ดอยธิเบศร์ ดัชนี กับการบริหาร-ต่อยอด “บ้านดำ” และผลงาน 5,000 ชิ้นของอาจารย์ถวัลย์

รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง 
ธนศักดิ์ ธรรมบุตร : ภาพ

เป็นความจริงที่ว่า การเกิดมาเป็นลูกของใคร ใช้นามสกุลอะไร ทำให้คนบางคนได้รับความสนใจจากสังคมมากกว่าคนทั่วไป ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นมากมายทั้งในประเทศไทยและในระดับโลก

ดอยธิเบศร์ ดัชนี ทายาทเพียงคนเดียวของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี เป็นคนหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มคนที่ว่านี้ การเกิดมาเป็นลูกชายของศิลปินนามระบือที่สุดในประเทศไทย ทำให้เขาเป็น somebody มาตั้งแต่ตอนที่บิดายังมีชีวิตอยู่ และหลังจากที่อาจารย์ถวัลย์เสียชีวิตไป ก็ยิ่งทำให้เหล่าคอลเล็กเตอร์และแฟนคลับอาจารย์ถวัลย์หันมาโฟกัสที่ดอยธิเบศร์แทน ในฐานะที่เป็นทายาทผู้ได้รับมรดกและผู้ดูแลบริหารจัดการทรัพย์สินของอาจารย์ถวัลย์

ตอนนี้เป็นเวลา 6 ปีกว่า ๆ ที่อาจารย์ถวัลย์จากไป “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ได้คุยกับดอยธิเบศร์ ถึงเรื่องการดูแลและบริหารมรดกอันล้ำค่าเหล่านั้น ทั้งในปัจจุบันและอนาคตระยะไกล อีกทั้งยังมีมุมมองความคิดเห็นที่น่าสนใจของเขาต่อภาพใหญ่ของวงการศิลปะและพิพิธภัณฑ์เมืองไทย

จัดงานให้พ่อ และยกระดับวงการศิลปะเมืองไทย

เมื่อปลายปีคาบเกี่ยวต้นปีที่ผ่านมา ดอยธิเบศร์เพิ่งจัดนิทรรศการ “Immersive Art of Thawan Duchanee” ในห้วงเวลาที่สถานการณ์ไม่เป็นใจ แต่เขาก็ไม่หวั่นอุปสรรคใด ๆ

ดอยธิเบศร์เล่าถึงงานนั้นว่า งานถูกจัดขึ้นในช่วงเวลาที่ท้าทายมาก แต่ด้วยความตั้งใจตั้งแต่ตอนต้นปีว่า ปี 2020 เป็นปีเลขสวยเหมาะจะทำกิจกรรมดี ๆ และอยากทำกิจกรรมที่ท้าทายกว่าที่เคยทำมา จึงเดินหน้าต่อ งานนี้เป็นการจัดแสดงผลงานศิลปะในรูปแบบใหม่ผสานเทคโนโลยี AR และ VR เข้าไปในผลงานของอาจารย์ถวัลย์ ซึ่งทั้งหมดสร้างสรรค์โดยทีมงานของ Full Dome จากหลายสำนักงานทั่วโลกที่ระดมมารังสรรค์งานนี้

เขาไม่ได้คิดเพียงแค่จัดงานรำลึกถึงพ่อผู้ล่วงลับ แต่ความคาดหวังที่ไกลกว่านั้น คือ การนำนิทรรศการนี้ไปจัดแสดงในต่างประเทศ เพื่อให้ผลงานและชื่อของอาจารย์ถวัลย์ represent ประเทศไทย ซึ่งมีมรดกทางวัฒนธรรมมากมาย ที่ควรนำมาเป็นกุญแจเปิดประตูไปสู่สากล

