เจาะลึกพฤติกรรม “Silver Age” สูงวัย ไม่เท่ากับ คนแก่

สูงอายุ
ภาพจาก pixabay ใช้เพื่อประกอบเท่านั้น

ส่องเทรนด์ “Silver Age” เจาะลึกพฤติกรรมวัยเก๋า “มีเวลา มีฐานะ มีความทันสมัย” สูงวัย ไม่เท่ากับ คนแก่

วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 บริษัท ซิลเวอร์แอคทีฟ จำกัด ร่วมกับภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจาะลึกพฤติกรรมกลุ่มผู้บริโภคสูงวัย หรือ “Silver Age”

โดยมี “ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล” หัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ “นางสาววรรณา สวัสดิกูล” ประธานบริษัท ซิลเวอร์แอคทีฟ จำกัด พร้อมด้วย “ทนงศักดิ์ ศุภทรัพย์” ดารานักแสดง, “ศิริเพ็ญ โกเมนเอก” จากเพจ Count Up และ “ชุติมา แสนนนท์” จากเพจแต่งให้สวยสไตล์ 50+ ร่วมพูดคุยและสร้างแรงบันดาลใจ

สูงวัยมีหลายแบบ

ผศ.ดร.เอกก์ และ น.ส.วรรณา เผยว่า สถิติในปี 2565 พบว่าประเทศไทยมีประชากรทั้งหมด 66,090,475 คน คิดเป็นประชากรสูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) 12,698,362 คน หรือคิดเป็น 19% และถ้าประเทศไทยมีจำนวนประชากรสูงวัยเทียบกับประชากรทั้งหมด 20% ก็จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุทันที หรือเรียกว่าสังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ ซึ่งไทยมีอัตรการเติบโตทางด้านนี้อย่างรวดเร็ว และคาดว่าจะแตะ 26% ในปี 2573

อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ “มีเวลา มีฐานะ มีความทันสมัย” และจะกลายเป็นโอกาสทางการตลาดสำหรับธุรกิจต่าง ๆ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ ซื้อซ้ำ และบอกต่อกันเองในกลุ่ม ธุรกิจต่าง ๆ จึงต้องวางแผน พร้อมต่อยอด เพื่อตอบสนองความต้องการ พฤติกรรม ทัศนคติ และการใช้ชีวิตของผู้บริโภคกลุ่มนี้

คนไทยถูกทำให้คิดว่าเมื่อเกษียณจะเข้าสู่ผู้สูงวัย แต่จากการสำรวจเชิงลึกพบว่า คนกรุงเทพฯ คิดว่าตัวเองสูงสัยช้ากว่าคนต่างจังหวัด ซึ่งคิดว่าอายุ 55 ปีขึ้นไปก็เริ่มสูงวัยแล้ว ส่วนคนกรุงเทพฯ อายุ 65 ปี ก็ยังไม่รู้สึกว่าตัวเองสูงวัย

อยู่ที่วิถีชีวิตและสิ่งเเวดล้อมรอบตัว ต่างจังหวัดอาจเลี้ยงลูกเลี้ยงหลานเมื่ออายุมาก แต่คนกรุงเทพฯ กลับออกไปเที่ยว สิ่งแวดล้อมจึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ความรู้สึกแก่เข้ามาหาตัวช้า

ผู้สูงวัยไม่ได้เหมือนกันทั้งหมด และสามารถแบ่งได้จากช่วงอายุต่าง ความชอบ ไลฟ์ไตล์ และทัศนคติ มีความหลากหลายมากกว่าที่คิด

ในอดีตมีการแบ่งผู้สูงวัยง่าย ๆ จากอายุ ได้แก่ 50-59 ปี, 60-69 ปี และ 70 ปีขึ้นไป ต่อมาก็มีการแบ่งด้วยไลฟ์สไตล์ แบ่งเป็นกลุ่มสีเขียว คือผู้สูงอายุที่ติดสังคม ยังพร้อมออกไปใช้ชีวิตอยู่, กลุ่มสีเหลือง คือกลุ่มที่ชอบอยู่ติดบ้าน หากิจกรรมทำในบ้าน และ กลุ่มสีแดง คือติดเตียง ที่เริ่มมีปัญหาสุขภาพและใช้ชีวิตลำบาก

