“ปาป้า-ทูทู่” มาสคอตพลิกโฉมงานเทศกาลเก่าแก่ด้วยพลังของ “คนรุ่นใหม่”

ปาป้า-ทูทู่

คุยกับนักออกแบบ “ปาป้า-ทูทู่” มาสคอตปลาทูสุดน่ารักที่เป็นไวรัลบนโลกออนไลน์ หนึ่งในจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญของคนรุ่นใหม่ที่ช่วยพลิกโฉมให้งานเทศกาลเก่าแก่ในจังหวัดเป็นที่รู้จักมากขึ้น

วันที่ 13 ธันวาคม 2566 ช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่เช่นนี้คงเป็นช่วงเวลาของการจัดงานเทศกาลน้อยใหญ่มากมาย ซึ่งหนึ่งในงานเทศกาลประจำปีที่คนรักฟู้ดเฟสติวัลเคยได้ยินชื่อเสียงเรียงนามกันมาบ้างคงจะเป็น “เทศกาลกินปลาทูและของดีเมืองแม่กลอง” ของจังหวัดสมุทรสงคราม ที่ชู “ปลาทู” ของดีประจำจังหวัดที่โด่งดังด้วยสโลแกน “หน้างอคอหัก” เป็นจุดขายสำคัญ

โดยงานในปีนี้จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 8-17 ธ.ค. 2566 เวลา 08.00-21.00 น. ณ ศาลากลางจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นการจัดงานครั้งที่ 25 ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ปลาทูแม่กลองและผองเพื่อน”

แม้ว่าจะเป็นการจัดงานเทศกาลประจำปีเฉกเช่นที่ผ่านมา แต่ในปีนี้กลับมีความพิเศษที่พลิกโฉมจากงานครั้งก่อนหลายอย่าง โดยเฉพาะสินค้าและอาหารที่ตกผลึกมาจากไอเดียของคนในพื้นที่ เช่น ไอติมเข่งปลาทู ที่เป็นไวรัลบนโลกออนไลน์ รวมถึงไฮไลต์พิเศษอย่าง “ปาป้า-ทูทู่” (Plaplatootoo) มาสคอตปลาทูสุดน่ารักที่ช่วยสร้างสีสันและความสดใสภายในงานได้เป็นอย่างดี

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “ภัทรพงศ์ ชูสุทธิสกุล” ผู้ออกแบบมาสคอต “ปาป้า-ทูทู่” ที่เกิดและเติบโตในเมืองแม่กลองในหลากหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวการถือกำเนิดของปาป้า-ทูทู่ และการพลิกโฉมงานเทศกาลเก่าแก่ประจำจังหวัดด้วยพลังของคนรุ่นใหม่

ปาป้า-ทูทู่

Q : จุดเริ่มต้นของ “ปาป้า-ทูทู่”

ปาป้า-ทูทู่ เริ่มจากการประกวด Visual Character Art ของ CEA (สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์) ในปี 2564 ซึ่งเขามีโจทย์ว่าให้ออกแบบมาสคอตที่มีความเป็นไทย ผมก็เลยนึกถึงปลาทูแม่กลองที่จังหวัดบ้านเกิด เพราะว่าปลาทูเป็นสิ่งที่ทุกคนรู้จักอยู่แล้ว

อีกทั้งแบรนด์ยังเข้มแข็งมาก ๆ พูดถึงปลาทูแม่กลองก็ต้องหน้างอคอหัก อยู่ในเข่ง ตัวสั้น ครีบเหลือง หางเหลือง ลักษณะเด่นชัดมาก ๆ จนผมเอาไปดีไซน์ต่อได้ง่าย ส่วนกลองที่ติดอยู่บนหัวก็เป็นกิมมิกที่มาจากสัญลักษณ์ของจังหวัดสมุทรสงครามที่เป็นกลองลอยน้ำ

สตอรี่ที่ผมวางไว้ให้ปาป้า-ทูทู่ คือ “ปาป้า” เป็นเอเลี่ยนมาจากต่างดาวแล้วก็มีหุ่นยนต์ AI อยู่บนหัวที่ชื่อว่า “ทูทู่” คอยปกป้องและช่วยเหลือปาป้าในด้านต่าง ๆ ทีนี้ปาป้าก็เดินทางมาสำรวจทรัพยากรที่โลกและพบกับจังหวัดสมุทรสงครามในแผนที่ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับปลาทูที่เหมือนกับพ่อของเขา จึงเกิดความสนใจที่จะมาสำรวจที่นี่