“ในแง่ธุรกิจนี่คือการสร้างธุรกิจใหม่ในวงการศิลปะ คือ อีเวนต์ที่เอาศิลปะมาเป็นตัวนำ เราไม่ทำแค่เอารูปมาพิมพ์ขาย นั่นไม่ใช่การต่อยอดที่ถูกต้อง นี่คือการต่อยอดเพื่อให้มันยั่งยืน ที่จริงผมไม่จำเป็นต้องเหนื่อย ผมแค่ขายรูปพ่อกินก็ได้ ขายรูปละ 1 ล้าน เดือนละรูปก็พอแล้ว แต่การเอารูปพ่อมาขายกินมันกระจอกเกินไป เราทำเงินได้ตั้งแต่พ่อยังไม่เสียด้วยซ้ำ”

วิถี “ลูกพญาราชสีห์” ถ้าเอาตัวไม่รอดก็ปล่อยให้ตายไป

ดอยธิเบศร์บอกว่า ตัวเขาเองเป็นผู้สร้างแบรนด์และทำการตลาดของแบรนด์ “อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี” โดยที่อาจารย์ถวัลย์ไม่เคยสนับสนุนอะไรเลย และหากย้อนไปก่อนหน้านั้น ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ท่านนี้ไม่เคยดูแลลูกในวิถีของพ่อแม่ทั่วไป มีแต่ปล่อยให้เผชิญทุกอย่างเอง ซึ่งดอยธิเบศร์นิยามว่า “พ่อเลี้ยงลูกแบบลูกสิงโต” เพราะว่าพ่อเป็น “พญาราชสีห์”

“ผมสร้างแกลเลอรี่หน้าบ้านดำ เขาแอบมานั่งใต้ต้นไม้แล้วก็ถามว่าเจ๊งรึยัง วันไหนขายไม่ได้เขาจะมีความสุขมาก เขาจะหัวเราะเยาะ ผมเอาต้นไม้ต้นหนึ่งมาปลูกไว้หน้าแกลเลอรี่ เขาก็ถามว่าตายหรือยังวะ แล้วพอมันงอกเขาก็หัวเราะ เขากระทืบให้แบนก่อน ให้มีความอดทน ให้มีภูมิต้านทาน มันเป็นวิธีการสอนลูกสิงโต ถ้ามันเอาตัวไม่รอดก็ปล่อยให้มันตายไป

นี่คือวิธีการสอนของพ่อ โหดมาก แต่เราจะเข้าใจก็ต่อเมื่อวันที่เราแกร่งแล้วเท่านั้น เราเชื่อว่าคนเป็นพ่อทุกคนไม่มีใครอยากทำแบบนี้หรอก แต่ถ้าไม่อย่างนั้น เขาคิดว่าลูกก็คงดูแลบ้านดำ ดูแลทรัพย์สมบัติที่เขามีไม่ได้ เขาบอกว่า ไม่มีอะไรที่ให้ได้นอกจากสติปัญญา สติปัญญาเป็นอาวุธที่ยิ่งใช้ก็ยิ่งงอกเงย เพราะฉะนั้น ถ้าเรามีปัญญาแล้วผมไม่เคยกลัวอะไรเลย วันที่แย่ วันที่เลวร้ายที่สุด เราก็ต้องผ่านไปได้ด้วยสติปัญญาที่เรามี”

ลูกชายคนเดียวของอาจารย์ถวัลย์บอกอีกว่า พ่อสอนแบบไม่สอน แต่ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง เขานึกย้อนไปถึงช่วงวัยเด็กแล้วจำได้ว่า สิ่งที่พ่อเคยสอนตรง ๆ คือ สอนให้รู้จักการบริหารจัดการที่เป็นระบบ สอนให้ทำบันทึกประจำวันและเขียนกำหนดการที่จะทำในแต่ละวัน

“เขาให้ทำระบบบันทึกประจำวัน ให้เขียนโปรแกรมตั้งแต่เล็ก ๆ แต่เราเป็นเด็ก จะให้นั่งเขียนอะไร เราอยากเล่น ตื่นมาวันนี้จะไปไหน ให้ทำตารางเขียนโปรแกรม จะบ้าหรือเปล่า ผมเถียงว่าเขียนโปรแกรมทำไม เราไม่ใช่หุ่นยนต์ เรานึกว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ แต่เขาบอกว่าโปรแกรมคือการทำ schedule ว่าเราจะทำอะไร และต้องทำบันทึกประจำวันด้วยหลังจบวัน”