หากเจาะลึกลงไปในไลฟ์สไตล์ ก็จะพบว่าผู้สูงวัยสามารถแบ่งได้เป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแรก “วัยเเซ่บ” ที่มองว่าตัวเองต้องดูดีมีสไตล์ ชอบช็อปปิ้ง ซึ่งมีทั้งผู้ชายและผู้หญิง หน้าตา ทรงผม ผิวพรรณ ต้องดูดี

กลุ่มสอง “ฟรีด้อม” คืออยากทำอะไรต้องได้ทำ หาเวลาให้ตัวเอง ทำกิจกรรม ท่องเที่ยว มีไลฟ์สไตล์ผาดโผนมากขึ้น เพราะเชื่อว่าตนเองทำได้ หากอายุมากกว่านี้คงทำไม่ไหว เกิดความสุขเมื่อได้ทำ และได้การยอมรับในสังคมด้วยว่าทำได้จริง

กลุ่มสาม “สุขภาพ” เป็นกลุ่มที่สำคัญและเป็นกลุ่มแมส สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคในปัจจุบัน ตั้งแต่โควิด-19 รวมทั้งไข้หวัดต่าง ๆ ทำให้กลุ่มนี้มองหาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ตอบโจทย์สุขภาพ

กลุ่มสี่ “มั่งคั่ง” ซึ่งหาเงินเก่ง และมีเงินเก็บจากการทำงานมาหลายปี และเลือกจะใช้เงินในการหาความสุขให้ตนเอง

กลุ่มสุดท้าย “เข้าใจยาก” ที่ติดตามและสนใจประเด็นออนไลน์อยู่เสมอ แต่ไม่ค่อยมีรีแอ็กชั่น ไม่โพสต์ ไม่แชร์ แต่ใช้เวลาอยู่กับโทรศัพท์มือถือมากกว่าวัยรุ่นเสียอีก ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่น่าสนใจมาก

silver age
ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล และ นางสาววรรณา สวัสดิกูล

สุขภาพสำคัญที่สุด

สำหรับสิ่งที่สำคัญที่สุดและเป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิตของวัยสูงอายุคือ “สุขภาพ” จากสถิติพบว่ามีการตรวจสุขภาพใหญ่ปีละครั้งถึง 59% โดยสิ่งที่กังวลมากที่สุดคือสิ่งที่เห็นจากภายนอก เข่น ริ้วรอย ผิวหนังเหี่ยวย่น การปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ตามมาด้วยสุขภาพตาที่เริ่มมีปัญหา การป้องกันก่อนรักษาจึงมาแรงมากในช่วง 3 ปีหลัง มีเวลเนสจำนวนมากที่เกิดขึ้น

เรื่องสุขภาพจึงตามมาด้วยการกิน แต่ต้องมาพร้อมกับความอร่อยด้วย “healthy delicious” และต้องไม่แข็งเกินไป ต้องเคี้ยวได้ เพราะเกี่ยวกับสุขภาพฟัน

การออกกำลังกายก็สำคัญมาก “ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอด” การออกกำลังกายไม่เพียงแต่ได้สุขภาพกาย แต่ได้สุขภาพใจ เพราะออกไปพบปะผู้คน เจอสังคมที่แอ็กทีฟมาก เป็นกิจกรรมสานสัมพันธ์กับครอบครัวและเพื่อนฝูง

ส่วน “ทัศนคติ” เป็นสิ่งที่รองลงมาจากสุขภาพ ผู้สูงอายุยังคงแสวงหามุมมองและพร้อมเปิดรับอยู่เสมอ ไม่ได้ปิดกั้นอย่างที่คนรุ่นใหม่เข้าใจกัน เนื่องจากพยายามจะเข้าใจโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

เก็บออม ลงทุนสู่วัยเกษียณ

แน่นอนว่า “health คือ wealth” แต่ “wealth ก็คือ wealth อยู่ดี” แม้จะมีเงินเก็บไว้มาก แต่กลุ่มผู้สูงอายุก็เดือดร้อนใจอยู่ดี เพราะเงินจะเริ่มน้อยลงเรื่อย ๆ เมื่อถึงเวลาเกษียณ การบริหารจัดการด้านการเงินจึงสำคัญ