พอมาสำรวจแล้วก็พบกับบรรยากาศที่ดี ผู้คนที่น่ารัก อาหารที่อร่อย จนเกิดความรู้สึกหลงรักแล้วตัดสินใจอาศัยอยู่ที่นี่ต่อ เพื่อเป็นตัวแทนในการส่งต่อเรื่องราวดี ๆ ของจังหวัดสมุทรสงครามให้กับทุกคน

Q : “ปาป้า-ทูทู่” เป็นมากกว่ามาสคอต

พอผมสร้างแคแร็กเตอร์ขึ้นมาก็อยากให้เป็นที่รู้จัก จึงตัดสินใจเปิดเพจเฟซบุ๊ก “Plaplatootoo” ร่วมกับเพื่อนชาวแม่กลองอีกคนหนึ่งที่เป็นช่างภาพอิสระ ทำคอนเทนต์ที่ชื่อว่า “ปาป้า-เพลินเพลิน“ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับปาป้า-ทูทู่ ผ่านการสร้างสตอรี่บนภาพถ่าย ตอนนั้นเพื่อนรับหน้าที่ถ่ายภาพ ส่วนผมก็ทำหน้าที่วางสตอรี่บอร์ดและวาดแคแร็กเตอร์ปาป้า-ทูทู่ลงไปในภาพ

คอนเทนต์ที่ทำก็มีหลากหลาย มีโอกาสได้ไปสัมภาษณ์ผู้ประกอบการและคนเก่ง ๆ ในแม่กลอง เพื่อพูดคุยถึงแนวคิดและมุมมองการใช้ชีวิต ใครที่คุ้นเคยกับงานปลาทูจะรู้ว่างานนี้มีมาสคอตประจำงานทุกปี ผมได้คุยกับคนที่ออกแบบมาสคอตงานปลาทูในช่วง 16 ปีที่ผ่านมา เขาก็ดีใจที่คนรุ่นใหม่กลับมาให้ความสนใจงานเทศกาลในพื้นที่ หรือแม้แต่แม่ผมก็รักปาป้า-ทูทู่มาก เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้ผมกลับบ้านบ่อยขึ้น

อย่างช่วงโควิดที่อัมพวาเงียบเหงามาก ๆ เราก็ทำคอนเทนต์ผ่านภาพถ่ายเป็นปาป้า-ทูทู่ไปนอนเหงา ๆ ตามสถานที่ต่าง ๆ ตอนนั้นก็เป็นกระแสไวรัลอยู่ช่วงหนึ่ง หรืออย่างช่วงใกล้งานปลาทูผมกับเพื่อนก็ทำคอนเทนต์โปรโมทเป็นมาสคอตปาป้า-ทูทู่ไปเดินทัวร์ตามสถานที่ต่าง ๆ ในแม่กลอง พอคนเข้ามาดูกับแชร์กันเยอะมาก ๆ ก็เกิดเป็นกระแสไวรัล “ปาป้าฟีเวอร์”

ปาป้า-ทูทู่

Q : การเข้ามามีส่วนร่วมกับ “เทศกาลกินปลาทูฯ”

ต้องย้อนกลับไปปี 2564 ที่ผมเริ่มทำเพจเฟซบุ๊กปาป้า-ทูทู่ใหม่ ๆ มีโอกาสได้รู้จักกับพี่ “ทสม์ เจริญช่าง” คนรุ่นใหม่ที่กลับไปทำธุรกิจที่บ้านเกิด เพราะผมไปสัมภาษณ์เขาเกี่ยวกับคาเฟ่และสวนมะม่วงหาวมะนาวโห่ที่เขาทำ เพื่อทำคอนเทนต์โปรโมตในเพจ ตอนนั้นก็ได้พูดคุยกัน เขามีความสนใจในไอเดียและแคแร็กเตอร์ของผม ซึ่งเราก็ keep connection กันเรื่อยมา

จนกระทั่งเขาได้เป็นประธาน YEC (Young Entrepreneur Chamber of Commerce) หรือกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่หอการค้าจังหวัดสมุทรสงคราม และเป็นประธานจัดงานปลาทูในปีนี้ เขาก็มาทาบทามผมเรื่องการนำปาป้า-ทูทู่มาใช้เป็นมาสคอตของงาน จากนั้นก็ได้คุยคอนเซ็ปต์กัน ซึ่งธีมงานคือปลาทูแม่กลองและผองเพื่อน ผมเลยได้โจทย์ในการออกแบบแคแรกเตอร์อื่นเพิ่มเติมจนกลายเป็นแก๊ง “แม่กลองเรนเจอร์” ขึ้นมา

