แฝดสยามอิน-จัน จากแม่กลอง…สู่อเมริกา ชีวิตคู่ที่ไม่พรากจากกัน

ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร : เรื่อง
หม่อมหลวงธีรพันธุ์ ทวีวงศ์ : ภาพ

เรื่องเล่าของ อิน-จัน ได้กลับมาเป็นที่โจษจันอีกครั้งหนึ่ง เมื่อ “กันตนา โมชั่น พิคเจอร์ส” และ “ทรู ออริจินัล” ร่วมกันทำเป็นซีรีส์ 13 ตอนจบ บน Disney+ Hotstar เพื่อถ่ายทอดความมหัศจรรย์ของแฝดสยามที่มีอายุอยู่ในโลกยุคเก่าเมื่อ 200 กว่าปีที่ผ่านมา

ความมหัศจรรย์ของเรื่องเล่านี้เกิดจาก เด็กชายแฝดสยามคู่หนึ่ง จาก บ้านแหลมใหญ่ เมืองแม่กลอง (สมุทรสงคราม) ที่มี “ท่อนเนื้อ” ยาว 4 นิ้ว หนา 1 นิ้วครึ่ง เชื่อมร่างบริเวณระหว่างสะดือกับหน้าอกในลักษณะหันหน้าเข้าหากัน

ทั้งสองน่าจะเกิดปี 1811 หรือปี 1812 ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 มีบิดาเป็นคนจีน มารดาเป็นคนไทย ประกอบอาชีพทำการประมง โดยชาวยุโรปคนแรกที่ได้พบแฝดสยามก็คือ Robert Hunter หรือ นายหันแตร ชาวอังกฤษ ซึ่งเข้ามาตั้งร้านค้าในสยาม

กล่าวกันต่อ ๆ มาว่า หันแตร เห็นแฝดอิน-จัน มี 2 หัว 4 แขน 4 ขาว่ายน้ำข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาหรืออาจจะเป็น แม่น้ำแม่กลอง และได้ติดตามแฝดทั้งสองมาโดยตลอด จนกระทั่งถึงปี 1829 นายหันแตร ได้เข้าหุ้นกับ Abel Coffin กัปตันเรือจากนิวอิงแลนด์ที่เดินทางเข้ามาค้าขายในสยาม เพื่อหาทางที่จะนำเด็กแฝดทั้ง 2 ออกจากสยามในฐานะ “สิ่งแปลกประหลาดมหัศจรรย์”

ด้วยการทำสัญญากับพ่อแม่ของเด็กระบุไว้ว่า กัปตัน Coffin จะพา อิน-จัน ไปอเมริกา 3 ปี เมื่อครบ 3 ปีแล้วจะพากลับมาส่ง ในการนี้มีการให้เงินกับพ่อแม่อิน-จันไว้เป็นจำนวนหนึ่ง จนอาจเข้าใจได้ว่า เป็นการซื้อเด็กแฝดสยามออกจาก แม่กลอง และจะไม่ได้กลับคืนมาสู่บ้านเกิดเมืองนอนอีก

ซึ่งแน่นอนว่า การนำแฝดสยามออกไปครั้งนี้จะทำเงินให้กับทั้งสองได้อย่างงดงาม

เดือนเมษายนปี 1829 มีรายงานว่า อิน-จัน ได้ขึ้นเรือ Sachem ซึ่งเป็นเรือใบ 3 เสา เดินทางออกจากสยามในราว ๆ อายุ 17-18 ปี ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 เดือนกว่าถึง เมืองบอสตัน สหรัฐ ในเดือนสิงหาคม ทั้ง Hunter และ กัปตัน Coffin ก็ได้เริ่มต้นธุรกิจขายความเป็นคนประหลาดที่มีตัวติดกันของอิน-จันทันที ด้วยการกางเต็นท์โชว์ตัวและเปิดการแสดงความสามารถของแฝด

จากบอสตันไปสู่นิวยอร์กและเมืองต่าง ๆ ในสหรัฐ ข้ามไปสู่เกาะอังกฤษและอื่น ๆ โดยมีข้อสังเกตว่า นับตั้งแต่ อิน-จัน ก้าวเท้าเข้าสู่สหรัฐไปจนถึงยุโรป ตลอดระยะเวลาหลายปี นอกจากจะต้องเปิดการแสดงแล้ว อิน-จัน ยังถูกตรวจร่างกายจากแพทย์ผู้มีชื่อเสียงที่ต้องการไขความลับเรื่องร่างกายติดกัน แต่อีกด้านหนึ่งก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การตรวจร่างกายถือเป็นการ “โปรโมต” เพื่อโฆษณาความแปลกประหลาดไปในตัว

ดูเหมือนว่า “อิน-จัน“ เองก็รับรู้ว่า การโชว์ตัวในโลกภายนอกสยามนั้นเป็นการดำเนินธุรกิจรูปแบบหนึ่ง จากหลักฐานที่ว่า มีการจ่าย “ค่าจ้าง” เป็นรายชั่วโมงหรืออาจจะรายวันให้กับคู่แฝด แต่ไม่รู้ว่า กัปตัน Coffin และ Hunter หุ้นส่วนมีรายได้จากการเก็บค่าผ่านประตูให้กับผู้คนที่ต้องการเข้ามาดูโชว์คนประหลาดจากดินแดนไกลโพ้นอย่าง สยาม นี้เท่าไหร่

