10 ปกใหม่ สำนักพิมพ์มติชน สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52

ปกหนังสือ

ใกล้เข้ามาแล้วสำหรับสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 “สำนักพิมพ์มติชน” เปิด 10 ปกใหม่เอาใจนักอ่าน ร่วมไตร่ตรองประวัติศาสตร์ วิเคราะห์จุดพลิกผันในปัจจุบัน ก้าวทันโลกที่พลิกเปลี่ยนทุกวินาที ตลอด 12 วันเต็ม 28 มีนาคม-8 เมษายน 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น LG ฮอลล์ 5-7 ที่บูท J47

เริ่มกันที่เล่มแรก “The Lost Forest : ประวัติศาสตร์ (การทำลาย) สิ่งแวดล้อมไทยและสงครามแย่งชิงทรัพยากร” ผู้เขียน “วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์” เล่าถึงประวัติศาสตร์การทำลายสิ่งแวดล้อมตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันในแง่มุมที่ผู้เขียนสนใจ ผสมผสานการเล่าเรื่องแบบสารคดี ข้อมูลจากงานศึกษา บทสัมภาษณ์จากผู้เชี่ยวชาญ และคนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อม

เนื้อหาแบ่งเป็น 4 ประเด็นใหญ่ เริ่มจากการทำลายธรรมชาติที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่อดีต การแย่งชิงทรัพยากร ปัญหาจากการเติบโตของอุตสาหกรรม มาจนถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมยุคใหม่มนุษย์ต้องรับมือในอนาคต

“อำนาจนำพระนั่งเกล้าฯ : การเมืองวัฒนธรรมของชนชั้นนำต้นรัตนโกสินทร์” ผู้เขียน “ปวีณา หมู่อุบล” ความสามารถในงานราชการและความมั่งคั่งที่สั่งสมมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทำให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ขึ้นครองราชย์ แม้จะได้การสนับสนุนจากขุนนางผู้ใหญ่ แต่ก็มีชนชั้นนำบางกลุ่มไม่เห็นชอบ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสิทธิธรรมของพระองค์ต่ำกว่าเจ้าฟ้า โดยเฉพาะเจ้าฟ้ามงกุฎ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)

เศรษฐกิจและสังคมที่ขยายตัว การผลิตเชิงพาณิชย์ ระบบเจ้าภาษีนายอากร และการสั่งสมกำลังคน ทำให้พระนั่งเกล้าฯ ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงและกลุ่มอำนาจใหม่ ๆ พระองค์จึงต้องพยายามควบคุมอิทธิพลและผลประโยชน์ของเหล่าชนชั้นนำผ่านกฎหมาย แต่จะใช้วิธีที่รุนแรงมากก็ไม่ได้ ต้องอาศัยการสร้างอาณาบารมีผ่านปฏิบัติการทางวัฒนธรรมร่วมด้วย พระองค์พยายามทำให้ตนเองมีความเป็นเลิศในทุกด้าน ผ่านกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่าง ๆ

“The Museum of Other People : From Colonial Acquisition to Cosmopolitan Exhibition พิพิธภัณฑ์แห่งผู้เป็นอื่น : จากวัตถุที่จัดหาและได้มาในยุคอาณานิคม สู่นิทรรศการที่โอบรับคนทุกวัฒนธรรม” ผู้เขียน “Adam Kuper” ผู้แปล “วรรณพร เรียนแจ้ง”

อดัม คูเปอร์ นักมานุษยวิทยาสังคมชาวแอฟริกาใต้ จะพาผู้อ่านย้อนประวัติศาสตร์ความเป็นมาของสิ่งที่เรียกว่า “พิพิธภัณฑ์แห่งผู้เป็นอื่น” พิพิธภัณฑ์ว่าด้วยวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของ “ชนดั้งเดิม” (Primitive Peoples) หรือ “อนารยชน” (Barbarians) กลุ่มต่าง ๆ ซึ่งอยู่พ้นไปจากยุโรปที่เป็นอารยะแล้ว โดยไล่เรียงตั้งแต่ต้นกำเนิดของมันในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 จนถึงตำแหน่งแห่งที่ของมันในยุคปัจจุบัน

“Everything is Washable ขจัดปัญหาชีวิต ง่ายนิดเดียว” ผู้เขียน “Sali Hughes” ผู้แปล “เพียงขวัญ ลักษณ์แสงวิไล” เมื่อต้องใช้ชีวิตอยู่ในยุคที่ทุกอย่างดำเนินไปอย่างรวดเร็ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ความยุ่งเหยิงจะประดังเข้ามาจากทุกทิศ จริงอยู่ที่เอาแน่เอานอนกับชีวิตไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องใช้ชีวิตตามน้ำไปเรื่อย ๆ หรือคอยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าตลอดเวลา

