การลาออก ปตท. ความปกติ…ที่ไม่ปกติ

ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์
ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์

หนังสือลาออกของศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานกรรมการและกรรมการอิสระ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้สร้างความแตกตื่นในวงการธุรกิจ-การเมือง และถูกคาดการณ์ไปถึงการลาออกในตำแหน่งอื่น ๆ ของกรรมการ และบุคลากรกิจการในเครือ ปตท.

เพราะนอกเหนือจากการดำรงตำแหน่งประธานกรรมการแล้ว ดร.ทศพร ยังเป็นประธานที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยการลาออกดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ได้รับการเลือกตั้งจากคณะกรรมการ ปตท. เมื่อ 8 เมษายน 2565 ให้ ดร.ทศพร เป็นประธานกรรมการอีกตำแหน่งหนึ่ง

ตลอดระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง “กรรมการ” ในบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ไม่เป็นที่สงสัยถึงความรู้ความสามารถและความเป็น “ผู้นำ” ในการบริหารองค์กรสำคัญระดับชาติ โดย ดร.ทศพรผ่านการเป็นประธานกรรมการ บริษัท ไทยออยล์ จํากัด (มหาชน) ประธานกรรมการคณะกรรมการธรรมาภิบาล ธนาคารแห่งประเทศไทย ไปจนกระทั่งการดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และยังได้รับการเชิญให้เป็นประธานที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่ปี 2563

กลายมาเป็นคำถาม ทำไม ดร.ทศพรถึงต้องทำหนังสือ “ลาออก” ด้วยการระบุ “เหตุผลส่วนตัว” และให้มีผลตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางความสับสนอลหม่านในบริษัท ปตท. ที่จู่ ๆ ประธานกรรมการบริษัท ประกาศ “ลาออก” แบบไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว

จนถึงกับ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. ต้องทำหนังสือถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อชี้แจง “ข่าว” เกี่ยวกับการลาออกของประธานกรรมการ ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2565 ด้วยข้อความที่ว่า ปตท.ยังไม่ได้รับหนังสือลาออกจาก ดร.ทศพร

จนสร้างความสงสัยว่า กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. จะต้องทำหนังสือชี้แจงตลาดหลักทรัพย์ฯทำไม ในเมื่อหนังสือ “ลาออก” ของ ดร.ทศพรที่แพร่ออกสู่สาธารณชนนั้น ระบุอย่างชัดเจนแล้วว่า “เรียนคณะกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)” ประกอบกับตัว ดร.ทศพรเองก็ไม่ได้ออกมา “ปฏิเสธ” ข่าวการลาออกของตนเองแต่ประการใด

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ตลอดห้วงระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ บริษัท ปตท.นั้น มีเหตุการณ์หลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นในบริษัท ในการที่จะแสดงให้เห็นถึงความ “ไม่ราบรื่น” ในการแต่งตั้งระดับผู้บริหารชั้นสูงที่ผิดธรรมเนียมในการปฏิบัติจากที่ผ่านมาในอดีต

ยกตัวอย่าง กรณีล่าสุดของการเปลี่ยนผ่านตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ของ น.ส.จิราพร ขาวสวัสดิ์ ที่เกษียณอายุเมื่อเดือนกันยายน 65

กลับนำพามาซึ่งการปรับโครงสร้าง (organization structure) ของ OR ครั้งใหญ่ โดยถือเป็นการ “แหวก” ขนบธรรมเนียมในการปฏิบัติด้วยการ “แยก” ตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่และกรรมการผู้จัดการใหญ่ออกจากกัน ที่ผ่านมาดำรงตำแหน่งโดยบุคคลคนเดียวกัน (น.ส.จิราพร) กลายมาเป็นตำแหน่ง “ผู้อำนวยการใหญ่” หรือ “President” (อนุมัติแต่งตั้งนายสุชาติ ระมาศ)

กับตำแหน่ง “ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร” หรือ “Chief Executive Officer-CEO” ที่จะต้องผ่านการสรรหาด้วยการรับสมัครบุคคลเพื่อรับการคัดเลือกเข้าดำรงตำแหน่ง ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ว่า เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาความไม่ลงตัวของว่าที่แคนดิเดต CEO ที่มีผู้คาดหวังถึง 2 คน

โดยมีข้อสังเกตว่า ตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ก็เป็นบุคคลคนเดียวกัน (นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์) เฉกเช่นเดียวกับบริษัทลูกในเครือ ปตท.

นอกจากนี้ความไม่ราบรื่นในการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาในห้วงของการดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ บริษัท ปตท.ของ ดร.ทศพร ยังมีกรณีของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ปตท. ก็ยังไม่สามารถสรรหาประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทน นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ได้

จากปัจจุบันที่คณะกรรมการบริษัท ไทยออยล์ ได้แต่งตั้งให้นายนพดล ปิ่นสุภารักษาการตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่มาตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2565

ไม่มีข้อสงสัยว่า ทั้งบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก หรือบริษัท ไทยออยล์ ล้วนแล้วแต่เป็น “เรือธง” ที่สร้างรายได้หลักให้กับบริษัท ปตท. อีกทั้งยังเป็นกลุ่มแกนหลักสำคัญของเครือ ปตท.ล้วนแล้วแต่มีความหมายกับการดำรงตำแหน่งของผู้นำองค์กรระดับสูงสุด เฉพาะแผนการลงทุนปี 2565 ก็มีเม็ดเงินลงทุนถึง 91,179 ล้านบาท

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลงทุนในธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน (14,765 ล้านบาท) กับการลงทุนบริษัทที่ ปตท.ถือหุ้นร้อยละ 100 (56,432 ล้านบาท) หมายรวมถึง โครงการขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย

จากธรรมเนียมปฏิบัติที่ผ่านมา บุคคลผู้อยู่ในฐานะประธานกรรมการ บริษัท ปตท. หรือประธานบอร์ด ปตท. ล้วนแล้วแต่มีบทบาทในการสรรหาผู้ที่มีความเหมาะสมเข้ามาดำรงตำแหน่ง รวมทั้งยังเป็น “กันชน” ที่ชี้ขาดป้องกันการแทรกแซงจากภายนอก หรืออีกนัยหนึ่ง ผู้ดำรงตำแหน่ง CEO ในบริษัทล้วนแล้วแต่ถูก “คัดเลือกและตัดสิน” มาจากบอร์ดแทบทั้งสิ้น

จนกลายมาเป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ดังอยู่ในขณะนี้ว่า ทำไมห้วงระยะเวลาการดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ บริษัท ปตท.ของ ดร.ทศพร จึงมีแต่ความเงียบจนมาเกิดเหตุการณ์ยื่นหนังสือลาออกในที่สุด