จาก “ยอดดอย” สู่ “ทองหล่อ” โมเดลต้นแบบของ FWD

ธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิตในทุกวันนี้แข่งขันกันหนักหน่วง นอกจากผลตอบแทนที่เป็นธรรม บริการที่เป็นเลิศ การตอบแทนสู่สังคมก็เป็นอีกข้อต่อหนึ่งที่ทุกองค์กรต้องร่วมสร้างสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน

ล่าสุด บมจ.เอฟดับบลิวดี ซึ่งเป็นธุรกิจประกันชีวิตในภูมิภาคเอเชีย มีลูกค้ากว่า 10 ล้านคนใน 10 ประเทศทั่วภูมิภาค ซึ่งปีนี้ FWD ก้าวเข้าสู่ปีที่ 10 และมุ่งเน้นที่จะทำให้ประกันชีวิตเป็นเรื่องง่าย สะดวก รวดเร็ว ผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เข้าใจง่าย

 

โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวช่วย ได้จัดกิจกรรมโมเดลต้นแบบ “โครงการพัฒนาชุมชน” กับชุมชนลาหู่ ดอยปู่หมื่น อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ โดยลงพื้นที่ศึกษาแนวทางการพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

เดวิด โครูนิช ซีอีโอ FWD ประกันชีวิต ย้ำว่า จะสนับสนุนให้สังคมไทยลดความเหลื่อมล้ำ พร้อมสร้างประโยชน์ที่ยั่งยืน โดย 2 ปีที่แล้วได้ร่วมกับชุมชนและหน่วยงานต่าง ๆ คัดเลือกชุมชนต้นแบบ จนเป็นที่มาของโครงการดังกล่าว

พร้อมเลือกผลิตภัณฑ์ชาของชุมชนมาต่อยอด โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยี ร่วมออกแบบนวัตกรรม “โรงอบชาอัจฉริยะ” ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ ใช้ปุ๋ยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเก็บเกี่ยวตามมาตรฐาน ซึ่งปีนี้สมาชิกได้ร่วมกันผลักดัน “ชาดอยปู่หมื่น” ให้ก้าวสู่มาตรฐาน Organic Thailand เพื่อให้ผลิตภัณฑ์พื้นที่มีราคาสูงขึ้น

โครงการเพิ่มมูลค่าชาอัสสัม เป็นการนำใบชาไปต่อยอดและยกระดับในวงกว้าง โดยมี “เชฟชุมพล แจ้งไพร” เชฟมิชลิน 2 ดาว เป็นผู้ปรุงอาหารไทยแบบ fine dining นำใบชามารังสรรค์ 3 เมนูอาหารคาว และ 2 เมนูเครื่องดื่ม วางขายเป็นวาระพิเศษในร้านหวานไทย ทองหล่อซอย 9 สุขุมวิท 55 ตั้งแต่วันนี้-31 พฤษภาคม 2566

โดยมี ปวริศา ชุมวิกรานต์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานภาพลักษณ์และสื่อสารองค์กร FWD ประกันชีวิต ร่วมสร้างสีสันในโครงการนี้กับเชฟชุมพลด้วย ในฐานะ “ทูตอาหารยั่งยืน” จากองค์การสหประชาชาติ (UN) พร้อมเปิดตัวเมนูพิเศษ 3 รายการ คือ ยํายอดชาอัสสัมปลาทอดสมุนไพร ข้าวอบหมูตุ๋นชาแดงอัสสัม และเกี๊ยวซ่ายอดชาปู่หมื่น

พร้อมเครื่องดื่มอีก 3 รายการ คือ ยอดชาขาวพีชเลมอนโซดา และยอดชาขาวมิกซ์เบอรี่โมจิโต้ โดยมี “ใบชาอัสสัม” พืชเศรษฐกิจของชุมชนเป็นส่วนประกอบหลัก ที่พร้อมเสิร์ฟให้กับคนไทยและชาวต่างชาติที่ต้องการชิมรสชาติจากชาออร์แกนิกแท้ ๆ

ขณะเดียวกันก็ต้องการช่วยเหลือสังคมอีกทางหนึ่ง เพื่อให้ชุมชนจากยอดดอยที่ห่างไกลมีโอกาสเข้าถึง “สังคมเมือง” ลดช่องว่างของการตลาด ผ่านรูปแบบการปรุงและแปรรูปอาหารให้ดูน่าชิม มีรสชาติอร่อยและดีกับสุขภาพ