ชุมชนปากแพรก-โรงงานกระดาษไทย ย้อนวันวานกาญจนบุรี ช่วงสงครามโลก

โรงงานกระดาษไทย
โรงงานกระดาษไทย
ผู้เขียน/ภาพ : ปนัดดา ฤทธิมัต-ชัชพงศ์ ชาวบ้านไร่

“ชุมชนปากแพรก” หรือ “ถนนสายปากแพรก” เป็นชุมชนเก่าแก่ที่สุดของกาญจนบุรี ซึ่งมีอายุกว่า 180 ปี ถือกำเนิดขึ้นจากรัชกาลที่ 3 ทรงย้ายเมืองกาญจน์จากบ้านลาดหญ้า มาที่ปากแพรก

คำว่า “ปากแพรก” เพี้ยนมาจากภาษาจีนว่า “ปากเผ็ก” ที่แปลว่า “ทางแยก” อาคารบ้านเรือนของถนนสายนี้จะตั้งเรียงรายทอดยาวขนานไปกับแม่น้ำแควใหญ่ มีรูปแบบอาคารเป็นเอกลักษณ์ เต็มไปด้วยเรื่องราวประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น สมัยยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และประวัติศาสตร์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

ไฮไลต์เริ่มที่จวนผู้ว่าฯ บ้านเลขที่ 1

ถนนปากแพรกมีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ทางประวัติศาสตร์หลายประการด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการมีอยู่ของสถาปัตยกรรมแบบชิโนโปรตุกีส ซึ่งหลงเหลืออยู่ไม่กี่จังหวัดในประเทศไทย เช่น จันทบุรี และภูเก็ต เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของสงครามเก้าทัพ และสงครามมหาเอเชียบูรพา รวมไปถึงบุคคลสำคัญอีกหลายท่าน

จวนผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี
จวนผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี

ไฮไลต์แรก เริ่มกันที่ จวนผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เป็นบ้านเลขที่ 1 ของถนนปากแพรก จวนแห่งนี้นอกจากมีรูปทรงที่สวยงามแล้ว ในอดีตเมื่อประมาณ 80-90 ปีก่อน ยังมีชั้นใต้ดินและบริเวณโรงเรียนกาญจนานุเคราะห์ที่อยู่ใกล้เคียง สำหรับเป็นคุกเพื่อขังนักโทษทางการเมืองด้วย

ปัจจุบันได้มีการยกเลิกใช้จวนหลังนี้แล้ว เนื่องจากมีการสร้างจวนหลังใหม่ขึ้นได้ประมาณ 4 ปี อาคารหลังนี้จึงถูกส่งมอบสู่สาธารณะ ทำเป็นพิพิธเมืองกาญจน์ บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของจังหวัด

เดินถัดมาอีกไม่ไกลเป็น บ้านสหกุลพาณิชย์ ที่ในอดีตเคยทำธุรกิจค้าขายของป่า จนเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกทหารญี่ปุ่นเข้ายึด และบังคับตั้งเป็นสถานีต่อสู้อากาศยาน เนื่องจากบ้านเป็นทรงตึกสูงซึ่งหายากในสมัยนั้น ทหารญี่ปุ่นจึงนำเอาปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานไปติดตั้งไว้บนดาดฟ้า และทำหลุมหลบภัยใต้ดินไว้อย่างสมบูรณ์แบบ โดยปัจจุบันเหลือเพียงหลุมเดียวเท่านั้นในถนนสายปากแพรกนี้ ที่ทายาทรุ่นที่ 3 ยังคงอนุรักษ์ไว้

