
ปิดฉากลงไปแล้วอย่างยิ่งใหญ่ท่ามกลางบรรยากาศที่เต็มอิ่มไปด้วยความรู้ ความสนุก และความสุข สำหรับงาน “Knowledge Book Fair 2024 เทศกาลอ่านเต็มอิ่ม” มหกรรมความรู้ระดับประเทศซึ่งสำนักพิมพ์มติชนจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 เมื่อ 16-18 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ณ มิวเซียมสยาม ตลอดระยะเวลา 3 วัน บรรดานักอ่านเข้าร่วมล้นหลาม
ครบครันทุกมิติแห่งความรู้ที่มาพร้อมกับความสนุก ไม่ว่าจะเป็นคาราวานหนังสือจาก 16 สำนักพิมพ์ การฟังทอล์กความรู้สุดเข้มข้นในหัวข้อต่าง ๆ จากกว่า 40 วิทยากรชั้นแนวหน้าของเมืองไทย วอล์กทัวร์กับผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ เวิร์กช็อปฮาวทูสร้างสรรค์พร้อมด้วยการพูดคุยเพื่อฮีลใจ
นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงคอลเล็กชั่นของสะสมสมัย 2475 โดยผู้เข้าร่วมงานทุกคนยังได้เต็มอิ่มไปกับ 50 ร้านอาหารดังที่การันตีความอร่อยโดยเส้นทางเศรษฐี พร้อมฟังดนตรีในสวนยามเย็นกันแบบใจฟู
ทั้งหมดนี้จึงทำให้ Knowledge Book Fair 2024 เทศกาลอ่านเต็มอิ่ม นั้นเต็มอิ่มสมชื่อทั้ง “อาหารสมอง-อาหารกาย-อาหารใจ” โดย “ประชาชาติธุรกิจ” ได้เก็บบรรยากาศอันอบอวลตลอดระยะเวลา 3 วันที่เพิ่งจบลงไปมาฝากกัน
อ่านเต็มอิ่ม ส่งต่อ “ความรู้” สู่ “ความคิด”
สำหรับเทศกาลอ่านเต็มอิ่มในวันแรก เมื่อ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้รับเกียรติจาก “น.ส.ปานบัว บุนปาน” กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ตัวแทนจาก 15 สำนักพิมพ์ และพันธมิตรเข้าร่วมในพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ
โดย “นายจรัญ หอมเทียนทอง” กรรมการยุทธศาสตร์พัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติสาขาหนังสือ อดีตนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย และเจ้าของสำนักพิมพ์แสงดาว ให้เกียรติกล่าวเปิดงาน
นายจรัญกล่าวว่า งาน Knowledge Book Fair 2024 เทศกาลอ่านเต็มอิ่ม เป็นการส่งต่อ “ความรู้” ไปสู่ “ความคิด” สังคมไทยเป็นสังคมที่ใช้ความคิดน้อย เมื่อคิดน้อย ปัญหาสังคมไทยจึงเยอะ ความคิดเกิดจากความรู้ และความรู้เกิดจากการอ่าน ซึ่งการอ่าน 70% มาจาก “หนังสือ” งานครั้งนี้จึงเป็นงานความรู้ เมื่อเราอ่านจะเกิดความรู้ กลายเป็นความคิด เมื่อเรามีความคิดแล้วจะสามารถเเปลงเป็น “ซอฟต์พาวเวอร์” ได้