ดอยธิเบศร์มองว่า อาจารย์ถวัลย์-พ่อของเขาเป็นคนมีวินัย เข้มงวด และจริงจังมาก ซึ่งตัวเขาถูกหล่อหลอมจนคุณสมบัติเหล่านี้มีอยู่ในตัวเขาด้วย

“ยกตัวอย่างการจัดงานอีเวนต์ การออร์แกไนซ์ เป็นสิ่งที่เราทำตั้งแต่เล็ก ๆ พ่อเขียนโพยมาว่าวันนี้จะเลี้ยงแขก 40 คน ลูกต้องไปซื้อกับข้าวร้านไหนบ้าง ข้าวเหนียวซื้อมาห่อละ 5 บาท เอาข้าวสีดำกี่ห่อ สีขาวกี่ห่อ ห่อด้วยใบตองตึง ไม่ใช่ใบตองกล้วยนะ แล้วมัดด้วยตอก เขาจะละเอียดอย่างนี้ แล้วเราก็ไปจ่ายตลาดตามที่เขาบอก เราต้องวางทิสชูแบบนี้ จัดขันโตกแบบนี้ เทียนแบบนี้ ทำแบบนี้หลายสิบหลายร้อยครั้ง เราถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เล็ก ๆ เป็นสิ่งที่เขาสอนเราโดยที่ไม่ได้บอกเป็นคำพูด”

เมื่อเราโยนความเห็นไปว่า การเป็นลูกอาจารย์ถวัลย์ก็เลยทำให้เป็นคนเข้มงวดมาก ? เขาตอบสวนมาทันทีว่า “เป็นคนบ้ามากกว่าชาวบ้าน” แล้วเล่าต่อให้เราได้เห็นถึงตัวตนของศิลปินผู้ยิ่งใหญ่จากวิถีการเลี้ยงลูกชาย

“อย่างที่บอกก็คือ ถ้าไม่แกร่งก็ปล่อยให้มันตาย สมมติว่าลูกโดนรถชนเข้าไอซียู พ่อแม่คนอื่นต้องมาตั้งแต่วันแรก แต่พ่อผมไม่มา ต้องแน่ใจว่าจะรอดเขาถึงมา วันที่เขามาเขาประคองผมลุกจากเตียง พอลุกยืนแล้วเลือดไม่ไปเลี้ยงสมอง ผมก็ตาเหลือกเห็นแต่ตาขาว เขาก็กลับบ้านไปวาดรูปซีรีส์ที่ม้าไม่มีลูกตา เขาไม่ร้องห่มร้องไห้เหมือนพ่อแม่ชาวบ้าน และตอนที่ผมเป็นวัยรุ่น ผมโดนแฟนทิ้ง ผมร้องไห้เขียนจดหมายหาพ่อ เขาก็บอกว่า ทำไมลูกไม่เอาอินสไปร์ตรงนั้นมาสร้างผลงาน เราจะตายอยู่แล้ว พ่อยังจะให้เราทำงาน บ้าหรือเปล่าเนี่ย คนบ้าแน่นอน เขาสามารถจะเปลี่ยนเอาอะไรก็ตามมาสร้างเป็นงานได้ ในทุกวิกฤตที่เขาเจอ เขาสร้างโอกาสให้ตัวเอง” นี่คือเบ้าหลอมที่อาจารย์ถวัลย์ใช้หล่อหลอมลูกชายมาตลอด “เพราะพ่อหลอมให้เราเป็นอย่างนี้ ผมจะหยุดทำงานก็ต่อเมื่อผมตายเท่านั้นเอง” เขาบอก

