Let’s DO RIAN แพลตฟอร์มแห่งโอกาส ปั้นเศรษฐีรุ่นใหม่-เถ้าแก่ผักผลไม้

ทุเรียน
ปนัดดา ฤทธิมัต : เรื่อง

เมื่อ “ทุเรียน” มาแรงแซงโค้งในทุกตลาดผลไม้ของไทย ทั้งความนิยมและราคาที่พุ่งขึ้นสูง รายได้ส่งออกถือเป็นปัจจัยช่วยชาติ เมื่อเกิดปัญหาการส่งออกทุเรียนไทยไปต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน เพราะผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้ “ทีมผู้นำรุ่นใหม่” หรือ “เถ้าแก่ทีมผักผลไม้” จากสถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) เร่งระดมความคิดและวางเป้าหมายเพื่อจะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวในระยะยาว

เปิดแพลตฟอร์มช่วยชาวสวนทุเรียน

ทั้งหมดจึงเป็นที่มาของแคมเปญ “Let’s DO RIAN” โดย C.P.Group ที่หวังระบายทุเรียน แบ่งปันทำเล โดยใช้เครือข่ายหน้าร้านค้าในเครือกว่า 500 จุดทั่วประเทศ สร้าง “พ่อค้า-แม่ค้า” ประจำจุด พร้อมตั้งเป้าจะปั้นเถ้าแก่ใหม่ใน 100 วัน เพื่อสร้างการเติบโตของเกษตรกร และ SMEs ไทย ภายใต้ “แพลตฟอร์มแห่งโอกาส” ที่มุ่งขยายตลาดให้ชาวสวนมีฐานะดีขึ้น มั่นคงขึ้นจากอาชีพเถ้าแก่ผลไม้

น.ส.ณัชชาชนก ณ ตะกั่วทุ่ง สปอนเซอร์โครงการผักผลไม้ ภายใต้โครงการพัฒนาพิเศษ เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์เดินหน้าโครงการ Let’s DO RIAN เป็นปีที่ 2 เพื่อช่วยเกษตรกรสวนทุเรียนให้กระจายผลผลิต เพิ่มการบริโภคในประเทศผ่านช่องทางค้าปลีกของเครือ ซี.พี. ได้แก่ ห้างโลตัส, โลตัส โก เฟรช, ซีพี เฟรชมาร์ท และร้านเซเว่นอีเลฟเว่น

โดยโครงการ Let’s DO RIAN จะมีผู้นำรุ่นใหม่ระดับเถ้าแก่น้อย เถ้าแก่เล็ก เถ้าแก่กลาง และเถ้าแก่ใหญ่ ซึ่งหลักสูตรเถ้าแก่น้อย หรือหลักสูตรพัฒนาผู้นำเพื่ออนาคต (CP Future Leaders Development Program: CP FLP) วางเป้าหมายเพื่อเฟ้นหาและพัฒนาผู้นำรุ่นใหม่ นับเป็นอีกหนึ่งโครงการที่คัดสรรคนคุณภาพให้เป็นผู้นำองค์กรที่เชื่อมั่นในพลังของคนรุ่นใหม่ พลังแห่งอนาคตที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง และสร้างประโยชน์ให้กับประเทศได้อย่างยั่งยืน

ณัชชาชนก ณ ตะกั่วทุ่ง-ไพฑูรย์ วานิชศรี

เดินหน้าหลักการ 3 ประโยชน์

ทั้งยังสอดคล้องกับนโยบาย “แพลตฟอร์มแห่งโอกาส” ที่เครือ ซี.พี.มุ่งสนับสนุนส่งเสริมให้ SMEs และผู้ประกอบการธุรกิจอื่น ๆ ได้พัฒนาศักยภาพ พร้อมเปิดประตูสู่โอกาสใหม่ ๆ เพื่อการเติบโตทางธุรกิจด้วยหลักการ 3 ประโยชน์ ประกอบด้วย 1.ประโยชน์ต่อประเทศ 2.สร้างประโยชน์ให้กับสังคม และ 3.องค์กร