“งาน Knowledge Book Fair 2024 เทศกาลอ่านเต็มอิ่ม ไม่ได้มีแค่ความรู้อย่างเดียว แต่มีความบันเทิงด้วย สุดสัปดาห์นี้จึงเป็นสุดสัปดาห์ที่จะอบอวลไปด้วยความสุข ความรู้ และอาหาร ประเทศเราจะผ่านทุกอย่างได้ถ้าทุกคนมีความคิด” นายจรัญกล่าว
ความรู้ ความสนุก อัดแน่น 3 วันเต็ม
ตลอด 3 วันที่ผ่านมามีกิจกรรมที่อัดแน่นไปด้วยความรู้และความสนุกมากมาย อาทิ “Book Walk นิราศวัง-วัด-พระนคร” โดยวันแรก “ปรามินทร์ เครือทอง” นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ได้พาชมอันซีนอาคารมิวเซียมสยามตั้งแต่ชั้นใต้ดินจนถึงห้องลับใต้หลังคาใน “นิราศวัง”
ต่อด้วย “นิราศวัด” ในวันที่สอง “ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ” ได้พานักอ่านเดินเยี่ยมชมวังสราญรมย์ สวนสราญรมย์ และวัดราชประดิษฐ์ พร้อมบอกเล่าเกร็ดที่น่าสนใจของแต่ละสถานที่แบบเอ็กซ์คลูซีฟ
และวันที่สาม “นิราศพระนคร” โดย “ปติสร เพ็ญสุต” นักวิชาการอิสระด้านโบราณคดี ได้พาเดินเลียบคลองคูเมืองเดิม พร้อมเล่าประวัติศาสตร์สถานที่ต่าง ๆ แบบเจาะลึก เช่น โรงเรียนราชินี อาคารริมถนนอัษฎางค์ และอาคารหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน
สำหรับเวทีทอล์กก็เข้มข้นไม่แพ้กัน อาทิ วันแรกเปิดด้วย “Sujit’s Talk : ไทย ๆ เริ่มในอโยธยา (คนไทย, ภาษาไทย, อักษรไทย)” วิทยากรโดย “สุจิตต์ วงษ์เทศ” ซึ่งได้อธิบายถึงจุดกำเนิดความเป็นไทย อักษรไทย ภาษาไทย ไว้ว่า เริ่มต้นที่อโยธยาไม่ใช่สุโขทัยแบบประวัติศาสตร์กระแสหลัก แต่เนื่องจากประวัติศาสตร์กระแสหลักกล่าวว่า สุโขทัยคือราชธานีแห่งแรก ทำให้สิ่งเกี่ยวข้องกับความเป็นไทยถูกเชื่อว่าเกิดขึ้นในสมัยสุโขทัย
วันที่สองก็คนแน่นเช่นเคย กับ “Man Suang Talk : เผยความลับ ณ สวรรค์จำลอง” ที่ได้ “กฤษดา วิทยาขจรเดช” ผู้กำกับภาพยนตร์ และ “นักรบ มูลมานัส” มาเป็นวิทยากรร่วมพูดคุยถึงเบื้องลึกเบื้องหลังของแมนสรวง ภาพยนตร์สุดฮอตในปี 2566
ในวันเดียวกัน “Book Launch : เปิดเรื่องลับเมื่อจอมพล ป. ลี้ภัย” วิทยากรโดย “ประดาป พิบูลสงคราม” “ชาญวิทย์ เกษตรศิริ” “ประเสริฐ ศิริ” และ “ณัฐพล ใจจริง” ได้มาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญเมื่อ “จอมพล ป. พิบูลสงคราม” ต้องลี้ภัยการเมืองด้วยการนั่งเรือข้ามไปเกาะกง ทั้งรายชื่อวิทยากรและข้อมูลที่อัดแน่นจึงทำให้มีผู้ฟังอย่างล้นหลาม
อีกสักเวทีในวันที่สาม กับ “Book Launch : The Lost Forest ป่าที่สูญหาย-อากาศที่ถูกทำลาย” วิทยากรโดย “วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์” ซึ่งได้มาเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับผลงานใหม่ล่าสุด “The Lost Forest : ประวัติศาสตร์ (การทำลาย) สิ่งแวดล้อมไทย และสงครามแย่งชิงทรัพยากร” ในวันที่สิ่งแวดล้อมคือเรื่องที่สำคัญต่ออนาคตคนไทยทุกคน
