอง 3 มาตรฐาน และความสำเร็จของรอยัล พารากอน ฮอลล์ นับเป็นความภูมิใจของอุตสาหกรรมไมซ์ไทย และเชื่อว่าจะเป็นการจุดประกายสำคัญ จนทำให้ผู้ประกอบการไมซ์รายอื่น ๆ เร่งพัฒนาศักยภาพเพื่อให้ได้รับมาตรฐานนี้ด้วยเช่นกัน”

นับว่าการได้รับการรับรองมาตรฐานสากล ISO และ มอก.ทั้ง 3 ด้าน จะช่วยยกระดับมาตรฐานสถานที่จัดงานของประเทศไทยว่ามีความเพียบพร้อมไม่แพ้สถานที่จัดงานอื่น ๆ ทั่วโลก ทั้งยังมีโอกาสที่จะดึงงานจากต่างประเทศเข้ามาจัดงานที่ประเทศไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีกับประเทศไทยในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ และสังคมต่อไป