ซึ่งแก๊งแม่กลองเรนเจอร์เป็นเหมือนแก๊งรวมของดีประจำจังหวัดสมุทรสงคราม มีปาป้า-ทูทู่ที่ได้แรงบันดาลใจจากปลาทูแม่กลอง น้องหอยหลอดที่เป็นเด็กขี้อาย คลุมผ้าห่มทั้งตัว เล่นกับกิมมิกที่จับยากเหลือเกิน น้องมะพร้าวตัวอ้วนจ้ำม้ำ น้องลิ้นจี่ น้องแมวสวมหมวกส้มโอ น้องหิ้งห่อย และน้องเสน่ห์จันทร์ เพื่อสื่อถึงการอนุรักษ์ขนมไทยของอุทยาน ร.2 หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดสมุทรสงคราม

Q : ภาพรวมของ “เทศกาลกินปลาทูฯ” ในปีนี้

โดยปกติงานปลาทูเป็นงานเทศกาลระดับจังหวัด ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ แต่คนที่เป็นแม่งานคือประธานหอการค้าจังหวัด มีการคุยกับ อบจ. เรื่องสถานที่จัดงาน มีกลุ่มสาระในสวนที่เป็นกลุ่มจิตอาสาเข้ามาพัฒนาชุมชน มีทีมของ สส. เข้ามาช่วยด้วย แต่ความพิเศษของปีนี้คือทีม YEC เข้ามาเป็นประธานในการจัดงาน

ความเปลี่ยนแปลงของงานในปีนี้ คือการพลิกโฉมและเพิ่มสีสันให้กับงานที่มาจากไอเดียของคนรุ่นใหม่ ซึ่งพี่ทสม์ที่เป็นประธาน YEC ตั้งใจให้งานในปีนี้เป็นฟู้ดเฟสติวัลรวมของดีของจังหวัดสมุทรสงคราม ไม่ได้มีแค่เมนูที่ทำจากปลาทูกว่า 150 เมนูเหมือนแต่ก่อน แต่มีร้านอาหารและคาเฟ่ต่าง ๆ เข้าไปขายด้วย เช่น ไอติมเข่งปลาทู คุกกี้รูปปลาทู ทำให้อาหารในงานมีความหลากหลาย อีกทั้งยังมีการจัดผังงานรูปแบบใหม่ให้เดินเที่ยวงานสะดวกขึ้น เพิ่มแลนด์มาร์กในการถ่ายรูป แม้จะต้องตัดจำนวนร้านค้าบางส่วนที่เป็นรายได้หลักของงานออกไป

ซึ่งรูปแบบงานในปีนี้ที่โมเดิร์นหรือทันสมัยขึ้น ต้องยกความดีความชอบให้พี่ทสม์เลย เพราะเขาเป็นคนวางรูปแบบงานทั้งหมด และเป็นตัวแทนเข้าไปคุยกับผู้ใหญ่ว่าทำไมต้องจัดงานในลักษณะที่ต่างจากเดิม ปรับความเข้าใจของทั้งสองฝ่ายให้ตรงกัน เพราะเราเข้าใจว่าผู้ใหญ่ก็มีความเชื่อมั่นในแบบของตัวเอง รวมถึงปัจจัยที่ทำให้งานปลาทูเป็นที่รู้จักมากขึ้น ก็มาจากการที่พี่ทสม์ไปออกสื่อตามรายการต่าง ๆ ด้วย

ปาป้า-ทูทู่

Q : สิ่งที่อยากเห็นใน “เทศกาลกินปลาทูฯ” ครั้งต่อไป

งานปลาทูปีนี้สร้างมูฟเมนต์ที่ดีมาก ๆ แล้ว ปีหน้าก็คงอยากเห็นอะไรแบบนี้อีก แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนในหลาย ๆ ประเด็น ถ้าปีหน้ามีการเปลี่ยนทีมทำงานก็ต้องดูว่าทีมใหม่เขาจะทำอย่างไรต่อไป อาจจะใช้ปาป้า-ทูทู่เป็นมาสคอตต่อหรือไม่ใช้ก็ได้ เพราะปาป้า-ทูทู่เป็นลิขสิทธิ์ของผมที่ให้ใช้ในงานโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

แต่สิ่งที่ผมอยากเห็นกับงานปลาทูมากที่สุด คือการที่งานปลาทูกลายเป็นจุดหมายการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติ อยากให้ชาวต่างชาติรู้จักงานปลาทูและเมืองแม่กลอง ผมรู้ว่ากว่าจะไปถึงเป้าหมายตรงนั้นยังอีกไกล ซึ่งเราต้องทำการบ้านในการจัดงานมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของงบประมาณสนับสนุน หรือแม้แต่การอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวในด้านต่าง ๆ ก็ตาม