การบริหารจัดการ “บ้านดำ” และผลงานล้ำค่ากว่า 5,000 ชิ้น

ทายาทเพียงคนเดียวของอาจารย์ถวัลย์เปิดเผยว่า ผลงานที่พ่อทิ้งไว้ให้มีราว ๆ 5,000 ชิ้น ปัจจุบันเก็บรักษาในเซฟอย่างดี และแทบไม่ได้ขายเลย เขาเลือกทำเป็น reproduction คือ ทำภาพพิมพ์ขาย ราคาใบละประมาณ 50,000 บาท ทำ 100 ใบก็ขายได้เงินประมาณ 5 ล้านบาท จึงไม่เห็นความจำเป็นจะต้องขายผลงานจริง

ขณะเดียวกัน เขาได้ขยายตลาดโดยสร้างกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ ขึ้นมาด้วย จากเดิมในตอนที่อาจารย์ถวัลย์ยังมีชีวิตอยู่ ท่านมีลูกค้าเพียงเกรดเดียว คือ เจ้าสัวผู้มั่งคั่งที่เป็นลูกค้าเกรด A แต่ตอนนี้ดอยธิเบศร์ได้สร้างลูกค้าเกรด B เกรด C เกรด D ขึ้นมา โดยนำผลงานมาทำ reproduction ตั้งแต่ราคาหลักสิบไปจนถึงหลักหมื่น ให้คนเข้าถึงได้มากขึ้น

ส่วน “บ้านดำ” ที่จังหวัดเชียงราย เขาดูแลโดยนำรายได้จากทางอื่นมาซัพพอร์ต เพราะบ้านดำยังไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ รายได้ไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งต้องใช้เดือนละประมาณ 2 ล้านบาท ยิ่งในปีที่ผ่านมามาจนถึงตอนนี้ที่โควิด-19 ระบาด ไม่มีนักท่องเที่ยว รายได้ก็หายไปทั้งหมด แต่ยังคงต้องจ่ายค่าจ้างพนักงาน เขาบรรยายภาพสถานการณ์ของบ้านดำในช่วงวิกฤตโควิดว่า “ถ้าเป็นผู้ป่วยก็เป็นผู้ป่วยติดเตียงแล้วแหละ”

ดอยธิเบศร์คิดว่าต่อไปจะต้องขายของออนไลน์มากขึ้น เพื่อให้บ้านดำมีรายได้เลี้ยงตัวเอง แต่ก็เข้าใจว่าจะต้องค่อย ๆ โต เพราะโดยธรรมชาติของเมืองไทยไม่มีพิพิธภัณฑ์ที่ประสบความสำเร็จทำเงินเลี้ยงตัวเองได้ แต่จำเป็นต้องทำต่อไปเพื่อทำนุบำรุงมรดกทางวัฒนธรรม

สำหรับในระยาว เขาได้วางระบบไว้แล้วว่า จะต้องมีมูลนิธิมาดูแลบ้านดำ ผลงาน และทรัพย์สินทั้งหมด หากเขาต้องจากโลกนี้ไป การบริหารจัดการจะรันต่อไปได้โดยไม่มีอะไรหยุดชะงักเพราะตัวเขาเพียงคนเดียว

“บ้านดำไม่ใช่ของผม บ้านดำไม่ใช่ของอาจารย์ถวัลย์ ในอนาคตมันจะบริหารโดยมูลนิธิ หรือองค์กรเอกชนที่จะเข้ามาซัพพอร์ต เราไม่ได้คิดว่าบ้านดำเป็นของเราตั้งแต่แรก เราคิดว่ามันเป็นของประเทศชาติ แต่เราต้องดูแลเพราะว่ารัฐบาลเขามีอย่างอื่นต้องทำมากมาย”

มิวเซียม-ศิลปะไทย บริหารจัดการอย่างไรให้ทำเงิน

หนึ่งในปริญญา 3 ใบของ ดร.ดอยธิเบศร์ เป็นปริญญาโทด้านบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ เราถามเขาว่า จากที่เรียนด้านนี้มาโดยตรง มีคำตอบสำเร็จรูปไหมว่าจะทำอย่างไรให้มิวเซียมเมืองไทยทำเงินได้ในวิถีทางที่ถูกที่ควร ให้ไปด้วยกันได้ทั้งศิลปะและพาณิชย์

