ตำนาน ขนมไหว้พระจันทร์ ความเชื่อ-ความอร่อย ตามยุคสมัย

พลพัต สาเลยยกานนท์ : เรื่อง

เทศกาลไหว้พระจันทร์ ตรงกับ 15 ค่ำ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติ ซึ่งสืบทอดความเชื่อกันมาอย่างยาวนานหลายพันปี โดยมีหลายตำนานความเชื่อเกี่ยวกับเทศกาลดังกล่าวเล่าขานถึงความเป็นมาของจุดเริ่มต้น “การไหว้พระจันทร์” และ “ขนมไหว้พระจันทร์”

เรื่องราวของเทศกาลไหว้พระจันทร์เป็นวัฒนธรรมจีนที่มีขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยวช่วงกลางฤดูสารทของจีน ซึ่งมีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับเทศกาลสารทจีน ที่เกิดขึ้นก่อนเทศกาลไหว้พระจันทร์เนื่องจากผลผลิตแรกที่ได้จะถูกนำไปไหว้บูชาบรรพบุรุษในช่วงสารทจีนก่อน

จากนั้นจึงถือเอาช่วงค่ำคืนที่พระจันทร์เต็มดวงเป็นตัวแทนในเทศกาลดังกล่าว ซึ่งถือเป็นเทศกาลใหญ่อันดับสองรองจากตรุษจีน สำหรับชาวจีนในแทบทุกถิ่น

Photo by MIKE CLARKE / AFP

อาจารย์ถาวร สิกขโกศล ผู้เชี่ยวชาญด้านประเพณีจีน เล่าให้ฟังถึงตำนานเรื่องเล่าของเทศกาลไหว้พระจันทร์ ว่า ในอดีตกาล ราชาโฮ่วอี้มีชายานามว่าฉางเอ๋อร์ ครั้งหนึ่งมีพระอาทิตย์ขึ้นพร้อมกัน 10 ดวง เดือดร้อนชาวโลกเป็นอันมาก

ราชาโฮ่วอี้จึงขึ้นไปบนยอดเขาคุนหลุนแล้วใช้ธนูยิงอาทิตย์ดับไป 9 ดวง ทำให้ได้รับการแซ่ซ้อง มีผู้คนมาขอเรียนวิชาธนูมากมาย รวมถึงเฝิงเหมิงผู้มีจิตใจชั่วร้ายด้วย

ต่อมาโฮ่วอี้ได้ยาอายุวัฒนะจากผู้วิเศษท่านหนึ่ง เฝิงเหมิงรู้เข้าจึงฉวยโอกาสที่โฮ่วอี้ไม่อยู่บุกชิงยาจากฉางเอ๋อร์ เธอจึงกินยานั้นเสียเองก่อนล่องลอยไปถึงดวงจันทร์ กลายเป็นเทพีสถิตบนดวงจันทร์ไป

โฮ่วอี้กลับมากำจัดเฝิงเหมิงแล้วเศร้าโศกคิดถึงฉางเอ๋อร์ พอดีเป็นวันเพ็ญเดือนแปด จันทร์งามกระจ่าง โฮ่วอี้จึงจัดเครื่องเซ่นบูชาพระจันทร์รำลึกถึงฉางเอ๋อร์

ขณะที่บางตำนานเล่าต่างออกไปว่า หลังโฮ่วอี้ได้ยาอายุวัฒนะมาก็กลายเป็นคนชั่วร้าย เบียดเบียนข่มเหงประชาชน ฉางเอ๋อร์กลัวชาวบ้านจะเดือดร้อนหากโฮ่วอี้เป็นอมตะจึงชิงกินยาอายุวัฒนะเสียเองแล้วลอยไปอยู่บนดวงจันทร์ ผู้คนจึงรำลึกถึงความดีงามของเธอด้วยการไหว้พระจันทร์กลางเดือนแปดสืบมา

ด้านตำนานเกี่ยวกับ ขนมไหว้พระจันทร์ มีอยู่ว่า ครั้งหนึ่งแม่ทัพหลี่จิ้งชนะศึกกลับมาเฝ้าพระเจ้าถังเกาจู่ (ช่วงปีพุทธศักราช 1161-1169) ในท้องพระโรงยามราตรีคืนเพ็ญ พอดีมีพ่อค้าชาวทิเบตนำขนมปิ้งมีลวดลายสวยงามมาถวาย