บ้านสิทธิสังข์
บ้านสิทธิสังข์

นักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังถนนแห่งนี้ต้องหยุดชมที่ บ้านสิทธิสังข์ อาคารทรงชิโนโปรตุกีส สร้างจากดินห้วยนาคราชที่มีความทนทาน มาถึงปัจจุบันอายุกว่า 100 ปีแล้ว ตัวโครงสร้างของอาคารยังคงเป็นของเดิม เปลี่ยนไปแค่สีที่ทาขึ้นใหม่ ปัจจุบันบ้านหลังนี้ดัดแปลงเป็นร้านกาแฟ ซึ่งถือเป็นไฮไลต์ของถนนปากแพรก ที่นักท่องเที่ยวต้องมาเช็กอิน

สุมิตราคาร โรงแรมแรกของเมืองกาญจน์

ฝั่งตรงข้ามกันคือ โรงแรมสุมิตราคาร โรงแรมแห่งแรกของเมืองกาญจนบุรี เป็นตึกไม้ 2 ชั้นครึ่ง ที่ในสมัยสงครามโลกเคยให้บริการด้วยราคา 1 บาทต่อคืน และถูกใช้เป็นที่พักแรมของทหารญี่ปุ่นในประเทศไทย ปัจจุบันโรงแรมได้ยกเลิกกิจการไปแล้ว กลายเป็นร้านขายอาหารสัตว์สุดธรรมดา แทบไม่น่าเชื่อว่าเคยเป็นที่พักสุดโด่งดังที่สุดแห่งหนึ่งในอดีต

บ้านสิริโอสถ
บ้านสิริโอสถ

ใกล้ ๆ กันนั้นเป็น บ้านสิริโอสถ หรือ บุญผ่อง แอนด์บราเดอร์ บ้าน 3 ชั้นหลังแรกของเมืองกาญจน์ สร้างด้วยเงิน 70,000 บาท ซึ่งถือเป็นจำนวนเงินที่มหาศาลเมื่อ 8 ทศวรรษก่อน เป็นบ้านของ คุณบุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์ ผู้ได้รับยกย่องเป็นวีรบุรุษสงคราม

เนื่องจากได้ทำการค้าขายกับกองทัพญี่ปุ่น จึงมีโอกาสได้เห็นการปฏิบัติอันแสนโหดร้ายต่อเชลยในค่ายทหารญี่ปุ่น คุณบุญผ่องจึงเสี่ยงชีวิตตนเองเข้าไปช่วยเชลยศึกในค่ายทหารหลายครั้ง ปัจจุบันบ้านหลังนี้ปรับเป็นพิพิธภัณฑ์ เพื่อบันทึกเรื่องราวความกล้าหาญของครอบครัวสิริเวชชะพันธ์

มากันที่บ้านของบุคคลสำคัญในช่วงสงครามอีกคนหนึ่ง บ้านรัตนกุสุมภ์ บ้านของทนายทอง ผู้มีบทบาทสำคัญในช่วงสงครามโลกเกี่ยวกับการว่าความ ช่วยต่อสู้คดีให้กับคนไทยที่ถูกทหารญี่ปุ่นจับในสมัยนั้น โดยเฉพาะขบวนการไทยถีบ ที่ถีบน้ำมันและเสบียงของทหารญี่ปุ่นลงจากรถไฟ ซึ่งทนายทองสามารถช่วยให้หลุดพ้นคดีไปได้หลายคน

นอกจากเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ตามบ้านและอาคารหลังต่าง ๆ แล้ว บริเวณสามแยกของถนนปากแพรก ยังเคยเป็นสถานที่ขายบริการทางเพศ หรือกองโสเภณี ที่ซึ่งนายทหารญี่ปุ่นจะเอาหญิงชาวจีนหรือชาวเกาหลีมากักขังไว้เพื่อขายบริการ เนื่องจากแต่ก่อนเป็นบริเวณที่ติดกับท่าน้ำและเป็นจุดจอดเรือ ซึ่งในปัจจุบันได้กลายเป็นถนน เปลี่ยนแปลงสภาพไปตามกาลเวลาโดยไม่เหลือเค้าเดิม

