สมุทรสาคร เปิดตัวกางเกงปูก้ามดาบ โชว์อัตลักษณ์ศิลปะ วิถีชีวิต ระบบนิเวศ

กางเกงปูก้ามดาบ
ภาพจาก Sakhon Guide By อบจ.สมุทรสาคร

องค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร เปิดตัว “กางเกงปูก้ามดาบ” โชว์อัตลักษณ์ทางศิลปะ วิถีชีวิต และระบบนิเวศ หวังผลักดันเป็นกางเกงลายจังหวัด ต่อยอดไปสู่การผลิตสินค้า

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 “องค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร” (อบจ.สมุทรสาคร) ได้เปิดตัว “กางเกงปูก้ามดาบ” ทำจากผ้าไหมอิตาลียืดหยุ่นและคงทน แสดงอัตลักษณ์ทางศิลปะ วิถีชีวิต และระบบนิเวศของสมุทรสาคร “เมือง 3 น้ำ”

เพจเฟซบุ๊กSakhon Guide By อบจ.สมุทรสาคร ระบุว่า อบจ.สมุทรสาครเปิดตัวกางเกงปูก้ามดาบ  โดยลวดลายกางเกงถูกออกแบบให้โชว์อัตลักษณ์ทางศิลปะ วิถีชีวิตและระบบนิเวศของสมุทรสาคร ผ่านภาพวาดลายเส้นพิมพ์คมชัด สวยงาม ติดแน่นกับเนื้อผ้าไม่ลอก และเพิ่มคุณภาพทนทานของกางเกง โดยการใช้ผ้าไหมอิตาลี (Italian Silk) ซึ่งมีความยืดหยุ่น และผิวเรียบเป็นเงางาม แทนผ้าเรยอน (Rayon) อย่างกางเกงช้างทั่วไป ซึ่งมักจะมีปัญหาเรื่องความคงทนหรือเป้าแตก

โดยคาดหวังผลักดันให้เป็นกางเกงลายจังหวัดสมุทรสาคร หรือช่วยจุดประกายไอเดีย เป็นจุดเริ่มต้นต่อยอดไปสู่การผลิตสินค้าต่อไป ทั้งนี้ลวดลายต่าง ๆ บนกางเกงจะมีเรื่องเล่าอันแสดงถึงอัตลักษณ์ทางศิลปะ วิถีชีวิตและระบบนิเวศของสมุทรสาคร ซึ่งประกอบด้วย

ลายป่าชายเลน

“ลายป่าชายเลน” เป็นลวดลายของต้นโกงกาง สัญลักษณ์แห่งพืชพันธุ์ป่าชายเลน บนเส้นโค้งลงล่างเป็นตัวแทนของพื้นที่น้ำท่วมถึงอย่างชายเลน และหยดน้ำที่แสดงถึงความชุ่มชื้น ประกอบกันเป็นป่าชายเลน แหล่งอาหารสำคัญของท้องสมุทร

ลายคลื่นน้ำ 3 ระลอก

“ลายคลื่นน้ำ 3 ระลอก” เป็นลวดลายของคลื่นน้ำผสานเข้ากับลายเส้นตัดแหลมคล้ายลายกระหนก จำนวน 3 ระลอก ตลอดแนวชายฝั่ง แสดงถึงความอุดสมบูรณ์ของทะเล ความท้าทายของคลื่นลมที่มีต่อวิถีชีวิตการประมงอันนำมาซึ่งอาหารทะเล และความเป็นพื้นที่ติดทะเล ซึ่งติดกับทะเลตลอดแนวชายฝั่งจากตะวันตกสุดของจังหวัด จนถึงตะวันออกสุดของจังหวัด

ลายปูก้ามดาบตัวเล็กสลับกับต้นไม้ชายเลน

“ลายปูก้ามดาบตัวเล็กสลับกับต้นไม้ชายเลน” เป็นลวดลายแสดงถึงความสำคัญของปูก้ามดาบในระบบนิเวศป่าชายเลน โดยปูก้ามดาบนอกจากจะเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนเช่นเดียวกับปลาตีนแล้ว ยังมีหน้าที่เสริมในการเป็น “เทศบาล-ผู้เฝ้ายาม-ผู้ผลิตอาหาร” แห่งป่าชายเลนด้วย

โดยปูก้ามดาบจะกินซากพืชซากสัตว์เป็นอาหาร และผ่านกระบวนการย่อยสลาย ขับถ่ายออกมาเป็นมูล ซึ่งเปี่ยมด้วยคุณค่าทางสารอาหารสำหรับสัตว์ทะเลขนาดเล็ก ๆ และเมื่อถูกน้ำทะเลชะล้างก็จะสลายตัวเป็นอาหารให้แก่เหล่าแพลงตอน ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของห่วงโซ่อาหารอีกด้วย อีกทั้งปูก้ามดาบยังเป็นสัตว์ที่มีสัญชาตญาณพิเศษ แสดงพฤติกรรมปิดปากหลุม กลายเป็นการเตือนภัยก่อนน้ำขึ้นด้วย

ลายคลื่นน้ำ 3 เส้น

“ลายคลื่นน้ำ 3 เส้น” เป็นลวดลายของคลื่นน้ำจำนวน 3 เส้น แสดงถึงพื้นที่และสมญานาม “เมือง 3 น้ำ” ประกอบด้วย น้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย ซึ่งเป็นพื้นฐานของการทำเกษตรและประมงอันหลากหลายในพื้นที่

