กนช.ไฟเขียวร่างแผนแม่บทน้ำ 20 ปี เพิ่มแผนรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

กนช.ไฟเขียวร่างแผนแม่บทน้ำ 20 ปี

กนช.ไฟเขียวร่างแผนแม่บทฯ น้ำ 20 ปี ฉบับปรับปรุง ย้ำหน่วยงานใช้งบประมาณคุ้มค่า ปรับปรุงจำนวนกลยุทธ์ เพิ่มแผนรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมเคาะ 10 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ก่อนชง ครม. กรมชลฯ ระบุสถานการณ์น้ำล่าสุด เขื่อนเจ้าพระยา-ป่าสักฯ ปรับลดการระบายหลังน้ำเหนือลดลงต่อเนื่อง

วันที่ 19 ตุลาคม 2565 พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ว่าที่ประชุมพิจารณาให้ความเห็นชอบ (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (ปรับปรุงช่วงที่ 1 พ.ศ. 2566-2580) ที่ปรับปรุงกรอบแนวทางและค่าเป้าหมายตามกรอบวิสัยทัศน์ ทุกหมู่บ้านมีน้ำสะอาดอุปโภค บริโภค น้ำเพื่อการผลิตมั่นคง ความเสียหายจากอุทกภัยลดลง คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน บริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ภายใต้การพัฒนาอย่างสมดุล โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ
พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ

โดยได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 13 กระทรวง 51 หน่วยงาน เพื่อร่วมกันกำหนดกรอบแนวทางการพัฒนาด้านทรัพยากรน้ำ ค่าเป้าหมาย ตัวชี้วัด กลยุทธ์ แผนงานภายใต้แผนแม่บทฯน้ำ 20 ปี พร้อมทั้งได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจำนวน 7 พื้นที่ เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการลุ่มน้ำ องค์กรผู้ใช้น้ำ และภาคประชาชน เพื่อให้ร่างแผนแม่บทดังกล่าวมีความสมบูรณ์ สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและตรงกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง

“สำหรับการปรับปรุงแผนแม่บทฯน้ำ 20 ปี ได้นำประเด็นสถานการณ์ปัจจุบันมาใช้วิเคราะห์สถานการณ์ด้านทรัพยากรน้ำ เช่น สถานการณ์ของโรคระบาด การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน การปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศ เศรษฐกิจหมุนเวียนและการฟื้นตัว การเชื่อมโยงตัวชี้วัดและเป้าหมายกับแผนระดับชาติและแผนระดับนานาชาติ”

อีกทั้งมีการปรับปรุงกรอบแนวทางการพัฒนา จากเดิม 6 ด้าน เป็น 5 ด้าน ได้แก่ 1.การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค 2.การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต 3.การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย 4.การอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทรัพยากรน้ำ ซึ่งมีการควบรวมแผนแม่บทฯ เดิมด้านจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ และการอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดินเข้าด้วยกัน เพื่อให้ครอบคลุมระบบนิเวศของต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ และ 5.การบริหารจัดการ

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เน้นย้ำเรื่องการกำหนดเป้าหมายแต่ละระยะโดยนำงบประมาณมาพิจารณาประกอบ รวมถึงการปรับปรุงจำนวนกลยุทธ์ โดยเพิ่มกลยุทธ์เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัยเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงการจัดกลุ่มกลยุทธ์แผนแม่บทด้านบริหารจัดการให้สอดคล้องกับตัวชี้วัดธรรมาภิบาลด้านน้ำ

เช่น การส่งเสริมองค์กรและการมีส่วนร่วม การจัดทำเครื่องมือในการบริหารจัดการ การจัดทำงบประมาณและการเงิน ทั้งกลุ่มโครงการที่สามารถดำเนินการได้เลย ให้ขับเคลื่อนผ่านช่องทางปกติ และโครงการที่ดำเนินการจำเป็นต้องขับเคลื่อน แต่ต้องให้มีการศึกษาความเหมาะสม ผลกระทบ หรือแนวทางที่เหมาะสม เพื่อให้การขับเคลื่อนงานตามแผนแม่บทฯ เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติและติดตามประเมินผลได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ด้าน นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ที่ประชุม กนช. ยังได้เห็นชอบ 10 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2565/2566 ประกอบด้วย 1.เร่งเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำทุกประเภท 2.เฝ้าระวังและเตรียมจัดหาแหล่งน้ำสำรอง พร้อมวางแผนเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ ในพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำ 3.ปฏิบัติการเติมน้ำ 4.กำหนดแผนจัดสรรน้ำและพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้ง 5.เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำภาคการเกษตร 6.เตรียมน้ำสำรองสำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำ รับน้ำนอง

7.เฝ้าระวังคุณภาพน้ำ 8.เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการน้ำของชุมชน 9.สร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์ และ 10.ติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน รวมทั้งเห็นชอบโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2566 แนวคิดในการพัฒนาการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของกรุงเทพมหานครในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา และผลการศึกษาวิจัยนวัตกรรมเชิงระบบ โครงสร้างและกลไกการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ และข้อเสนอการยกระดับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับลุ่มน้ำด้วย

ขณะเดียวกัน กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบัน (19 ตุลาคม 2565) ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,814 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที แนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าวจะไหลลงมาสมทบกับแม่น้ำสะแกกรัง 154 ลบ.ม./วินาที ก่อนไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยา กรมชลประทาน ได้รับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยารวม 531 ลบ.ม./วินาที

ส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท เริ่มทยอยลดลง มีปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาประมาณ 2,947 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มลดลงเช่นกัน ส่วนที่สถานีวัดน้ำ C.29A อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,938 ลบ.ม./วินาที ลดลงจากวานนี้ 143 ลบ.ม./วินาที

ด้านแม่น้ำป่าสัก ปัจจุบันเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี ได้ปรับลดการระบายน้ำเช่นกัน โดยระบายน้ำอยู่ที่อัตรา 401 ลบ.ม./วินาที ลดลงจากวานนี้ ส่งผลให้ที่เขื่อนพระรามหก อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ปรับลดลงตามไปด้วย อยู่ที่ 720 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มลดลงต่อเนื่องเช่นกัน

ทั้งนี้ กรมชลประทาน คาดการณ์ว่า ในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้ แนวโน้มสถานการณ์น้ำที่เขื่อนเจ้าพระยา จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านต่ำกว่า 2,700 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเริ่มลดลงต่ำกว่าตลิ่งตามศักยภาพของแม่น้ำแต่ละช่วง จากนั้นจะเร่งสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำ จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