ขจัดปัญหาชีวิต ง่ายนิดเดียว จะช่วยให้จัดระเบียบชีวิตให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นกว่าเดิม โยนขยะและเรื่องไม่จำเป็นทิ้งจากชีวิต หมั่นสร้างความสุขร่วมกับคนในครอบครัว โดยที่ไม่ลืมรักษาบ้านและความสัมพันธ์ควบคู่ไปกับการเพิ่มอิสระและพลังบวกให้กับตัวเอง

“Twists and Turns คิดเปลี่ยนในโลกหักมุม” ผู้เขียน “สันติธาร เสถียรไทย” จะพาผู้อ่านสำรวจเทรนด์โลกที่ “หักมุม” (Twists) อย่างเหนือคาด ทั้งในภาคเทคโนโลยี ธุรกิจ และสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลั่นประสบการณ์จากการทำงานในโลกกว้างมากลั่นเป็นคู่มือเบื้องต้นว่าเราควร “หัน” อย่างไรในวันที่โลกไม่เหมือนเดิม โดยเป็นการรวม 20 บทความ โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือ “Twists” ข้อเขียนว่าด้วยเทรนด์การเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลระยะยาวในระดับมหภาค และ “Turns” ถอดบทเรียนจากการทำงานในตำแหน่งต่าง ๆ ทั้งในภาคการเงินและเทคโนโลยี

“Sex Appear เพศสะพรั่ง” ผู้เขียน “ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์” ในสังคมมักมีเรื่องที่ถูกปกปิด “เรื่องเพศ” คือหนึ่งในนั้น โดยเฉพาะสังคมไทยนี้ที่มักจะตีตราว่าเรื่องเพศต้องเป็น “เรื่องอย่างว่า” แต่ในความจริง เพศเป็นสิ่งซึ่งอยู่ในชีวิตของทุกคน ซึ่งในนั้นมีทั้งตัวตน ความสัมพันธ์ และการเมือง

หัวข้อที่นำเสนอจะมีตั้งแต่สิทธิการแต่งกาย มายาคติว่าด้วยความเป็นชายหญิงแบบที่สังคมคาดหวัง ความรุนแรงในความสัมพันธ์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ประเด็นทางเพศใหม่ ๆ บนโซเชียล รสนิยมทางเพศที่ลื่นไหล รวมถึงปัญหาระดับสังคมตั้งแต่การเกลียดกลัวคนข้ามเพศ ความรุนแรงต่อ LGBTQ+ ในการเกณฑ์ทหาร ปัญหาการข่มขืนในพื้นที่ห่างไกล ค่านิยมเรื่องบุญบาปที่คอยตัดสินผู้หญิงที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์ และสมรสเท่าเทียมที่ยังรอคอยวันที่ทุกคนจะเท่าเทียมอย่างเสมอหน้ากันจริง

“จิ้มก้องและกำไร : การค้าไทย-จีน” ผู้เขียน “สารสิน วีระผล” ผู้แปล พรรณงาม เง่าธรรมสาร, รังษี ฮั่นโสภา, สมาพร แลคโซ บรรณาธิการโดยชาญวิทย์ เกษตรศิริ และกัณฐิกา ศรีอุดม ความเข้าใจต่อประเด็นการค้าทางทะเลยุคจารีตในประวัติศาสตร์ไทยมักมุ่งเน้นไปที่การค้ากับตะวันตกเป็นหลัก ทั้งที่ความจริงแล้ว ตะวันตกก็เป็นเพียง 1 ในคู่ค้าของดินแดนต่าง ๆ จีนต่างหากที่ตะวันตกมองเป็นมหาอำนาจในเวลานั้น การค้าไทย-จีน จึงไม่อาจละเลยได้ เนื่องด้วยสัมพันธ์ต่อความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในภูมิภาคและในไทย

ไทยกับจีนผูกสัมพันธ์การค้ามาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่อดีตกาล ความเก่าแก่นี้อาจย้อนกลับไปถึงสมัยต้นอยุธยา สำคัญที่สุดคือจีนมีระบบการค้า-การทูต “จิ้มก้อง” ซึ่งเป็นรูปแบบที่ทำให้ไทยและรัฐอื่น ๆ ทำการค้ากับจีนอย่างเป็นทางการกับราชสำนักจีน โดยอยู่ภายใต้ความสัมพันธ์ที่ต่ำกว่า ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่มีผลในทางการทูตเท่านั้น ไม่ได้ส่งผลต่อการปกครองของรัฐอื่น ๆ ส่งผลให้การค้าในภูมิภาคคึกคักขึ้นมา และนำมาซึ่งการเข้ามาของชาวจีน โดยเฉพาะชาวฮกเกี้ยน ซึ่งชาวจีนกลุ่มนี้จะมีบทบาทสำคัญในความสัมพันธ์การค้าไทย-จีน

“เสด็จพ่อ ร.5 วีรบุรุษในวัฒนธรรมไทย และประชาชนในรัฐนาฏกรรม” ผู้เขียน “นิธิ เอียวศรีวงศ์”

บทความรวมเล่มของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่ถูกนำมาตีพิมพ์รวมเล่มนี้ คือ งานวิชาการชั้นดีที่อ่านสนุก เปรียบเสมือนบทบันทึกรอยต่อและจุดหักเลี้ยวของยุคสมัย โดยงานแต่ละชิ้นคือ การขบคิดใคร่ครวญประเด็นสำคัญหลายประเด็นที่ไม่เพียงเป็นการทบทวนอดีต แต่คือการชี้ให้เห็นว่าการมองย้อนกลับไปในอดีตช่วยส่องสะท้อนให้เราเข้าใจสังคมการเมืองไทยร่วมสมัยได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องการเมืองของประเพณีและพิธีกรรม

ความคิดเรื่องวีรบุรุษที่เลื่อนไหลแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ความตึงเครียดระหว่างการสร้างสถาบันให้เข้มแข็งกับการเชิดชูตัวบุคคล บทบาทและสถานะของสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย ปมปัญหาเรื่องการถ่ายโอนอำนาจและการสืบทอดอำนาจ บทบาทของปัญญาชนในสังคมไทย ความขัดแย้งภายในหมู่ชนชั้นนำ ที่ทางของประชาชนในรัฐราชการไทย อำนาจนำทางศีลธรรมที่เสื่อมคลาย และจิตสำนึกใหม่ของประชาชนที่กำลังก่อตัว

“Siamese Cat สยามวิฬาร์ & ประวัติศาสตร์ไทยฉบับแมวเหมียว”

ผู้เขียน “กำพล จำปาพันธ์” หนังสือเล่มนี้เป็นการเล่าประวัติศาสตร์ไทยในมุมใหม่ที่มีสัตว์เป็นแกนกลางตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงทศวรรษ 2500 ซึ่งไม่ได้มีมนุษย์เป็นศูนย์กลางของเรื่องแต่ประการใด ไม่ว่าจะเป็นช่วงก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยาที่โรคห่าได้คร่าชีวิตคนมากมาย แมวมีส่วนสำคัญในการปราบหนูซึ่งเป็นพาหะนำโรค และเป็นของมีค่าราคาแพงในตลาดจีน

หรือในสมัยธนบุรีที่เชื่อกันว่าพระเจ้าตากทรงโปรดหมาไม่นิยมเลี้ยงแมว และมีเรื่องราวหนูกัดมุ้งทำให้ต้องใช้ฝรั่งไล่จับ หรือจะเป็น “ไซมีสแคต” ราวสมัยรัชกาลที่ 5 ชาวอังกฤษได้นำเอาแมวคู่หนึ่งจากสยามกลับไปยังประเทศของตน และได้นำไปประกวดแมว แมวที่ได้รางวัลชนะเลิศคือ ไซมีสแคต

หรือในช่วงเวลาของห้วงสุดท้ายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ความโด่งดังของแมวขาวและแมววิเชียรมาศ จึงมีการเชิญวิฬาร์ในฐานะเครื่องมงคลในพิธีบรมราชาภิเษกของรัชกาลที่ 7 ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ปรากฏแบบเรียนภาษาไทยสำหรับนักเรียนชั้น ป.3 เรื่องแมวสีสวาด ซึ่งเป็นนัยของการช่วงชิงความหมายกับแมววิเชียรมาศที่เป็นตัวแทนของระบอบเก่า แมวสีสวาดเป็นตัวแทนของระบอบใหม่ที่เกิดขึ้นโดยคณะราษฎร เป็นต้น

“ลอกคราบพุทธแท้ : ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาชนชั้นกลางไทยร่วมสมัย” ผู้เขียน “อาสา คำภา” เล่มนี้อธิบายปรากฏการณ์พุทธศาสนาแบบปัญญาชน แบบชาวบ้าน การโหยหาเนื้อนาบุญหรือพระอรหันต์ การใช้เรื่องเล่าพุทธศาสนากับประวัติศาสตร์ไทยฉบับทางการ นอกจากนั้นแล้วหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 พื้นที่แห่งสามัญชนทางพุทธศาสนาก็ผุดขึ้นอย่างมากมาย รวมถึงการปรากฏตัวของบุคคล คณะบุคคล องค์กรทางพุทธศาสนาซึ่งเป็นผู้นำความคิดทางพุทธศาสนาหลากหลาย เช่น สวนโมกข์ สันติอโศก ธรรมกาย นักบวชสตรี พระป่าสายหลวงปู่มั่น ธรรมะแบบฆราวาส

ตลอดจนโครงสร้างทางวัฒนธรรมแบบเก่าและอำนาจรัฐไทยที่ครอบงำพระพุทธศาสนาที่ทำให้ไม่มีการพัฒนาเป็นประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม และส่งผลถึงอารมณ์ ความรู้สึก และรสนิยมชนชั้นกลางไทย โดยเล่มนี้ปรับปรุงมาจากงานวิจัยเรื่อง “พุทธศาสนาชนชั้นกลางไทย ทศวรรษ 2500-2550 ว่าด้วยประวัติศาสตร์ ปรากฏการณ์สังคม จริต และอารมณ์ความรู้สึก”