ส.อ.ท. เผย ไบเดน ไม่มา ประชุม APEC ไม่ล่ม ชง MSME กู้รายย่อยฟื้นเศรษฐกิจ

เกรียงไกร เธียรนุกุล
เกรียงไกร เธียรนุกุล

“เกรียงไกร” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เผย “ไบเดน” ประธานาธิบดีสหรัฐ ไม่มาเป็นเรื่อง “น่าเสียดาย” แต่การประชุมไม่มีทางล่ม พร้อมชง 4 ข้อเสนอ จับมือ 21 เขตเศรษฐกิจร่วมกันกู้ MSME เส้นเลือดฝอยระบบเศรษฐกิจ

วันที่ 28 กันยายน 2565 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในฐานะ ประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 ตามรายงานข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศที่ระบุว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ไม่สามารถเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำ กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ที่กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย. 2565 ได้นั้น

เนื่องจากติดภารกิจเรื่องครอบครัว หรือแม้แต่ผู้นำบางประเทศที่ยังไม่ตอบรับคำเชิญ ทาง ส.อ.ท.รับทราบและเข้าใจว่า ผู้นำบางรายอาจมีภารกิจเข้าร่วมไม่ได้ ซึ่งก็ถือว่า “น่าเสียดาย” แต่ไม่ทำให้การประชุมล่มและการประชุมก็จะมีต่อไป โดยมีการมอบอำนาจส่งผู้แทนเข้าร่วม และอำนาจการตัดสินใจก็ไม่น่ามีปัญหาเช่นกัน

เกรียงไกร เธียรนุกุล

“เราหวังว่าภายใต้สถานการณ์ความผันผวนมาก การมีเวทีดี ๆ แบบนี้จะเป็นการปรับทัศนคติกัน จะช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีขึ้น สำหรับการประชุม APEC ครั้งนี้ หากผู้นำทุกฝ่ายให้ความสำคัญ มันคือดีที่สุด การที่ผู้นำมาประชุมเอง มันคือตัวจริงเสียงจริง การเจรจาจะมีจุดสรุปขับเคลื่อนได้ และถ้าทุกเขตเศรษฐกิจยึดมั่นมองในทิศทางเดียวกัน ไม่มีการเมืองมาเสริม มันจะไม่เบี่ยงประเด็นไป เพราะการเมืองแต่ละประเทศทวีความรุนแรง เราควรเอาเรื่องปากท้องมาคุยกัน ก็หวังในทุกระดับโฟกัสเรื่องเดียวกัน”

ดังนั้น สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจ (ABAC) ในฐานะที่เป็นหน่วยงานภาคเอกชนภายใต้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ที่ให้คำแนะนำด้านการดำเนินภาคธุรกิจแก่ผู้นำและคณะประชุม APEC จึงเตรียมนำประเด็นปัญหาของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อย (MSMEs-Micro, Small and Medium Enterprise) เสนอแนะแก่คณะรัฐมนตรีของแต่ละเขตเศรษฐกิจในการส่งเสริม 4 ด้านหลัก คือ

1.ส่งเสริมการปรับตัวในยุคดิจิทัล ผู้ประกอบการจะต้องนำดิจิทัลและนวัตกรรมทางเทคโนโลยีมาปรับใช้กับ MSMEs เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นมากขึ้นในการทำธุรกิจ อย่างไรก็ตาม อุปสรรคต่อการปรับตัวทางด้านดิจิทัลยังคงพบได้จากการขาดทักษะและความรู้ด้านดิจิทัล การขาดการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตที่มีคุณภาพ ตลอดจนการมีกฎระเบียบและกฎการค้าที่แตกต่างกันในแต่ละเขตเศรษฐกิจ ซึ่งอุปสรรคเหล่านี้จะเป็นตัวปิดกั้นโอกาสในการเติบโตของ MSMEs ในภูมิภาคได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ MSMEs จะต้องได้รับการฝึกฝนทักษะทางด้านดิจิทัลเพื่อให้เท่าทันกับสถานการณ์โลกที่กำลังเปลี่ยนไป