วัยนี้จะใช้เงินไปกับสิ่งที่มีความเสี่ยงน้อย โดยใช้ไปกับประกันชีวิต ประกันออมทรัพย์ ประกันสุขภาพ 57% เงินฝากประจำดอกเบี้ย 53% ซื้ออสังหาริมทรัพย์ 39% กองทุนระยะยาว 31% เล่นหุ้นระยะสั้น 21% ลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล 6% และลงทุนกับสิ่งของ เช่น กระเป๋า นาฬิกา 4%

นอกจากจะต้องมีเงินแล้ว ยังไม่รู้ว่าต้องมีเงินเท่าไรจึงพอ เนื่องจากอายุยืนยาวขึ้น ในอดีตอยู่ถึงอายุ 80 ปี แต่ปัจจุบันอาจอยู่ได้นานกว่านั้น เงินเก็บจากต้องใช้ 20 ปี ก็เป็น 40 ปี

silver age

ปรับปรุงที่อยู่อาศัย

หลายครั้งการปรับปรุงที่อยู่อาศัยในที่ที่มีผู้สูงอายุเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ ผู้สูงวัยยังเริ่มช้าในส่วนนี้ และคิดว่าการปรับปรุงที่อยู่อาศัยไม่จำเป็น และก็ยังไม่สนใจย้ายไปอยู่ในเวลเนสเท่าไรนัก เพราะเป็นเรื่องใหม่

หากผู้ประกอบการจะขายผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในบ้านสำหรับผู้สูงอายุ ต้องไปขายให้กับคนที่ดูแล ซึ่งมีรายละเอียดจำนวนมาก ประตูต้องเปิดง่าย อ่างล้างหน้าไม่ควรเป็นเซรามิก เพราะล้มแล้วศีรษะอาจกระเเทก ควรเปลี่ยนเป็นยาง

เก้าอี้นั่งอาบน้ำก็สำคัญ เพราะเป็นที่ที่ผู้สูงอายุลื่นบ่อยที่สุด หรือกลางคืนลุกขึ้นมาเข้าห้องน้ำ ขาเหยียบพื้นแล้วไฟต้องเปิดอัตโนมัติ เพราะอาจล้มตอนเดินไปเปิดไฟมืด ๆ

เป็นโจทย์ไปสู่ผู้ประกอบการด้านการออกแบบ ทำอย่างไรให้อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน หรือของที่ใช้ด้านนี้ต้องทำดีไซน์ให้ทันสมัย ดูไม่แก่ ดีไซน์และฟังก์ชั่นใช้งานต้องไปพร้อมกัน

พฤติกรรมการซื้อเปลี่ยนไป

แน่นอนว่าผู้สูงอายุ อาหารเพื่อสุขภาพจะมากขึ้น แต่อีกไฮไลต์หนึ่งคือ จะมีการซื้ออาหารสัตว์เลี้ยงมากขึ้นด้วย เพราะเริ่มมีการเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้นเมื่อถึงวัยนี้ ซึ่งอาจนำไปสู่รูปแคมเปญการตลาดรูแบบใหม่ ๆ

ส่วนของที่ผู้สูงอายุซื้อลดลง คือของที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ครีมเทียม ไข่ไก่ ผงชูรส ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย น้ำมันปรุงอาหาร และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป พูดง่าย ๆ ว่าของอะไรที่แพทย์ให้ลดหรือห้ามกินก็จะไม่ตอบโจทย์ตลาดในด้านนี้ ทั้งนี้ แพ็กเกจจิ้งก็มีส่วนสำคัญในการเลือกซื้อด้วย

silver age

วัยเก๋าแชร์แรงบันดาลใจ

นอกจากจะฟังข้อมูลและการวิเคราะห์ไปแล้ว ภายในงานยังดึงวัยเก๋า 3 คน 3 สไตล์มาร่วมพูดคุยและสร้างบันดาลใจ ได้แก่ “ทนงศักดิ์ ศุภทรัพย์” ดารานักแสดง, “ศิริเพ็ญ โกเมนเอก” จากเพจ Count Up และ “ชุติมา แสนนนท์” จากเพจแต่งให้สวยสไตล์ 50+