ตรงนี้น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ “อิน-จัน” บอกเลิกสัญญาการโชว์ตัวกับกัปตัน Coffin ทันทีที่อายุครบ 21 ปี หรือ 3 ปีหลังจากที่เดินทางออกจากสยาม และผันตัวออกมาเป็น “ศิลปินคู่ตัวติดกัน” เปิดการแสดงหารายได้ด้วยตัวเองไปทั่วสหรัฐและยุโรปรวมไปถึงแคนาดา โดยมีบุคคลสำคัญในวงสังคมขณะนั้นมากหน้าหลายตาเข้ามาดูโชว์ของคู่แฝด

หลังจากที่ อิน-จัน ตระเวนเปิดการแสดงโชว์จนมีอายุประมาณ 28 ปี ชีวิตของแฝดสยามก็ได้เดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญ และอาจจะสำคัญที่สุดในความเป็นมนุษย์ที่มีร่างกายติดกันในยุคสมัยนั้นก็ได้ เมื่อทั้งคู่พบ “รัก” กับพี่น้องคู่หนึ่ง

Sallie กับ Adelaide Yates ลูกสาวชาวไร่ข้าวโพดแห่งเมือง Wilkesboro ในรัฐนอร์ทแคโรไลนา

โดยเรื่องราวความรักของ “อิน-จัน” เกิดขึ้นหลังจากที่ทั้งคู่ตัดสินใจที่วางมือจากการแสดงโชว์ที่มีต่อเนื่องมาอย่างยาวนานเสียที ด้วยการคิดจะลงหลักปักฐานในสหรัฐและตัดสินใจซื้อที่ดินที่ Trap Hill เพื่อทำไร่ การซื้อที่ดินดังกล่าวทำให้ทั้งคู่ต้องโอนสัญชาติจาก สยาม มาเป็น อเมริกัน

และเปลี่ยนชื่อสกุลมาเป็น Bunker ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ก็ยังมีความคลุมเครืออยู่ว่า คู่แฝด นำชื่อสกุลนี้มาจากไหน

คู่แฝด อิน-จัน ตัดสินใจแต่งงานกันในปี 1843 เมื่ออายุได้ราว 33-34 ปี การแต่งงานครั้งนี้นับเป็นความกล้าหาญของบุคคลทั้ง 4 ไม่ว่าจะเป็นตัวคู่แฝดเอง หรือ พี่น้องตระกูล Yates ท่ามกลางความกดดันจากคนรอบข้างที่มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยจากการที่ต้องใช้ชีวิตร่วมกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการมีบุตรสืบตระกูลของคู่แฝด

แต่ถ้าจะพิจารณาจากฐานะของอิน-จันในช่วงขณะนั้นแล้วก็จัดว่า มีความพร้อมที่จะลงหลักปักฐานที่สหรัฐ โดยทั้งคู่เป็นเจ้าของที่ดินทั้งที่ Trap Hill และยังมีการซื้อที่ดินเพิ่มอีกที่เมือง Mt.Airy ทำไร่ข้าวโพด-ยาสูบและยังครอบครอง “ทาส” อีกกว่า 20 คน

กลายเป็นที่มาของทั้งคู่ที่ “จำเป็น” จะต้องมีบ้าน 2 หลัง เมื่อมีลูก ๆเพิ่มขึ้น ตามสูตรอยู่บ้านละ 3 วันสลับกัน ส่งผลให้ทั้ง อิน-จัน มีทายาทรวมกันถึง 21 คน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังของชีวิตแฝดสยามนั้น ฐานะทางการเงินที่มีรายได้จากการทำไร่ก็ไม่ได้ราบรื่นนัก เมื่อสหรัฐอเมริกาเข้าสู่สงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ เศรษฐกิจตกต่ำลง ทำให้ อิน-จัน ในช่วงบั้นปลายของชีวิตต้องกลับไปตระเวนเปิดการแสดงโชว์อีกครั้งหนึ่ง

แต่ครั้งนี้อาจไม่เหมือนเดิม เนื่องจาก “ความแปลก” ของการมีตัวติดกันไม่อาจจูงใจให้ผู้คนตัดสินใจควักกระเป๋าซื้อตั๋วเข้าชมได้ง่าย ๆ เหมือนตอนที่มาอเมริกาใหม่ ๆ

ดังนั้น อิน-จัน ในวัยเกือบ 50 ปี จึงตัดสินใจในปี 1860 ทำสัญญาร่วมการแสดงกับคณะละครสัตว์ชื่อดัง Phineas Taylor Barnum แม้จะโชว์ร่วมกันแค่ช่วงเวลาหนึ่ง แต่ได้กลายเป็นสิ่งเริ่มต้นที่จะทำลายความฝันในการเกษียณอายุจากการแสดงโชว์โดยสิ้นเชิง และเริ่มออก “เดินสาย” จากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่งเพียงแต่ครั้งนี้นอกเหนือจากเหตุผลในเรื่องของ “เงิน” แล้ว ลึก ๆ อิน-จัน อาจคิดที่จะผ่าตัดแยกร่างออกจากกันด้วย

ทว่าความฝันที่จะแยกร่างออกจากกันนั้น “ไม่เคยเกิดขึ้นจริง” แม้จะเป็นวาระสุดท้ายในชีวิตของทั้งสอง หลังจากที่ตระเวนเปิดการแสดงอยู่ในยุโรปจนอายุได้เกือบ 60 ปี “จัน” ก็เริ่มป่วยจากอาการของโรคหัวใจและไม่อาจตระเวนเปิดการแสดงโชว์ได้อีก จนกระทั่งถึงเดือนมกราคมปี 1874 แฝดผู้น้อง “จัน” ก็ได้จากไปก่อน ตามด้วยแฝดพี่ “อิน” ในเวลาต่อมา


ปิดฉากชีวิตการแสดงโชว์ของแฝดคู่จากลุ่มน้ำแม่กลองที่ดำเนินมาถึง 45 ปี