นอกจากเวทีทอล์กสุดเข้มข้นที่ยกตัวอย่างไปนั้น ยังมีกิจกรรม “Book Healing” ซึ่งเป็นการพูดคุยเพื่อฮีลใจและรู้จักตัวเองให้ดีขึ้น เริ่มที่วันแรก “Self Love อ้อมกอดใจ” โดย “ครูเม-เมริษา ยอดมณฑป” ผู้เขียนหนังสือ “Self-Love, First กอดใจไว้ก่อน” ที่มาแชร์แรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือและวิธีเบื้องต้นในการเริ่มรักตัวเอง
ต่อกันที่ “Noticing in Present ชวนเล่นให้เห็นปัจจุบัน” กับ “ตวงพลอย จิวาลักษณางกูร” ที่นักอ่านทุกคนได้ร่วมทำแบบฝึกหัดการสังเกต โดยเริ่มจากสีของสิ่งต่าง ๆ ทดลองตั้งชื่อสีที่เห็นในแบบของตัวเอง สำรวจความรู้สึกของตนเอง ทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ที่เข้าร่วมกิจกรรม ตลอดจนเขียนระบายความในใจ
และวันที่สามกับ “ทำไมฉันจึงเป็นทุกข์ ขณะที่ทุกคนก็มีความสุขกันดี” โดย “ดุจดาว วัฒนปกรณ์” นักจิตบำบัดด้วยศิลปะการเคลื่อนไหว ที่พานักอ่านทำความเข้าใจหัวใจของตัวเองให้มากขึ้น เพื่อเยียวยาหัวใจที่อาจกำลังเหนื่อยล้า นอกจากเต็มอิ่มด้วยความรู้แล้ว ยังได้ความรู้สึกอบอุ่นหัวใจกลับไปด้วย
ภายในงานยังมี “Special Exhibition : 2475 and the Afterwords” การจัดแสดงหนังสือและวัตถุทางวัฒนธรรมหายากในสมัยปฏิวัติ 2475 ของสะสมของ “ศรัญญู เทพสงเคราะห์” “ณัฐพล ใจจริง” และ “นริศ จรัสจรรยาวงศ์” นักวิชาการแถวหน้าที่ศึกษาเรื่องการเมืองไทยในช่วงเวลาดังกล่าว โดยทั้งสามท่านได้นำชมด้วยตัวเอง
ที่ยกมานั้นเป็นส่วนหนึ่งจากกิจกรรมมากมายตลอด 3 วันเต็ม และที่ขาดไม่ได้หลังเต็มอิ่มกับอาหารสมองแล้วคือ อาหารกาย ที่ “เส้นทางเศรษฐี” ยกทัพร้านดังร้านอร่อยกว่า 50 ร้านมาเสิร์ฟผู้คนในงาน พร้อมกับมีดนตรีในสวนให้ฟังกันช่วงยามเย็น โดยมีบิ๊กเซอร์ไพรส์ด้วยมินิคอนเสิร์ตของ “เสก โลโซ” ในวันแรก นอกจากนี้ในทุก ๆ วันจะถูกปิดท้ายด้วยบทเพลงเพราะ ๆ จากวง “Roberto Uno” ในบรรยากาศสุดร่มรื่นในสวนของมิวเซียมสยาม
“ความรู้” ล้วนสอดแทรกอยู่ในชีวิตประจำวันและสิ่งรอบตัว การเรียนรู้จึงเกิดขึ้นได้ทุกแห่ง ทั้งยังแตกแขนงไปได้หลากหลายสาระ ไม่ว่าจะเป็นศิลปวัฒนธรรม สารคดี วรรณกรรม สุขภาพ และแรงบันดาลใจ ที่สำคัญคือความรู้ไม่ใช่เรื่องเคร่งเครียดเสมอไป
