นักวิทย์ฯคิดค้น “วัคซีนป้องกันโรคหนองใน” สำเร็จครั้งแรก หลังยาปฏิชีวนะไร้ผล

สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า นักวิทยาศาตร์ชาวนิวซีแลนด์คิดค้นวัคซีนที่ต่อต้านการติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (โรคหนองใน) เป็นที่สำเร็จได้ครั้งแรก จากก่อนหน้านี้มีความกังวลว่าโรคหนองในจะไม่สามารถรักษาได้ เนื่องจากยาปฏิชีวนะใช้ไม่ได้ผล

ด้านองค์การอนามัยโลก (WHO) มองว่าการพัฒนาวัคซีนดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการหยุดการแพร่กระจายของ ซูปเปอร์หนองใน หรือ “super-gonorrhoea” ทั่วโลก

รายงานระบุว่า ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารแลนซิต พบว่าจากการสำรวจคนหนุ่มสาวทั้งหมด 15,000 คน ที่ได้รับวัคซีน เห็นว่าการติดเชื้อลดลงเหลือ 1 ใน 3 ขณะที่นักวิจัยของมหาวิทยาลัยโอ๊คแลนด์ได้วิเคราะห์จากข้อมูลของคลินิกสุขภาพทางเพศ และพบว่าผู้ป่วยที่ได้รับวัคซีน มีการตรวจเจอโรคหนองในลดลงถึง 31%

โดยแต่ละปีมีคนติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ราวๆ 78 ล้านคน ซึ่งโรคนี้อาจทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก และร่างกายไม่สามารถสร้างภูมิต้านทานได้ ไม่ว่าบุคคลเหล่านั้นจะติดเชื้อมาเเล้วกี่ครั้ง

ดร. เฮเลน พีโตซิส แฮร์ริส หนึ่งในนักวิจัยวัคซีนป้องกันโรคหนองใน เผยว่า ถือเป็นครั้งแรกที่ผลิตวัคซีนป้องกันโรคหนองในได้สำเร็จ โดยระบบภูมิคุ้มกันของวัคซีนยังไม่เป็นที่เเน่ชัด แต่จากการวิจัยต่อในอนาคตเล็งเห็นว่าสามารถต่อยอดได้ ทั้งนี้ ดร. เฮเลน เสริมอีกว่าการได้รับวัคซีน 1 ครั้ง สามารถป้องกันได้นานถึง 2 ปี

ด้านศาสตราจารย์ สตีเวน แบล็ค นักวิจัยจากโรงพยาบาลเด็กซินซินนาติ สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า เพื่อให้การป้องกันโรคหนองในนั้นมีความเป็นไปได้ แม้อยู่ในระดับปานกลาง แต่เมื่อประชาชนได้รับวัคซีน จะมีประโยชน์ต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้การป้องกันไม่ให้คนติดเชื้อหนองในสำคัญมากขึ้น เพราะการรักษาเป็นเรื่องที่ยากเมื่อติดเชื้อ โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลกออกมาเตือนเเละให้ข้อมูลเกี่ยวกับการแพร่กระจายของโรคหนองในที่ไม่สามารถรักษาด้วยยาปฏิชีวนะได้ในทั่วโลก

ดร.ทีโอโดรา วี จากองค์การอนามัยโลกเปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยจำนวน 3 รายในญี่ปุ่นฝรั่งเศสและสเปนที่ติดเชื้อแบบไม่สามารถรักษาได้

“นับเป็นเรื่องยาก เเละคงต้องใช้เวลานาน ในการพัฒนาวัคซีนหนองใน เเต่ในขณะนี้เราก็ค้นพบเเล้วว่ามีทางที่เป็นไปได้ เมื่อสามารถคิดค้นวัคซีนต้านได้สำเร็จ” ดร.ทีโอโดรา กล่าว