ซึ่งหลัก 3 ประโยชน์นี้เป็นแนวคิดที่เครือ ซี.พี.ยึดถือมายาวนาน และเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจที่ยั่งยืน เติบโตทั้งบนเวทีไทยและเวทีโลก

แพลตฟอร์มแห่งโอกาสจึงเป็นสะพานเชื่อมเส้นทางทุเรียนคัดคุณภาพจากเกษตรกรโดยตรง ส่งต่อไปยังเจ้าของธุรกิจในโครงการ Let’s DO RIAN เพื่อสร้างอาชีพให้คนไทยในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการช่วยเหลือเกษตรกรโดยส่งมอบทุเรียนคุณภาพดี วางใจได้ไปยังผู้บริโภคทั่วประเทศ โดยใช้แพลตฟอร์มดังกล่าวเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรสวนผลไม้อื่น ๆ ในทุกฤดูกาลด้วย

โดยเครือ ซี.พี.จะรับซื้อทุเรียนคุณภาพโดยตรงจากกลุ่มเกษตรกรในภูมิภาคต่าง ๆ อาทิ กลุ่มเกษตรกรสมาชิกการเกษตรเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี ทุเรียนจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ และทุเรียนภาคอีสาน ทุเรียนภูเขาไฟจากกลุ่มเกษตรกรที่มีเครื่องหมาย GI เป็นต้น เพื่อส่งไปจำหน่ายยังร้านค้า Let’s DO RIAN ต่อไป

เดือนพฤษภาคมของทุกปี ถือเป็นช่วงพีกของผลผลิตทุเรียนภาคตะวันออกประมาณ 720,000 ตัน ขณะนี้คงเหลือผลผลิต 370,00 ตัน หรืออีกครึ่งหนึ่งของผลผลิตทุเรียนทั้งภาค โดยมีการประมาณการจากกระทรวงพาณิชย์ถึงผลผลิตทุเรียนทั้งประเทศในปี 2565 ซึ่งมีปริมาณทั้งหมด 1.5 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 แบ่งเป็นผลผลิตทุเรียนจากภาคตะวันออก 720,000 ตัน ทุเรียนใต้ 627,000 ตัน และอื่น ๆ ที่กำลังทยอยออกสู่ตลาด

แม้การส่งออกสู่จีนซึ่งเป็นตลาดหลักได้ประสบปัญหาการขนส่งทั้งด่านทางบกจากความเข้มงวดเรื่องโควิด-19 แต่ผู้ค้าทุเรียนได้ดำเนินขั้นตอนระหว่างส่งออกจากไทย และนำเข้าสู่จีนอย่างเคร่งครัด ตามข้อกำหนดการป้องกันโรคระบาดตามมาตรฐาน แม้ปริมาณทุเรียนที่ส่งออกไปยังจีนจะลดลง แต่เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าทุเรียนยังคงคุณภาพสูง

ทุเรียนไทยยังเป็นที่หนึ่ง

นายไพฑูรย์ วานิชศรี เกษตรกรชาวสวนทุเรียน ซึ่งได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่น สาขาทำสวน เปิดเผยว่า สถานการณ์สวนทุเรียนปีนี้ ตั้งแต่เก็บเกี่ยวผลผลิตมาภาพรวมค่อนข้างดี ราคาส่งออกถือว่ายังดี ตลาดก็ตอบรับดี ภาพรวมปีนี้ดีไม่แพ้ปีที่แล้ว จะมีปัญหาบ้างคือเรื่องผลผลิตเสียหายจากสภาพอากาศแปรปรวน เช่น ปริมาณฝนที่ตกมากเกินไปในช่วงมีนาคม-เมษายน เป็นสภาพอากาศที่ผิดปกติจากภาวะโลกร้อน ผลผลิตเกิดร่วงเสียหาย มีบ้างที่รูปทรงไม่สวย