ดอยธิเบศร์ตอบว่า “จริง ๆ มันมี” และบอกต่อว่า พิพิธภัณฑ์ต้องมีวิธีการหาเงินให้ได้มากกว่าแค่การขายของที่ระลึกเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งการจะทำได้ต้องมีการบริหารจัดการที่เป็นระบบ และต้องมีผู้ซัพพอร์ต นั่นก็คือภาครัฐที่ต้องเล็งเห็นความสำคัญของศิลปะและมรดกทางวัฒนธรรมมากกว่าที่เป็นอยู่

“คนจากทั่วโลกต้องมาดูวัดพระแก้ว แต่เราไม่เห็นคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมเท่าที่ควร เรามองว่าต้องทำเรื่องเศรษฐกิจให้ทัดเทียมกับเมืองนอก ทำไมคุณไม่เอาศิลปวัฒนธรรมมาเป็นตัวชูโรงบ้างล่ะ ในเมื่อคนทั่วโลกหลั่งไหลมาดูศิลปวัฒนธรรม ทำไมเราไม่เอาตรงนี้มาสร้างเป็นเศรษฐกิจ ผมต่อยอดให้ดูแล้ว เรามองแต่สิ่งที่เราขาดแล้วพยายามสร้างขึ้นมาทดแทนส่วนที่ขาด เรากลับไม่เอาสิ่งที่เรามีมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์”

เขายกตัวอย่างประสบการณ์การต่อยอดและทำเงินที่เขาทำสำเร็จว่า หลายปีก่อนเขาเคยนำภาพวาดรูปม้ามาพิมพ์ลงบนเสื้อยืด ด้วยข้อจำกัดที่ม้าตัวใหญ่มาก ไม่สามารถวางลงบนด้านใดด้านหนึ่งของเสื้อได้ เขาจึงวางพาดจากด้านหน้าไปด้านหลัง ปรากฏว่าการแก้ปัญหานั้นได้กลายเป็นเสื้อที่ดีไซน์เก๋ ๆ และได้รับการตอบรับดีมาก ต่อมาในปี 2007 ตอนที่เริ่มทำแกลเลอรี่ที่หน้าบ้านดำ เขานึกถึงเสื้อลายม้าตัวนั้น เขาจึงไปเอาบล็อกพิมพ์ลายเสื้ออันเดิมนั้นมาเป็นบล็อกพิมพ์ลงบนผ้าให้เป็นสองกรอบวางต่อกันเป็นหนึ่งภาพ ซึ่งยังขายได้มาจนถึงทุกวันนี้ จากราคาหลักร้อยขายได้จนถึงหลักร้อยล้าน

ดอยธิเบศร์เน้นย้ำว่า ประเทศไทยควรเห็นคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรม รัฐบาลต้องสนับสนุนและต่อยอดให้เกิดประโยชน์ มิวเซียมของรัฐควรเปิดกว้างให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อช่วยกันดึงดูดความสนใจของคนรุ่นใหม่ ขณะเดียวกันคนในวงการศิลปะไม่ควรติดอยู่ในกรอบว่าศิลปะต้องนำเสนอในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเท่านั้น เขาบอกว่า นิทรรศการที่เพิ่งจัดไปเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าศิลปะสามารถต่อยอดไปได้อย่างไรบ้าง

“ถ้ามีคนมาสนับสนุน เราจะไปได้ไกลกว่านี้ เรามีของเยอะจริง ๆ เพียงแต่ว่าคนไม่ไปดูกัน เราต้องปลูกฝัง เดี๋ยวนี้ก็มีเหตุการณ์ดี ๆ เกิดขึ้น วัดพระแก้วเพิ่งเปิดกลางคืน วัดต่าง ๆ มีการเปิดมิวเซียม ผมว่ามันเริ่มดีขึ้นแล้ว เขาเริ่มเห็นคุณค่าอะไรบางอย่าง ก็ค่อย ๆ ดีขึ้น มันต้องช่วยกัน” เขาแสดงความเห็นอย่างมีความหวัง