กางเกงปูก้ามดาบ
ภาพจาก Sakhon Guide By อบจ.สมุทรสาคร

ลายจักรีประยุกต์และเลขมงคล

“ลายจักรีประยุกต์และเลขมงคล” หรือลายดอกเดซี่ เป็นลวดลายของช่อดอกเดซี่ในสไตล์ของลวดลายที่นิยมวาดลงบนเครื่องเบญจรงค์ ซึ่งเรียกกันว่า “ลายจักรี” ซึ่งมีที่มาจากการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงมีพระราชดำริให้วาดลายดอกเดซี่บนเครื่องเบญจรงค์ เพื่อมอบเป็นที่ระลึกแก่เชื้อพระวงศ์ จึงเรียกชื่อลายเครื่องเบญจรงค์ที่เขียนด้วยลายดอกเดซี่ว่า “ลายจักรี”

อีกทั้งลายจักรียังได้รับการคัดเลือกให้เป็นลายเสื้อประจำจังหวัดสมุทรสาครไปแล้วด้วย ในกางเกงปูก้ามดาบนี้ จึงได้ออกแบบประยุกต์ลายจักรีดั้งเดิมและนำเสนอใหม่ โดยได้นำช่อและดอกเดซี่มาเกี่ยวกระหวัดกันเป็นรูปเลข 8 ซึ่งเป็นเลขมงคลตามความเชื่อของชาวไทยเชื้อสายจีน

ลายปูก้ามดาบใหญ่

“ลายปูก้ามดาบใหญ่” เป็นปูก้ามดาบตัวใหญ่ เห็นเด่นชัด ซึ่งทำท่าทางคล้ายการแสดงความรักแบบเกาหลี เป็นตัวแทนของการรณรงค์ให้พวกเราช่วยกันบำรุงรักษาและดูแลระบบนิเวศป่าชายเลนให้คงอยู่กับพวกเราตลอดไป

ลายพิกุลประยุกต์

ลายพิกุล หรือลายพิกุลทอง เป็นอีกหนึ่งลวดลายโบราณที่นิยมวาดลงบนเครื่องเบญจรงค์ ซึ่งมีประวัติมายาวนาน ผ่านกาลเวลามาจนกระทั่งในปัจจุบัน เครื่องเบญจรงค์กลายเป็นสินค้า OTOP ระดับ 5 ดาว และยังเป็นศิลปะหัตกรรมที่สร้างชื่อเสียงให้แก่จังหวัดสมุทรสาครเป็นอย่างมาก

โดยการใช้ลายพิกุลประยุกต์นั้นได้ออกแบบขึ้นใหม่โดยใช้แรงบันดาลใจจากลายพิกุลเดิม เพื่อแสดงถึงความอัศจรรย์ของเส้นทางการเดินทางผ่านกาลเวลาอันแสนนานของเครื่องเบญจรงค์โบราณสู่สินค้าสร้างชื่อสมุทรสาคร และในการประยุกต์ลายใหม่นั้นได้ออกแบบให้กลีบดอกแต่ละกลีบมีสัญลักษณ์ลายเส้นคล้ายเครื่องหมาย infinity 2 ชุดที่เกี่ยวกระหวัดไว้ด้วยกัน

แสดงถึงวิถีชีวิตที่ดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ และการเติบโตของสังคมที่สามัคคี ร่วมไม้ร่วมมือ พึ่งพาอาศัยกันของคนในชุมชน ในเส้นกรอบของกลีบดอกใหญ่ที่คล้ายใบโพธิ์อันเป็นตัวแทนของพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาหลัก และกลีบดอกจำนวน 4 กรอบนั้นเพื่อสื่อความหมายถึงความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมอันประกอบด้วย 4 กลุ่มชาติพันธุ์ ที่เข้ามาอยู่อาศัยทำกินต่างยุคต่างสมัยกัน แต่ทุกกลุ่มต่างอาศัยอยู่ในดินแดน “สาครบุรี” ประกอบด้วย ไทยพื้นถิ่น ไทยจีน ไทยรามัญ และไทยทรงดำ ซึ่งต่างช่วยกันขับเคลื่อนให้สมุทรสาครเจริญก้าวหน้าอย่างในทุกวันนี้

และข้างกลีบดอกจะมีรูปหยดน้ำ แสดงถึงวิถีชีวิตของผู้คนที่ใกล้ชิดกับสายน้ำ ในขณะเดียวกัน ก็มีลายพิกุลประยุกต์ขนาดเล็กอยู่ข้าง ๆ กันอีกที หมายถึงความร่วมมือและการอยู่ร่วมกันของชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานเป็นแรงงานอยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองของการพัฒนาเช่นกัน

ลายประจำยาม

ลายประจำยาม เป็นลายไทย พื้นฐานอีกประเภทหนึ่งที่นิยมวาดลงบนเครื่องเบญจรงค์ โครงสร้างของลายจะอยู่ในสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีลักษณะคล้ายดอกไม้สี่กลีบ เป็นลายที่มีลักษณะวิจิตรคล้ายลายกระหนก จึงเป็นลายที่แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ศิลปะไทยได้อย่างสวยงาม

กางเกงปูก้ามดาบ
ภาพจาก Sakhon Guide By อบจ.สมุทรสาคร