โดยทุเรียนพันธุ์หมอนทองยังคงได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเป็นอันดับ 1 มีส่วนแบ่งการตลาดใหญ่ที่สุด ทั้งรับประทานสด แกะเนื้อแช่แข็ง เฟรชคัต (fresh cut) ในส่วนการส่งออกชาวสวนได้นำส่งให้ C.P.Group ส่งขายต่างประเทศมาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว ส่วนเกรดที่ไม่ได้ส่งออกนั้น ส่วนหนึ่งจะนำเข้าโรงงานทำทุเรียนทอด อีกส่วนนำส่งโรงงานทำทุเรียนเฟรชคัตและแช่แข็ง โดยมีอัตราส่วนการส่งออกทุเรียน 70% ในประเทศ 30%

ทั้งนี้ ชาวสวนทุเรียนมองว่าโครงการ Let’s DO RIAN มีแนวคิดที่ดีจะช่วยได้ทั้งระบบ นอกจากจะช่วยให้เกษตรกรมีพื้นที่ขายทุเรียนมากขึ้นแล้ว ยังช่วยกระจายตลาดและเพิ่มช่องทางการขายได้โดยตรง เมื่อผู้บริโภคพึงพอใจกับผลิตภัณฑ์ที่ดี ราคาสมเหตุสมผล เกษตรกรก็อยู่ได้อย่างยั่งยืน

“เราปลูกทุเรียน 6,000 ต้น บนพื้นที่ 300 ไร่ เป็นทุเรียนพันธุ์หมอนทองเกือบ 100% ตอนนี้ให้ผลแล้ว 2,000 ต้น ที่เหลือจะเริ่มให้ผลปีหน้า ซึ่งทุเรียนจะให้ผลตั้งแต่อายุ 4 ปีขึ้นไป โดยต้นทุเรียนมีอายุเฉลี่ย 10-20 ปี หากดูแลดีต้นทุเรียนจะมีอายุ 30-40 ปี ทุเรียนภาคตะวันออกมีฤดูเก็บเกี่ยวช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน สำหรับในอาเซียนทุเรียนไทยเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาเป็นเวียดนาม และมาเลเซีย”

“แต่อนาคต สปป.ลาวจะเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของไทย ดังนั้น เกษตรกรต้องรีบปรับตัวเพื่อผลิตสินค้าดีมีคุณภาพ โดยนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วย” นายไพฑูรย์กล่าว

ซึ่งทุเรียนเกรดส่งออกจะมีน้ำหนัก 2.5-5.5 กิโลกรัม ปราศจากโรคแมลง มีความแก่ เปอร์เซ็นต์แป้งตามมาตรฐานที่รัฐกำหนด ปลอดภัยจากสารเคมี ซึ่งจีนจะสุ่มตรวจตลอด โดยใช้สารเคมีที่กลุ่มอเมริกาและกลุ่ม EU ยอมรับ

โกวิทย์ มีใหญ่

ขณะที่ นายโกวิทย์ มีใหญ่ กรรมการผู้จัดการ บริษัทสยามดรากอน เฟรช เครือข่ายสหกรณ์การเกษตรเขาคิชฌกูฏ เปิดเผยว่า กระบวนการรับซื้อทุเรียนมาจากสมาชิกสหกรณ์การเกษตรเขาคิชฌกูฏจำนวน 1,274 คน หรือ 24 กลุ่ม โดยจะรับซื้อเฉพาะทุเรียนแก่มีคุณภาพตามมาตรฐานเท่านั้น โดยทุเรียนส่งออกจะตัดที่มีความแก่ 75% เผื่อระยะเวลาในการเดินทางไปยังประเทศที่ส่งออกด้วย แต่ถ้าบริโภคภายในประเทศจะตัดทุเรียนที่ความแก่ 85%

โครงการ Let’s DO RIAN ถือเป็นแพลตฟอร์มใหม่ของเกษตรกรและผู้ประกอบการ โดยเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถก้าวขึ้นมาเป็น “เถ้าแก่น้อย” และ “เศรษฐี” คนรุ่นใหม่ได้อย่างไม่ยาก