2.ส่งเสริมแนวทางปฏิบัติด้านความยั่งยืน (Sustainable practice) เพื่อการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว ทั้งในด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การฝึกอบรมและพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่อง การบูรณาการประเด็นความยั่งยืนเข้ากับห่วงโซ่คุณค่า และการสนับสนุนในการเข้าสู่กระบวนการการผลิตให้เป็นไปตามทิศทางกระแสโลกที่มุ่งสู่การเป็น BCG Economy (Bio-Circular-Green Economy) โดยกลุ่ม MSMEs จะต้องปรับตัวให้สอดรับกับแนวโน้มกระแสโลกดังกล่าว โดยเฉพาะการสร้างมูลค่าใหม่ (New value) และความสามารถในการแข่งขันที่มากขึ้น (Greater competitiveness) ผ่านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างสร้างสรรค์ และตระหนักถึงการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยสร้างความได้เปรียบด้านราคาและสร้างแรงดึงดูดด้านการลงทุนที่มากขึ้นต่อ MSMEs

3.ส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานของตลาดดิจิทัลสำหรับสินเชื่อหมุนเวียนธุรกิจ ซึ่งจะมีส่วนช่วยอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงด้านการเงินสำหรับ MSMEs นอกจากนี้ บริการทางการเงินด้วยระบบอัตโนมัติ จะช่วยให้การประมวลผลทางธุรกรรมสินเชื่อทำได้สะดวกขึ้น ลดต้นทุน และจำนวนเงินกู้ที่ไม่สูงนักก็ช่วยให้ธนาคารสามารถดำเนินการอนุมัติได้อย่างสะดวกและเร็วขึ้น

4.ส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจให้มากขึ้น หาก MSMEs กลุ่มที่มีบทบาทน้อยหรือขาดโอกาสในการสนับสนุนต่าง ๆ ได้รับการส่งเสริมอย่างแข็งขัน ก็จะสามารถสร้างแรงกระเพื่อมต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเปคได้อย่างต่อเนื่อง ในประเด็นนี้ สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจ (ABAC) ได้ให้คำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเสริมสร้างศักยภาพด้านดิจิทัล การเพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของสตรีเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ การระดมกลุ่มเยาวชน การพัฒนาเศรษฐกิจของชนพื้นเมือง ตลอดจนมาตรฐานการกำกับดูแลและความยั่งยืน ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นตัวขับเคลื่อนให้ MSMEs สามารถเอาชนะอุปสรรคและข้อจำกัดด้านการผลิต ตลอดจนช่วยกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจได้อย่างยืดหยุ่น ครอบคลุม และสมดุลในระยะยาว

“MSME เขาเหมือนถั่วเขียวที่พอรดน้ำแล้วโตเร็วมาเป็นถั่วงอก แต่รากเขามันเล็กไม่แข็งแรง สายป่านสั้น โอกาสน้อย เขาไม่เหมือนไม้ใหญ่ที่รากแข็งแรงยืนท้าลมฝนได้ก็ไม่ตาย และ MSME ก็มีจำนวนมากถึง 90% ของธุรกิจที่จดทะเบียน และเขาเป็นเส้นเลือดฝอยของระบบเศรษฐกิจ ในวันที่เขาล้มเราต้องช่วยกัน แก้ไขปรับกฎระเบียบให้เอื้อ ให้เขาฟื้นกลับมา โครงสร้างแบบนี้คล้ายกันเกือบทุกประเทศ ดังนั้นการเสนอเรื่องนี้เข้าที่ประชุมจะทำให้เราเห็น และร่วมมือกันช่วยแก้ปัญหา และหาโอกาสให้พวกเขาเหล่านี้เติบโตให้ได้”