พระองค์ทรงโสมนัส สำรวลดำรัสชี้ไปที่เดือนเพ็ญว่า ต้องชวนพระจันทร์ชิมขนมนี้ด้วย แล้วแบ่งขนมนั้นพระราชทานขุนนางทุกคน จึงเกิดประเพณีกินขนมพระจันทร์คืนเดือนแปดตั้งแต่นั้นมา

อีกตำนานที่เกี่ยวเนื่องกันเป็นเรื่องเล่าที่อ้างว่าเกิดสมัยราชวงศ์หยวนของชาวมองโกลซึ่งรับเอาประเพณีนี้ไปจากชาวจีน ครั้งหนึ่งผู้นำต่อต้านมองโกลหวังรวบรวมกำลังชาวจีนขึ้นสู้ราชวงศ์ต่างเผ่า จึงคิดอุบายเขียนข้อความนัดหมายใส่กระดาษซ่อนไหว้ในขนมไหว้พระจันทร์ แจกจ่ายไปในหมู่ชาวจีน

ถึงค่ำวันจงชิว หลังกินขนมไหว้พระจันทร์แล้ว ทุกครอบครัวจึงคว้าอาวุธที่หาได้จับผู้คุมชาวมองโกลมาสังหาร และสามารถโค่นล้มราชวงศ์หยวนได้สำเร็จ

Photo by MIKE CLARKE / AFP

ส่วนตำนานขนมไหว้พระจันทร์ในประเทศไทย ถูกบุกเบิกโดย เอส แอนด์ พี เข้าซื้อกิจการของขนมไหว้พระจันทร์มังกรทอง และประกาศตัวเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายขนมไหว้พระจันทร์เป็นครั้งแรกในปี 2553 ทำให้ตลาดดังกล่าวมีการขยายตัวและแพร่หลายมากยิ่งขึ้น

สำหรับรูปแบบพิธีกรรมในการไหว้พระจันทร์ และรสชาติของ ขนมไหว้พระจันทร์ ได้เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แรกเริ่มเดิมทีรสชาติของขนมไหว้พระจันทร์หลัก ๆ จะมีไม่กี่แบบ อาทิ ไส้โหงวยิ้ง (ซึ่งมีความหมายว่า เมล็ดพืช 5 ชนิด)

ซึ่งเป็นส่วนผสมหลักของไส้ที่ใช้ถั่วเละธัญพืชที่มีความหมายมงคล, ไส้ทุเรียน, ไส้เมล็ดบัว และไส้พุทราจีน เป็นต้น โดยในช่วงหลัง ๆ รสชาติรูปแบบใหม่ถูกนำมาใส่ไว้ในขนมไหว้พระจันทร์ อาทิ ไส้ช็อกโกแลต, ไส้ชาเขียว, ไส้แมคาเดเมีย เป็นต้น ก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัยและคนรับประทาน

ผู้เล่นในตลาดขนมไหว้พระจันทร์นี้จะไม่กล่าวถึงคงไม่ได้อย่าง “เอส แอนด์ พี” ที่ปีนี้เปิดตัว 2 รสชาติใหม่อย่างขนมไหว้พระจันทร์ไส้หมอนทองเก๋ากี้ไข่เค็มลาวา และขนมไหว้พระจันทร์ไส้หมูฮ่องเต้ซอสเอ็กซ์โอ โดย อรรถ ประคุณหังสิต ประธานเจ้าหน้าที่สายปฏิบัติการธุรกิจเอส แอนด์ พี บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า

ปัจจุบันบริษัทผลิตขนมไหว้พระจันทร์จำนวน 14 รสชาติ (19 ไส้) โดยมีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ทุกปี เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค และสร้างความแปลกใหม่ให้กับตลาดขนมไหว้พระจันทร์

อีกเจ้าที่ร่วมวงมาลงเล่นในตลาด ขนมไหว้พระจันทร์ แนวใหม่ อย่าง สตาร์บัคส์ ซึ่งแม้ปีนี้จะไม่มีรสชาติใหม่ออกมา แต่ปัจจุบันก็มีมากถึง 9 รสชาติ อาทิ ไส้กาแฟสตาร์บัคส์, ไส้ชาเขียวสตาร์บัคส์และถั่วแดง, ไส้ทุเรียนหมอนทอง, ไส้ช็อกโกแลตมินต์, ไส้โหงวยิ้ง, ไส้ชากุหลาบและเบอร์รี่, ไส้อาซาอิมิกซ์เบอรี่, ไส้บราวน์ชูการ์มิลก์ที และไส้มอกค่า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ตลาดขนมไหว้พระจันทร์ปี 2564 คาดว่าจะมีมูลค่าราว 755 ล้านบาท ลดลง 5.7% จากปีก่อนหน้าที่ลดลง 15.8% จากผลกระทบด้านกำลังซื้อผู้บริโภคที่ยังไม่ฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย และมีระดับความรุนแรงมากกว่าปีก่อน ทำให้กำลังซื้อผู้บริโภคในประเทศยังคงเปราะบาง ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อขนมไหว้พระจันทร์ในปีนี้

