กรมศิลป์มั่นใจ รับมือน้ำท่วมโบราณสถานอยุธยาได้ ไม่เสียหายรุนแรง

กรมศิลป์มั่นใจ รับมือน้ำท่วมโบราณสถานอยุธยาได้ ไม่เสียหายรุนแรง

กรมศิลปากรมั่นใจรับมือสถานการณ์น้ำท่วมโบราณสถานจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและบริเวณโดยรอบได้ จะไม่เกิดความเสียหายรุนแรง 

วันที่ 11 ตุลาคม 2565 กรมศิลปากรสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดติดตามสถานการณ์น้ำที่อาจส่งผลกระทบต่อโบราณสถานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยารวมทั้งบริเวณใกล้เคียง และมีความมั่นใจว่าสามารถรับมือสถานการณ์น้ำท่วมโบราณสถานไม่ให้เกิดความเสียหายรุนแรงได้

นายสถาพร เที่ยงธรรม รองอธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า นายพนมบุตร จันทรโชติ ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรมได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกรมศิลปากรติดตาม เฝ้าระวัง และรายงานให้ทราบเป็นระยะเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำที่อาจส่งผลกระทบต่อโบราณสถาน

สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา สรุปสถานการณ์เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2565 ว่าระดับน้ำในแม่น้ำบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ระดับน้ำหน้าโบราณสถานวัดไชยวัฒนารามมีระดับต่ำกว่าระดับน้ำท่วมในปี 2554 อยู่ 45 เซนติเมตร อีกทั้งเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนป่าสักฯจะระบายน้ำเพิ่มมากขึ้น ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะสูงขึ้นอีก 10-15 เซนติเมตร จึงได้เตรียมการรับมือ ดังนี้

1.ในพื้นที่เกาะเมือง ขณะนี้ทางเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยาได้ทำคันป้องกันน้ำไว้แล้ว ซึ่งจะสามารถป้องกันโบราณสถานในเกาะเมืองได้เกือบทั้งหมด (โบราณสถานสำคัญของอุทยานฯ ตั้งอยู่ภายในเกาะเมือง) จะมีเพียงป้อมเพชรและรหัสวิดน้ำในพระราชวังโบราณเท่านั้นที่ถูกน้ำท่วม

2.พื้นที่นอกเกาะเมือง เป็นพื้นที่ที่โบราณสถานได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ทางด้านทิศเหนือและบริเวณริมน้ำมีโบราณสถานได้รับผลกระทบแล้วจำนวน 67 แห่ง แต่ส่วนใหญ่เป็นโบราณสถานที่ได้รับการบูรณะเสริมความมั่นคงไว้แล้ว และถูกน้ำแช่ขังได้โดยไม่กระทบต่อโครงสร้างความมั่นคงของโบราณสถาน โดยจะมีความเสียหายบ้างเล็กน้อยในเรื่องการชำรุดของวัสดุ เช่น อิฐผุกร่อน ซึ่งสามารถสกัดเปลี่ยนได้ เพราะส่วนใหญ่เป็นอิฐใหม่ที่สกัดเปลี่ยนเมื่อครั้งบูรณะ

ในส่วนของโบราณสถานที่ถูกน้ำท่วมในพื้นที่น้ำไหลหรือมีคลื่นมากระทบ เช่น ป้อมเพชร ได้มีการใช้แนวรั้วโบราณสถานและไม้ไผ่ผูกเป็นทุ่นเพื่อลดความแรงจากกระแสน้ำและคลื่นที่อาจสร้างความเสียหายต่อโบราณสถาน

สำหรับโบราณสถานที่ยังไม่ได้รับการบูรณะเสริมความมั่นคง ได้มีการตั้งนั่งร้านเสริมความมั่นคงไว้แล้ว และมีเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบโบราณสถานอยู่เป็นประจำ

3.โบราณสถานสำคัญนอกเกาะเมือง มีการทำงานร่วมกับวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการป้องกันดังนี้ วัดไชยวัฒนารามได้เตรียมการป้องกันขั้นสูงสุด โดยการต่อแผงกันน้ำด้านหน้าวัด เสริมกระสอบทรายบนแนวกำแพงด้านทิศใต้ของวัด และปั้นคันดินบนแนวถนนทางด้านทิศเหนือของวัด โดยจะสามารถป้องกันน้ำได้อีก 65 เซนติเมตร ซึ่งจะสูงกว่าระดับน้ำท่วมสูงสุดในปี 2554 อยู่ 20 เซนติเมตร

วัดธรรมารามได้เตรียมการป้องกันขั้นสูงสุด เสริมแนวกระสอบทรายด้านหน้าและด้านข้างวัดซึ่งจะทำให้สามารถป้องกันน้ำได้อีก 45 เซนติเมตร เท่ากับระดับน้ำท่วมสูงสุดในปี 2554

โบราณสถานสำคัญอื่น ๆ โดยเฉพาะโบราณสถานที่เป็นวัดและมีพระสงฆ์จำพรรษาหรือวัดที่อยู่กลางชุมชน เช่น วัดพุทไธสวรรย์ วัดศาลาปูน วัดพนัญเชิง ได้ประสานกับวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการป้องกันน้ำท่วมแล้ว จะมีการเสริมความสูงของแนวป้องกันน้ำตามระดับน้ำที่สูงขึ้น

ในภาพรวมแล้วคาดว่าอุทกภัยครั้งนี้จะไม่ทำความเสียหายกับโบราณสถานในด้านโครงสร้าง ไม่ทำให้โบราณสถานพังทลาย แต่จะเกิดความเสียหายกับวัสดุก่อสร้างซึ่งสามารถบูรณะฟื้นฟูได้ โดยภายหลังน้ำลดกรมศิลปากรจะเร่งสำรวจความเสียหายเพื่อดำเนินการบูรณะเสริมความมั่นคงต่อไป

นอกจากนี้สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา ได้รับรายงานว่าพนังกั้นน้ำที่วัดปราสาท อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี แตก ส่งผลให้น้ำไหลท่วมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอินทร์บุรีและพื้นที่โดยรอบ ในเบื้องต้นได้เคลื่อนย้ายโบราณวัตถุทั้งหมดไปเก็บรักษาบนชั้น 2 เหลือเพียงชั้นแท่นฐานขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ทัน

และขณะนี้ระดับน้ำยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงขอปิดให้บริการเข้าชม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอินทร์บุรี เป็นการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์น้ำจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