“ระพีภัทร์” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ยันโยกย้าย บิ๊ก สวพ.6 เล็บเหยี่ยวมือปราบทุเรียนอ่อน เพื่อความก้าวหน้าอาชีพ ชี้คนเก่งไม่ควรถูกจำกัดแค่พื้นที่ภาคตะวันออกพื้นที่เดียว กระทรวงมองภาพรวมการผลิตเพื่อรักษามาตรฐานผลไม้ให้ครอบคลุมทั้งประเทศ เผยปลัด-รัฐมนตรีทราบเรื่องแล้วยังไม่ได้สั่งการอะไร
วันที่ 24 ตุลาคม 2565 นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าสาเหตุการโยกย้าย นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรที่ 6 (สวพ.6) ให้มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช กรมวิชาการเกษตร และมีคำสั่งให้ นายพิทวัฒน์ อ่อนทองหลาง ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช ไปดำรงตำแหน่ง ผอ.สวพ.6 นั้น ไม่ใช่คำสั่งย้ายฟ้าผ่าตามที่สื่อลงข่าว
ยืนยันว่าเป็นการโยกย้ายตามฤดูกาลที่ทราบกันอยู่แล้วว่าเดือนตุลาคม จนถึงปลายปี เป็นช่วงปกติทุกปีการโยกย้าย และขอยืนยันว่า ผอ.ท่านก็รับทราบก่อนหน้านั้นแล้ว ดังนั้น ขณะนี้ ผอ.ชลธี จะครบวาระ 4 ปีแล้ว ในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรที่ 6 (สวพ.6) ก็เป็นไปตามกฎของระเบียบราชการ
มากไปกว่านั้น ในฐานะอธิบดีกรมวิชาการเกษตร มองว่า เป็นไปเพื่อความก้าวหน้าในอาชีพ ซึ่ง ผอ.ชลธีเป็นบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถอย่างมาก เก่ง มีประสบการณ์ทำงานมีมาก ควรขยับขยายไปถ่ายทอดองค์ความรู้ให้พื้นที่อื่น ๆ บ้าง ไม่ควรอยู่ที่เดิม และอยู่จังหวัดเดียวมา 31 ปี ซึ่งไม่มีใครทำแบบนี้ ควรให้ลูกน้องคนรุ่นใหม่ได้รับโอกาส รับไม้ต่อ เพื่อให้เกิดการทำงานที่ส่งผลดีต่อประโยชน์ ภาพใหญ่ของประเทศ
ล่าสุด นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และปลัดกระทรวงฯรับทราบถึงประเด็นดังกล่าวแล้ว ซึ่งไม่ได้สั่งการอะไร ส่วนตัวมองว่าไม่ควรเป็นประเด็นใหญ่ และทราบว่าวันพรุ่งนี้ (25 ต.ค. 65) สมาคมผู้ประกอบการทุเรียนและเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนภาคตะวันออก จะไปให้กำลังใจนายชลธี ที่ สวพ.6 จ.จันทบุรี ก็เป็นสิทธิของทุกคนสามารถให้กำลังใจกันได้ เข้าใจดีว่า ผอ.ชลธีทำงานในพื้นที่มานานมาก ผูกพันกับคนในพื้นที่
“ผอ.ชลธี อยู่ที่จังหวัดเดียวมา 31 ปี มีใครทำแบบนี้ได้ ไม่มี ผมยืนยันว่า ผอ.ท่านทราบก่อนล่วงหน้าแล้ว ที่ผ่านมาประเด็นทุเรียนอ่อน ตั้งแต่นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจสอบมาตรฐานทุเรียนภาคตะวันออก ก็ร่วมกันทำงาน ทุกหน่วยงานร่วมกันทำงาน ซึ่งขอเรียนว่า การทำงานทั้งหมด ต้องไม่มองว่ามีแค่ สวพ.6 แต่เรามองเป็นภาพใหญ่ของกระทรวง รวมถึงทูต การส่งออกต่างประเทศ ศุลกากร ทุกคนทำงานช่วยกันเพื่อให้เกิดภาพใหญ่
รวมถึงนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็มีนโยบาย 3S ในเรื่องการรักษามาตรฐานและหากพบทุจริตผมสั่งแบนหลายครั้ง ผมไม่เข้าใจว่า ในเมื่อ ผอ.ท่านมีความรู้ความสามารถแล้ว การที่ย้ายมาอยู่กองผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช ดูในเรื่องมาตรฐานสินค้า ผัก ผลไม้ GAP ทั้งประเทศ จะเป็นผลดี และความสามารถของท่านสามารถเป็นอธิบดีได้เลย พูดตรง ๆ อีก 5 ปี จะเกษียณหมดแล้ว ท่านสามารถขยับขึ้นเป็นอธิบดีได้ ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงเป็นประเด็น ถ้าผมย้ายท่านไปอยู่หน่วยงานอื่นก็ถือว่า อีกอย่าง” นายระพีภัทร์ กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับ นายชลธี นุ่มหนู ที่ผ่านมาสร้างผลงานในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลไม้ภาคตะวันออกโดยเฉพาะช่วงที่ผ่านมา ได้รับบทบาททีมเล็บเหยี่ยวพิทักษ์ทุเรียนไทย ซึ่งได้ตรวจสอบ ลงพื้นที่ และจับกุมผู้ค้าทุเรียน ล้ง มังคุด และลำไย ที่ส่งออกผลไม้ไปต่างประเทศผิดกฎหมายหลายครั้ง จนสามารถรักษาผลประโยชน์ให้ประเทศได้เป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ นายชลธี เป็นข้าราชการที่พยายามแก้ปัญหาคุณภาพทุเรียนไทยฝ่าวิกฤต ZERO COVID-19 ของจีน ทำให้เกษตรกรมีรายได้จากทุเรียนในราคาสูงและสร้างเม็ดเงินรายได้ประเทศปี 2565 กว่า 100,000 ล้านบาท
อีกทั้ง ยังได้รับรางวัลข้าราชการดีเด่นได้รับรางวัลจากกรมวิชาการเกษตร หลายรางวัลและล่าสุด คือ รางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่นประจำปี 2564 และในวงการเกษตรเห็นว่าเป็นบุคคลนักพัฒนา