โรงงานกระดาษไทย กาญจนบุรี
โรงงานกระดาษไทย กาญจนบุรี

ถนนสายประวัติศาสตร์ที่คนท้องถิ่นภูมิใจ

ปากแพรกถือเป็นถนนสายประวัติศาสตร์ เป็นความภาคภูมิใจของคนท้องถิ่นรวมถึงคนเมืองกาญจนบุรี ที่ต่างพร้อมใจกันช่วยดูแลและสืบสาน ทั้งสถานที่รวมถึงเรื่องราวต่าง ๆ ให้สมกับเป็นถนนคนเดินที่มีชีวิต

ถัดจากปากแพรกไปไม่ถึง 1 กิโลเมตร ยังคงเป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ นั่นคือ “โรงงานกระดาษไทย กาญจนบุรี”

โรงงานกระดาษแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อปี 2481 โดยวิศวกรและนายช่างจากประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมขนาดมหึมาท่ามกลางโบราณสถาน กำแพงเมืองเก่า ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3

กำแพงเมือง
กำแพงเมือง

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 คณะราษฎรต้องการให้ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรอุตสาหกรรม จึงสร้างโรงงานกระดาษนี้ขึ้นเป็นแห่งที่ 2 ต่อเนื่องจากที่สามเสนในกรุงเทพมหานคร แต่เป็นแห่งแรกที่มีการผลิตครบวงจร และใหญ่ที่สุดในเอเชียขณะนั้น

สาเหตุที่รัฐบาลเลือกกาญจนบุรีเป็นสถานที่ตั้งโรงงาน เนื่องจากระยะทางไม่ไกลจากกรุงเทพฯมากนัก และมีแหล่งวัตถุดิบที่ใช้ทำกระดาษเป็นจำนวนมาก นั่นคือไม้ไผ่

โรงงานแห่งนี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของคนเมืองกาญจนบุรี ที่เดิมมีวิถีชีวิตแบบเกษตรกรรม ทำไร่ ทำนา และค้าขาย มาเป็นสาวและหนุ่มโรงงาน ทำงานใส่ยูนิฟอร์ม เข้ากะ หิ้วปิ่นโต เพราะเครื่องจักรทำงานตลอด 24 ชั่วโมง เกิดการรวมตัวกันของนายช่างชาวเยอรมันและชาวไทยที่สโมสรหน้าโรงงาน มีโทรทัศน์และไฟฟ้าเกิดขึ้นที่นี่เป็นครั้งแรก

โรงงานนี้มีปล่องควันสูงที่เอาไว้ปล่อยแรงดันของความร้อนจากการต้มเยื่อไผ่ เมื่อปล่อยควันออกมาจะมีเสียงคล้ายหวูด ควันและเสียงนี้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยชีวิตผู้คนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อหวูดดังผิดเวลา ทุกคนจะรีบหนีลงหลุมหลบภัย เพราะรู้ดีว่านั่นคือสัญญาณเตือนภัยทิ้งระเบิด

ปัจจุบันสภาพทุกอย่างของโรงงานยังคงเหมือนเดิม ทั้งตัวโครงสร้าง ปล่องควัน เครื่องกำเนิดไฟฟ้า และเครื่องจักรผลิตกระดาษ ซึ่งเหลือเป็นชิ้นสุดท้ายของโลกที่ประเทศไทย แม้ประเทศต้นกำเนิดที่เยอรมนีก็ไม่มี

ถนนคนเดินปากแพรก และโรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรี เป็นอีกหนึ่งสถานที่สำคัญของกาญจนบุรี ในช่วงเวลาสำคัญของสายธารแห่งประวัติศาสตร์ ทั้งความเป็นท้องถิ่นและสากล มีเรื่องราวและมรดกทางวัฒนธรรมอันน่าทึ่งมากมายที่ยังคงรอให้นักท่องเที่ยวทุกคนได้สัมผัสและเรียนรู้