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าจับตาของปีนี้ก็คือ การเข้ามาทำตลาดของผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กในกลุ่มเบเกอรี่ ร้านอาหาร ซึ่งมีการแตกผลิตภัณฑ์ให้ครอบคลุมและจับกระแสในช่วงเทศกาล โดยใช้จุดขายสำคัญในการดึงดูดลูกค้า

อาทิ ชื่อเสียงของร้าน ผู้ปรุง ผู้ผลิต ในระดับที่ไม่ได้แตกต่างจากผู้ประกอบการรายเดิมในตลาดมากนัก อีกทั้งยังทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น สื่อโซเชียลมีเดีย ซึ่งทำให้เข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ดี โดยเฉพาะกลุ่มที่ยังสนใจซื้อ หรือต้องการทดลองสินค้าใหม่ ๆ ซึ่งทางเลือกของผู้บริโภคที่มีมากขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงการแข่งขันในตลาดที่รุนแรงขึ้นตามไปด้วย

สำหรับปีนี้ เทศกาลไหว้พระจันทร์ ตรงกับวันอังคารที่ 21 กันยายน 2564 พิธีไหว้พระจันทร์เดิมนิยมไหว้ 3 เวลา ได้แก่ ไหว้เทพเจ้าช่วงเช้า (ช่วง 07.00 น.-09.00 น.), ไหว้บรรพบุรุษช่วงสาย (ช่วง 10.00 น.-12.00 น.) และไหว้เจ้าแม่ช่วงค่ำ (ช่วง 19.00 น.-23.00 น.

แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปก็ทำให้รวบรัดมากยิ่งขึ้นเหลือเฉพาะช่วงค่ำซึ่งสามารถไหว้ได้ทันทีที่เห็นพระจันทร์ขึ้น โดยสถานที่ตั้งโต๊ะไหว้จะต้องเป็นที่โล่ง อาทิ ลานบ้าน ดาดฟ้า เป็นต้น

สิ่งของเครื่องไหว้สำหรับการไหว้พระจันทร์คล้ายกับการไหว้เจ้าทั่วไปคือ อาหารแห้ง, ผลไม้, ขนมหวาน, โคมไฟ, ธูป, เทียน, ดอกไม้ เป็นต้น ซึ่งความเชื่อในการอธิษฐานขอพรเรื่องความรัก ความมีเสน่ห์ การได้รับความเมตตา หน้าที่การงาน รวมทั้งโชคลาภ

และหลังเสร็จพิธีเมื่อธูปและเทียนดับลง ให้นำขนมไหว้พระจันทร์มาแบ่งกันกินในครอบครัว โดยต้องนำมาหั่นแบ่งให้เท่ากับจำนวนคนในครอบครัว ห้ามขาดหรือเกิน และแต่ละชิ้นที่แบ่งต้องมีขนาดที่เท่า ๆ กัน เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ทุกคนในครอบครัว

ชาวจีนเชื่อว่า “พระจันทร์” คือสื่อกลางของการคิดถึงซึ่งกันและกัน ถ้าหากมีคนในครอบครัวต้องจากบ้านไปไกล และเกิดความคิดถึงกันให้แหงนหน้ามองพระจันทร์ เพื่อส่งความคิดถึงไปยังคนในครอบครัว

นอกจากนี้ช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์ยังอยู่ในช่วงหลังเก็บเกี่ยวพืชผล จึงทำให้วันไหว้พระจันทร์และขนมไหว้พระจันทร์ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความสมบูรณ์และมั่งคั่ง ไหว้แล้วจะเกิดสิ่งสิ่งนั้นกับตัวเราเอง และในทางโหราศาสตร์

พระจันทร์คือตัวแทนแห่งโชคลาภและเสน่ห์เมตตา การไหว้พระจันทร์จึงเชื่อว่าเป็นการเสริมสิริมงคล พร้อมทั้งเรื่องโชคลาภและเมตตามหาเสน่ห์ไปในตัว