“Knowledge Book Fair 2024 เทศกาลอ่านเต็มอิ่ม” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 16-18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ณ มิวเซียมสยาม จึงเป็นเทศกาลหนังสือเพื่อการเรียนรู้ที่ดีที่สุด สนุกที่สุด และเต็มอิ่มที่สุด
คนรุ่นใหม่ อ่านหนังสือเล่มมากขึ้น
แม้อีเวนต์ “เทศกาลอ่านเต็มอิ่ม” จะจบงานไปแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่า “เราจะหยุดอ่าน” เพราะการอ่านช่วยทำให้ประเทืองปัญญา รู้จักคิด วิเคราะห์ และแยกแยะ
การอ่านมีหลายช่องทาง ทั้งอ่านจากหนังสือเล่ม อ่านจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ และอ่านจากหน้าจอสมาร์ทโฟน
ล่าสุด มีการเปิดตัวชมรมหนังสือออนไลน์ของตัวเองที่ชื่อ Library Science Gerber ซึ่งเป็นเวทีสำหรับการแบ่งปันหนังสือของเหล่านักเขียนหน้าใหม่ ๆ ให้กลุ่มคนอ่านแบ่งเวลามาสังสรรค์ และเป็นการพบปะนักเขียนด้วยกัน พร้อมทำหน้าที่สร้างชุมชนเล็ก ๆ ในกลุ่มของคนรักการอ่าน โดยมี “ไกอา เกอร์เบอร์” วัย 22 ปี เป็นผู้ริเริ่ม เพราะเธอเชื่อว่า หนังสือคือความรักที่ยิ่งใหญ่ แล้วการอ่านหนังสือก็เป็นสิ่งที่ดีและเซ็กซี่
จากข้อมูลของ Nielsen Book Data เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาคนรุ่นใหม่ หรือ Generation Z วัยรุ่นที่เกิดปี 1996-2010 หรือเป็นคนรุ่นที่ 2 ที่เกิดในยุคอินเทอร์เน็ต มีพฤติกรรมชอบซื้อหนังสือแบบเล่มมากขึ้น และถือได้ว่า คนเจน Z กลายเป็นลูกค้ารายใหญ่ของอุตสาหกรรมหนังสือ โดยสถิติของยอด 80% ของยอดขายหนังสือตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2021-พฤศจิกายน 2022 มาจากคนรุ่นใหม่
ที่สำคัญ มีข้อมูลเพิ่มอีกว่า คนเจน Z ยังเข้าห้องสมุดเพิ่มขึ้นถึง 71% เนื่องมาจากพวกเขาเหล่านี้มักจะชอบอ่านหนังสือในที่เงียบ ๆ มากกว่าไปอ่านตามร้านคาเฟ่ หรือร้านกาแฟทั่วไป เพราะที่สาธารณะหลายแห่งมีคนพลุกพล่านอยู่ตลอดเวลา
แล้วความคิดความอ่านของคน Gen Z ดูจะโตเร็วกว่าคนทุกรุ่นในช่วงอายุเดียวกัน
และ 48% ของคน Gen Z จะมีความสัมพันธ์กับพ่อแม่แบบไม่เป็นทางการมาก นั่นหมายถึงมีความเป็นพ่อแม่ลูก และความเป็นเพื่อนมากกว่าคนทุกเจน จึงสามารถสื่อสารหรือพูดจากันได้อย่างไม่อ้อมค้อม ตรงไปตรงมา คน Gen Z จึงดูเหมือนจะรักความอิสระ พอ ๆ กับการได้รับความอิสระ รวมถึงความคิดเห็นในเรื่องทั่วไปด้วย
การกลับมาของความชอบในการอ่านหนังสือเล่มที่มากขึ้น ถือเป็นพฤติกรรมใหม่ที่น่าจับตาของคนรุ่นใหม่ ท่ามกลางความนิยมของสื่อโซเชียล ที่คนส่วนใหญ่ในโลกต่างรักและหลงใหล ขาดมือถือหรือสมาร์ทโฟนแล้วเสมือนจะขาดใจ