ทนงศักดิ์ ดารานักแสดงวัยเก๋ากล่าวว่า วันนี้ให้ความสำคัญกับทุกสิ่งที่ทำ ดีใจทุกเช้าที่ตื่นขึ้นมา ตั้งไมนด์เซตว่าวันนี้ออกไปช่วยเขาแก้ไปปัญหาอะไรได้บ้าง

ส่วนตัวเป็นคนที่รักการนอน แต่ก็ตื่นเช้าเพื่อไปงานวิ่ง ไปเป็นวิทยากร ปฏิบัติธรรม ตั้งแต่เช้ามืด ทุกเรื่องที่เราได้ไปจึงไม่กลัวกับการเจอปัญหา เพราะไมนด์เซตเราตั้งใจออกไปแก้ปัญหาอยู่แล้ว

สำหรับสุขภาพ เป็นคนชอบออกกำลังกายตั้งแต่เด็ก แต่ทุกวันนี้ก็ส่งต่อให้กับคนอื่น มาสร้างแรงบันดาลใจ เนื่องจากเคยประสบอุบัติเหตุใหญ่และภรรยาเสียชีวิตจากมะเร็ง ทำให้เราเห็นว่าสุขภาพสำคัญ

ผมติดเดิน ติดวิ่ง มากกว่าที่จะไปติดเตียง แม้วันหนึ่งจะไปถึงจุดนั้น แต่ก็ขอยืดเวลาสักหน่อย ใช้ช่วงเวลาออกกำลังกายพิจารณาสิ่งที่ทำไปในแต่ละวัน ใช้เวลาอยู่กับตัวเอง แก้ปัญหาจากตัวเอง

ด้าน ศิริเพ็ญ แชร์เคล็ดลับดูเด็กและสุขภาพดีว่า จริง ๆ ไม่มีเคล็ดลับอะไรเลย แค่ทำตัวเองให้มีความสุข อย่าไปคิดเยอะ ถ้าใจไม่มีอะไรติดลบก็จะมีความรื่นรมย์มากขึ้น อยากทำอะไรก็มีความสุข

ไม่สนใจว่าใครจะมองว่าอะไร เป็นเรื่องของทัศนคติ พยายามมีความคิดแง่บวกมากขึ้น เราต้องเป็นผู้สูงอายุที่จิตใจดี อยากแบ่งปัน อยากเป็นคนที่ให้ ดังนั้น เรื่องลบ ๆ ต้องตัดทิ้งออกไป

เราชอบออกกำลังกาย ไม่ใช่แค่สุขภาพอย่างเดียว แต่เป็นความสุข ออกไปหาสังคม หาเพื่อน หาแรงบันดาลใจ เพราะการออกกำลังกายเป็นเรื่องยาก ไลฟ์สไตล์ของแต่ละคนอาจต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือวัยนี้ต้องการความสุข ต้องการสิ่งแปลกใหม่ ทำให้ตัวเองมีชีวิตชีวา

ส่วน ชุติมา ที่ลุกขึ้นมาทำเพจแต่งให้สวยสไตล์ 50+ ในวัยเกษียณ บอกว่า เมื่อก่อนก็เป็นผู้หญิงทำงานคนหนึ่ง ไม่ได้เเต่งตัวแบบนี้ จนวันหนึ่งมีคนถามว่าอายุ 50 เองเหรอ เราจึงย้อนมาดูตัวเอง

จากนั้นจึงค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงตัวเอง ไปเรียนแฟชั่น เรียนสไตลิสต์ จนคนรอบข้างเริ่มชมว่าแต่งตัวเท่และเก๋ จึงเกิดไอเดียว่าถ้าเราเปลี่ยนได้ผู้หญิงทุกคนก็ทำได้ และเกิดเป็นเพจขึ้นมา สิ่งที่เราทำ ทำให้คนอื่นมีความสุขไปกับเราด้วย หัวใจเราก็พองโตขึ้นมา