เจาะลึกพฤติกรรม “Silver Age” สูงวัยมีหลายแบบ ไม่ได้แบ่งแค่ช่วงอายุ

ผู้สูงอายุ
ภาพจาก pexels ใช้เพื่อประกอบเท่านั้น

สูงวัยมีหลายแบบ ไม่ได้แบ่งตามแค่ช่วงอายุเท่านั้น ชวนเจาะลึกพฤติกรรม “Silver Age” ในประเทศไทย “มีเวลา มีฐานะ มีความทันสมัย” โอกาสธุรกิจ ต่อยอดเพื่อรองรับความต้องการและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคกลุ่มนี้

วันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 บริษัท ซิลเวอร์แอคทีฟ จำกัด ร่วมกับภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “Silver Wisdom วัยเก๋าเมกะเทรนด์ เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส” เจาะลึกพฤติกรรมกลุ่มผู้บริโภคสูงวัย หรือ “Silver Age” ในประเทศไทย

โดยมี “ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล” หัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ “นางสาววรรณา สวัสดิกูล” ประธานบริษัท ซิลเวอร์แอคทีฟ จำกัดร่วมพูดคุย

ผศ.ดร.เอกก์และ น.ส.วรรณา เผยว่า สถิติในปี 2565 พบว่าประเทศไทยมีประชากรทั้งหมด 66,090,475 คน คิดเป็นประชากรสูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) 12,698,362 คน หรือคิดเป็น 19% และถ้าประเทศไทยมีจำนวนประชากรสูงวัยเทียบกับประชากรทั้งหมด 20% ก็จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุทันที หรือเรียกว่าสังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ ซึ่งไทยมีอัตราการเติบโตทางด้านนี้อย่างรวดเร็ว และคาดว่าจะแตะ 26% ในปี 2573

ในตลาดประเทศไทย กลุ่มผู้บริโภคสูงวัย ถือว่าเติบโตแบบก้าวกระโดด ประมาณการณ์ว่าในปี 2566 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุมากกว่า 13 ล้านคน หรือเท่ากับ 20% เมื่อเทียบกับจำนวนคนทั้งประเทศ และได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแบบสมบูรณ์ (Aged Society) เรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันไทยติดอันดับ 1 ใน 3 ของประเทศที่กลุ่มผู้สูงวัยเติบโตเร็วที่สุดในโลก ย่อมหมายถึง คนกลุ่มนี้กลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศและเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่สำคัญที่สุด เติบโตเร็วที่สุดก็ว่าได้ นางสาววรรณากล่าว

ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ “มีเวลา มีฐานะ มีความทันสมัย” และจะกลายเป็นโอกาสทางการตลาดสำหรับธุรกิจต่าง ๆ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ ซื้อซ้ำ และบอกต่อกันเองในกลุ่ม ธุรกิจต่าง ๆ จึงต้องวางแผน พร้อมต่อยอด เพื่อตอบสนองความต้องการ พฤติกรรม ทัศนคติ และการใช้ชีวิตของผู้บริโภคกลุ่มนี้

ผู้สูงวัยไม่ได้เหมือนกันทั้งหมด และสามารถแบ่งได้จากช่วงอายุต่าง ความชอบ ไลฟ์ไตล์ และทัศนคติ มีความหลากหลายมากกว่าที่คิด

กราฟิก Silver Age

แบ่งตามอายุ

  • วัย PREPARE คือ อายุ 50-59 ปี เตรียมตัวสู่สูงวัย
  • วัย REPAIR YOLD (Young old) คือ อายุ 60-69 ปี สูงวัยตอนต้น
  • วัย REPAIR LOLD (Late old) คือ อายุ 70 ปีขึ้นไป สูงวัยตอนปลาย

แบ่งตามสภาพทางกายภาพ

  • กลุ่ม GREEN “ติดสังคม” ยังแอ็กทีฟ ใจและร่างกายพร้อมทำกิจกรรมนอกบ้าน ชอบใช้เงิน
  • กลุ่ม YELLOW “ติดบ้าน” ไม่ค่อยสะดวกไปไหน เริ่มอยากใช้ชีวิตอยู่บ้าน ทำกิจกรรมในบ้าน
  • กลุ่ม RED “ติดเตียง” เริ่มมีปัญหาสุขภาพ นอนติดเตียง เคลื่อนไหวลำบาก

แบ่งตามไลฟ์สไตล์

  • “วัยแซ่บ” ต้องดูดีมีสไตล์ ชอบแต่งตัว ช็อปปิ้ง
  • “วัยฟรีดอม” มีอิสระทางเวลา อยากทำอะไรต้องได้ทำ
  • “วัยอะไหล่หายาก” ให้ความสำคัญกับสุขภาพที่สุด สุขภาพต้องมาก่อน ไม่ต้องรอให้หมอบอก
  • “วัยมั่งคั่ง” ทำงานมาทั้งชีวิต หาเงินเก่ง มีเงินเก็บ เลือกใช้เงินเพื่อซื้อความสุขตัวเองในวัยนี้
  • “วัยเข้าใจยาก” ตามกระแสออนไลน์อยู่ตลอด แต่ไม่โพสต์ ไม่แชร์ รู้ทุกเรื่อง ใช้เวลาอยู่กับโทรศัพท์มือถือแทบทั้งวัน มากกว่าวัยรุ่น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง