โรคซึมเศร้าไม่ได้เกิดจากความอ่อนแอ องค์ความรู้ต่อผู้ป่วย คนรอบข้าง คือเรื่องสำคัญ

depression
ภาพจาก Pixabay ใช้เพื่อประกอบเท่านั้น

กรุงเทพประกันภัย ผนึกกำลัง กรมสุขภาพจิต รณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจให้คนไทยห่างไกลภาวะซึมเศร้า เผยคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปป่วยซึมเศร้า 1.5 ล้านคน มีเพียง 1 ใน 3 ที่ได้เข้ารับการบำบัดดูแล การสร้างองค์ความรู้ให้แก่ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าและคนรอบข้างจึงเป็นเรื่องสำคัญ

วันที่ 12 มีนาคม 2567 กรุงเทพประกันภัยและกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เห็นความสำคัญของปัญหาด้านสุขภาพจิต โดยเฉพาะสถานการณ์ของผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้นและกำลังเป็นปัญหาทางสังคมที่ต้องได้รับการแก้ไขและป้องกันไม่ให้ขยายวงกว้าง เปิดเวทีเสวนาในหัวข้อการส่งเสริมสุขภาพใจ ใส่ใจสุขภาพจิต เพื่อการป้องกันอย่างยั่งยืน

พร้อมเปิดตัวภาพยนตร์โฆษณาที่สะท้อนถึงภาวะซึมเศร้า เน้นสร้างการตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนทั่วไป รวมถึงการสร้างองค์ความรู้ให้คนรอบข้างและครอบครัวสามารถดูแลผู้ที่อยู่ในภาวะซึมเศร้าได้อย่างเข้าใจด้วยวิธีที่ถูกต้องและเหมาะสม 

โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนา ประกอบด้วย นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข, ดร.อภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อํานวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน), ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข, นายปองกูล สืบซึ้ง (ป๊อบปองกูล) และนายนที เอกวิจิตร (อุ๋ย บุดด้าเบลส)

กรุงเทพประกันภัย กรมสุขภาพจิต

คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยซึมเศร้า 1.5 ล้านคน

นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงสถานการณ์ภาวะซึมเศร้าของไทยว่า แม้โลกจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ให้เข้ามามีส่วนช่วยในทุกระบบ แต่พบว่าคนไทยยังคงเผชิญกับภาวะปัญหาทางสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น ประชาชนใช้ชีวิตท่ามกลางความเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า เจ็บป่วยด้วยปัญหาสุขภาพจิตและยาเสพติด 

จะเห็นได้จากจำนวนผู้ป่วยทางจิตเวชในไทยเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า จาก 1.3 ล้านคน ในปี 2558 เป็น 2.3 ล้านคน ในปี 2564 จากข้อมูลล่าสุดบนระบบรายงาน HDC ของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2566 พบว่าผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดที่รักษาแบบผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นกว่า 3 แสนรายหรือคิดเป็นร้อยละ 12.09 รวมถึงประมาณการณ์ว่าคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าถึง 1.5 ล้านคน และอาจมีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่เข้ารับการบำบัดดูแล

ถ้าหากไม่ได้รับการดูแลอย่างทันท่วงทีอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตที่รุนแรงขึ้น เนื่องจากพบสถิติว่าโรคซึมเศร้าเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักนำไปสู่การฆ่าตัวตายของคนไทย และผู้ป่วยซึมเศร้ามีแนวโน้มการฆ่าตัวตายสูงกว่าคนทั่วไป และมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึงร้อยละ 70 

ทั้งนี้ พบว่าอัตราส่วนจิตแพทย์ 1.25 คน ต้องดูแลคนไทยถึง 1 แสนคน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนจะขยับเข้ามามีส่วนร่วมในช่วยเหลือให้คนไทยมีสุขภาวะทางจิตที่ดีอย่างถ้วนหน้า โดยไม่จำเป็นว่าต้องเป็นภาคส่วนที่มาจากด้านสาธารณสุขเพียงอย่างเดียว แต่อาจมาจากภาคเอกชนที่มีความสนใจและใส่ใจในการมีสุขภาวะทางจิตที่ดีของสังคมไทย 

การมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ จะทำให้เกิด ผลลัพธ์ที่แตกต่างไปจากการดำเนินงานด้านสุขภาพจิตในปัจจุบัน ช่วยให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา ซึ่งสิ่งนี้อาจเป็นคำตอบของการมีสุขภาวะทางจิตที่ดีและความสุขของสังคมไทยอย่างยั่งยืน นพ.พงศ์เกษม กล่าว

นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต

ภาวะซึมเศร้าโรคซึมเศร้า

ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์โฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า คนเราสามารถมีความเศร้าได้เป็นเรื่องปกติ ซึ่งเมื่อเรื่องที่ทำให้เราเศร้าจบลงไป ความเศร้าก็ควรจะหายไปด้วย แต่บางเรื่องก็อาจทำให้เรารู้สึกเศร้านานกว่าปกติได้ ซึ่งเรียกว่าภาวะซึมเศร้าแต่ยังไม่ใช่โรคซึมเศร้าเป็นแค่ภาวะเท่านั้น แม้อาจทำให้เราเศร้าได้ 2-3 สัปดาห์ แต่สุดท้ายก็จะหายและรู้สึกดีขึ้น

แต่โรคซึมเศร้าไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากจะเกิดความเปลี่ยนแปลงของการทำงานทางจิตบางอย่างต่อตัวเรา ที่แม้บางทีอาจจะไม่มีเรื่องราวหรือเรื่องราวนั้นจบลงไปนานแล้ว แต่เรายังเศร้าอยู่ตลอดเวลา ตลอดทั้งวัน และติดต่อกันเป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ขึ้นไป อีกทั้งการเศร้านั้นทำให้เราศูนย์เสียศักยภาพหลาย ๆ อย่างไป เช่น การเรียน การทำงาน ความสัมพันธ์ จนกระทั่งสูญเสียสุขภาพในการดูแลตัวเองไป เช่น เศร้าหมองเก็บตัวอยู่ในห้องจนไม่ดูแลร่างกายตัวเอง การสูญเสียศักยภาพที่เกิดจากอารมณ์เศร้า เราต้องเริ่มสงสัยแล้วว่า เราอาจจะเป็นโรคซึมเศร้า

เปิดใจ เปิดหู รับฟัง

ดร.นพ.วรตม์ กล่าวอีกว่า การเข้าใจใครสักคนที่อาจจะเป็นโรคซึมเศร้า หรือเป็นโรคซึมเศร้า ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความรู้อะไรมากมาย เราจะเปิดหูรับฟังได้ต้องเริ่มจากเปิดใจก่อน 

เช่น เมื่อมีคนที่อาจเป็นหรือเป็นโรคซึมเศร้ามาปรึกษา แต่ถ้าเรารู้สึกว่าโรคนี้ไม่มีจริง รู้สึกว่าคนที่เป็นโรคนี้แค่อ่อนแอ หรือรู้สึกว่าเรื่องแบบนี้เราก็เคยเจอมาแล้วไม่เห็นจะเป็นอะไรเลย นั่นเป็นการปิดใจที่จะไม่เปิดรับว่าคน ๆ หนึ่งมีความแตกต่างในตัวเอง หากเราเลือกปิดใจแต่กลับเปิดปาก คือ การพยายามพูด พยายามบอก จะกลายเป็นว่าการสื่อสารจะทำได้ยากและไม่เข้าใจกัน

เพราะฉะนั้น การที่จะคุยกับใครสักคนที่อาจเป็นหรือเป็นโรคซึมเศร้า เริ่มจากการเปิดใจ เมื่อเปิดใจก็เปิดหู ปากอาจจะไม่ต้องเปิดมาก แต่เปลี่ยนเป็นการตั้งใจฟังอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ และเราอาจพูดเพียงเเค่ว่า เธอรู้สึกอย่างไรบ้าง ฉันอยากฟัง เธอเล่าให้ฟังหน่อย เราพูดเท่านี้ก็พอ โดยที่ไม่ต้องไปบอกว่า ไม่เป็นไรหรอก เดี๋ยวก็หาย 

การที่จะฟังใครสักคนต้องมีสติและเข้าใจตัวเอง เราต้องรู้ว่าเรากำลังทำอะไร รู้ว่าฉันกำลังตั้งใจฟัง อาจมีความคิดต่าง ๆ ที่เข้ามาในหัวบ้าง แต่นั่นเป็นความคิดของเรา ไม่ใช่ความคิดของคนที่กำลังเล่า หรือแม้เเต่ความคิดที่อยากรีบเเนะนำเพราะกลัวว่าตัวเองจะเป็นที่ปรึกษาที่ไม่ดี ถ้าเรามีสติ เราจะเลิกสนใจความคิดของตัวเองและไปโฟกัสสิ่งที่ผู้พูดกำลังเล่า เราก็จะฟังเเละเปิดใจได้ดีขึ้น

สู้ ๆพูดได้ แต่ต้องดูบริบท

ดร.นพ.วรตม์ กล่าวต่อว่า ที่คำว่าสู้ ๆกลายเป็นคำต้องห้ามเพราะคนมักรีบพูดคำนี้เป็นสิ่งเเรก ตั้งแต่ยังไม่ทันฟัง เมื่อไปบอกให้สู้ ๆ จึงกลายเป็นว่าคำนี้เป็นความไม่จริงใจ เพราะเรายังไม่ทันรู้เลยว่าเขาสู้กับอะไรอยู่ 

แต่ถ้าฟังมาโดยตลอด ฟังคนที่อาจจะเป็นหรือเป็นโรคซึมเศร้ามา 2-3 ครั้งแล้ว จนเข้าใจเเล้วว่าเขากำลังสู้กับอะไร เมื่อเราเข้าใจจริง ๆ เเล้วบอกให้เขาสู้ ๆ คำนี้จะกลายเป็นความประทับใจทันที เพราะคนเล่ารู้ว่าเราเข้าใจ ว่าเขากำลังเผชิญอะไรอยู่ ดังนั้น คำว่าสู้ ๆ จึงอยู่ที่บริบทโดยรวมเเละความรู้สึกของคนที่พูดมากกว่า 

เช่นเดียวกันกับการจะแนะนำใครสักคนให้ไปหาจิตเเพทย์ ถ้ามีคนมาปรึกษาว่ากำลังป่วยเป็นซึมเศร้าเเล้วเราบอกทันทีว่าให้ไปหาจิตเเพทย์ คิดว่าคนที่ฟังจะรู้สึกอย่างไร เขาจะรู้สึกว่าเป็นการบอกปัดทันที แต่ถ้าลองฟังเขาก่อน แล้วค่อยเเนะนำเขาให้ไปพบจิตเเพทย์ คำ ๆ เดียวกันอาจจะมีพลังมหาศาลขึ้นมาทันที

ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต
ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต

วัดซีนใจ ป้องกันซึมเศร้า

ดร.นพ.วรตม์ เผยว่าถ้าคนเราออกกำลังกายได้ ทำไมจะออกกำลังใจไม่ได้การออกกำลังใจง่ายกว่าออกกำลังกายมาก และบางครั้งเราเผลอออกกำลังใจไปโดยที่ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ 

วัดซีนใจ มีวิธีง่าย ๆ เริ่มด้วยการจดบันทึกอารมณ์ตัวเอง คล้ายการจดไดอารี ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจอารมณ์ตัวเองมากขึ้น หรือจะเป็นการนั่งสมาธิ การฝึกหายใจก็ได้ หรือจะเป็นการฝึกขอบคุณ ทั้งขอบคุณตัวเองและขอบคุณคนรอบข้าง

นอกจากนี้ ครอบครัวก็สามารถเป็นวัคซีนได้ เช่น การให้กำลังใจซึ่งกันและกัน การดูเเลเรื่องการกินยา พาไปรักษาอย่างต่อเนื่อง หรือหากยังไม่ได้มีอาการป่วย การใช้เวลาคุณภาพด้วยกันถือเป็นเรื่องสำคัญ ในองค์กรหรือชุมชนก็เช่นเดียวกัน ทั้งตัวเรา ครอบครัว ชุมชน ถ้าทุกองค์ประกอบร่วมกันเเล้ว ก็จะช่วยเป็นหนึ่งในการป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพจิตที่รุนเเรงได้ 

คนรอบตัว มีวิธีการดูเเลอย่างไร

ดร.นพ.วรตม์ กล่าวว่า เยาวชนในยุคนี้มีความรู้เรื่องสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นกว่าสมัยก่อนมาก ซึ่งนโยบายของกรมสุขภาพจิตตอนนี้ก็เน้นเรื่องการดูเเลเด็กและวัยรุ่น เพราะคนกลุ่มนี้จะเป็นคนที่ขับเคลื่อนประเทศชาติในอนาคต 

แต่เด็กหลายคนก็ไม่รู้ตัว ซึ่งคนรอบข้างสามารถช่วยให้เข้าใจเรื่องสุขภาพจิตตั้งเเต่วัยเด็กได้ หลายคนมาพูดเรื่องสุขภาพจิตในตอนโตซึ่งก็อาจจะช้าไป ถ้าเราพูดคุยกันตั้งแต่เด็ก ว่าโกรธ เศร้า ดีใจ เป็นอย่างไร รู้สึกอย่างไร เด็กจะมีความรู้กับอารมณ์ตัวเองได้มากขึ้น และจะสามารถติดตามอารมณ์ตัวเองได้มากขึ้นด้วย

ไม่ว่าเราจะเป็นครอบครัว เป็นเพื่อนร่วมงาน การรับฟังเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างมากเเค่เล่าก็เบาเเล้วโอกาสที่จะพัฒนาไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตที่รุนเเรงก็จะน้อยลง 

การที่เราเป็นใครสักคนที่เขารู้สึกว่าเขามีเยื่อใยอยู่ จะไม่ทำให้เขาจบชีวิตของตัวเองในอนาคต เพราะคนที่จบชีวิตรู้สึกว่าโลกนี้ไม่มีอะไรที่สำคัญกับเขาเเล้ว เเต่ถ้าเราสามารถเป็นคนคนนั้นได้ คนที่เขารู้สึกว่าทำให้เขายังมีคุณค่ากับโลกใบนี้อยู่ นี่เป็นสิ่งที่คนรอบข้างสามารถทำได้

ดร.อภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อํานวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน)
ดร.อภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อํานวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน)

สร้างความตระหนักรู้

ดร.อภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตนประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อํานวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากสภาพสังคมที่เปราะบางด้วยปัญหาและปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ส่งผลให้คนในสังคมไทยประสบกับสภาวะทางความเครียดสะสม มีความอ่อนแอทั้งร่างกายและจิตใจ จนเกิดเป็นภาวะซึมเศร้า ทั้งที่แบบรู้ตัวและไม่รู้ตัว 

ส่งผลให้เกิดภาพในจินตนาการต่อตนเองในแง่ลบ และหากไม่ได้รับการแนะนำหรือการดูแลอย่างเหมาะสมหรือถูกวิธี อาจจะนำไปสู่การทำร้ายตนเอง และเลวร้ายที่สุดคือการฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นการสูญเสียทรัพยากรที่มีค่าของสังคมอย่างน่าเสียดาย โดยในปัจจุบันผู้ที่มีภาวะซึมเศร้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

กรุงเทพประกันภัยจึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนช่วยรณรงค์เพื่อลดปัญหาดังกล่าว ประกอบกับการร่วมส่งเสริมด้านสุขภาพจิตที่ดีเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันได้อย่างยั่งยืน จึงเป็นที่มาของความร่วมมือกับกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ในการสร้างองค์ความรู้และความเข้าใจให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพจิต โดยเฉพาะกับผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า และคนรอบข้างที่ต้องดูแลผู้ที่มีอาการอย่างใกล้ชิด เพราะภาวะซึมเศร้าถือเป็นอาการของโรคอย่างหนึ่งที่สามารถรักษาให้หายได้โดยการรับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต 

บริษัทจึงได้จัดทำสื่อรณรงค์ในรูปแบบภาพยนตร์โฆษณาเพื่อการสื่อสารได้อย่างทั่วถึง ตลอดจนยังมีแผนการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดทั้งปี เพื่อให้คนไทยเข้าใจถึงปัญหาและรับรู้ถึงแนวทางการดูแลผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า ไม่ใช่เพียงแต่ผู้ที่มีอาการซึมเศร้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้คนรอบข้าง ทั้งครอบครัวและเพื่อน ๆ เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นได้เข้าใจ สามารถสื่อสารและดูแลผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าได้อย่างเหมาะสม พร้อมทั้งยังมีส่วนช่วยป้องกันปัญหาได้ในระยะยาว

กรุงเทพประกันภัยและกรมสุขภาพจิตได้เปิดตัวภาพยนตร์โฆษณาสร้างความรู้และความเข้าใจให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าที่ถือว่าเป็นอาการของโรคที่สามารถรักษาได้ เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าภาวะซึมเศร้าเป็นความอ่อนแอ ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ แต่จริง ๆ แล้วภาวะซึมเศร้าเป็นอาการที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ต่างจากโรคทางกายอื่น ๆ ซึ่งสาเหตุเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น ทางกาย ด้านจิตใจ และสภาวะแวดล้อมต่าง ๆ 

โดยสิ่งที่ภาพยนตร์โฆษณาต้องการจะสื่อคือการสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนรับรู้ว่า ภาวะซึมเศร้าเป็นอาการของโรคที่ไม่ได้เกิดจากความอ่อนแอหรือไม่ใช่แค่ความรู้สึก และอยากให้เขาเหล่านั้นได้เข้าไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธี ซึ่งสามารถขอคำปรึกษาได้ที่สายด่วนกรมสุขภาพจิต โทร. 1323