เปิดใจ ชลธี นุ่มหนู ถูกย้ายนอกฤดู จากผู้ดูแลคุณภาพทุเรียนส่งออกจีน

เปิดใจ ชลธี นุ่มหนู ถูกย้ายนอกฤดู จากผู้ดูแลคุณภาพทุเรียนส่งออกจีน

เปิดใจ “ชลธี นุ่มหนู” ผู้อำนวยการสำนักวิจัย กรมวิชาการเกษตร ถูกย้ายนอกฤดู จากผู้ดูแลคุณภาพทุเรียนส่งออกจีน

วันที่ 22 ตุลาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วงการทุเรียนแสนล้านบาท ช็อกไปตาม ๆ กันเมื่อ ผู้บริหารกรมวิชาการเกษตร ภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีคำสั่งฟ้าผ่าโยกย้ายนายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 จ.จันทบุรี กรมวิชาการเกษตร ไปดำรงตำแหน่ง “ผู้อำนวยการกอง” (ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน วิชาการเกษตร กองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช กรมวิชาการเกษตร)

เพราะถือว่าเป็นการโยกย้ายข้าราชการนอกฤดูกาล ที่ปกติจะมีการสับเปลี่ยนตำตำแหน่ง หรือปรับตำแหน่ง ทดแทนตำแหน่งเกษียณ ที่จะเกิดขึ้นก่อนเดือนกันยายน และจำมีผลในช่วงต้นเดือนตุลาคมของทุกปี แต่การโยกย้ายนายชลธี ผู้ซึ่งได้รับการยอมรับจากเกษตรกร ว่ามีผลงานในพื้นที่ จึงเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้อง

สำหรับการทำงานของนายชลธี ที่ผ่านมา นับตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่ง ผอ.สวพ.6 เมื่อเดือนเมษายน 2563 ได้ร่วมแก้ปัญหาทุเรียนอ่อน ที่ถือเป็นปัญหาใหญ่ หมักหมมทำลายตลาดมาหลายปี และปีนี้ได้ตั้ง “ทีมเล็บเหยี่ยว” กรมวิชาการเกษตร “มือปราบทุเรียนอ่อน” ภาคตะวันออก ด้วยการตรวจจับกันตั้งแต่เช้ายันดึกจน เป็นผลสำเร็จ ทำให้มีทุเรียนคุณภาพส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2565

ก่อนหน้านี้ได้พยายามพัฒนาคุณภาพสวนทุเรียน การออกใบรับรอง GAP, การรับรองมาตรฐานคุณภาพโรงคัดบรรจุ (ล้ง) ที่ส่งออก และในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาดได้ยกระดับมาตรฐานทั้ง GAP PLUS และ GMP PLUS เพื่อให้รองรับมาตรฐาน ZERO โควิด-19 ของจีน ซี่งมาตรฐานทั้งหมดได้มีการนำไปเป็น “ต้นแบบ” ปฏิบัติกับทุเรียนส่งออกของภาคใต้ รวมถึงมีการนำไปประยุกต์ใช้กับการส่งออกผลไม้ชนิดอื่นของไทย

นายชลธี เป็นข้าราชการที่พยายามแก้ปัญหาคุณภาพทุเรียนไทยฝ่าวิกฤต ZERO COVID-19 ของจีน ทำให้เกษตรกรมีรายได้จากทุเรียนในราคาสูงและสร้างเม็ดเงินรายได้ประเทศปี 2565 กว่า 100,000 ล้านบาท

นายชลธี ยังได้รับรางวัลข้าราชการดีเด่นได้รับรางวัลจากกรมวิชาการเกษตร หลายรางวัลและล่าสุด คือ รางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่นประจำปี 2564 และในวงการเกษตรเห็นว่าเป็นบุคคลนักพัฒนา

การแต่งตั้งโยกย้ายดังกล่าว มีการแต่งตั้ง นายพิทวัฒน์ อ่อนทองหลาง ผู้อำนวยการกอง (ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน วิชาการเกษตร) กองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช กรมวิชาการเกษตรมาแทน นายชลธี

ผอ.ชลธี ยอมรับถูกย้ายไม่ทันตั้งตัว

นายชลธี นุ่มหนู ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 จ.จันทบุรี กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามคำสั่งย้ายต้องไปรายงานตัวภายใน 15 วัน แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับหนังสือแจ้งมาเป็นทางการทราบข่าวภายใน ว่ามีการโยกย้าย 7 ตำแหน่งในครั้งนี้ลงนามโดยรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นการย้ายแทนตำแหน่งที่เกษียณและตำแหน่งที่ว่างลง แต่ยอมรับว่าถูกเด้งฟ้าผ่าไม่ทันตั้งตัว

ทั้งที่ตั้งใจว่าปีนี้ 2566 พื้นที่ภาคตะวันออกมีการขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนมาก เกษตรกรโค่นยางพารา เงาะ มังคุด ลำไย มาปลูกทุเรียนผลไม้ที่ทำรายได้ดี มีความหวังจากการทำสวนทุเรียนอย่างแรงกล้า กำหนดว่าปีนี้จะเข้มเรื่องทุเรียนอ่อนให้มากขึ้นกว่าปีที่แล้วเพื่อแข่งขันกับเพื่อนบ้าน ตลาดเวียดนามและตลาดในอาเซียน วางแผนว่าทีมเล็บเหยี่ยวจะตรวจจนจบฤดูกาล ผลักดันทุเรียนอ่อนออกไปจากตลาด ตอนนี้ห่วงทีมงานเล็บเหยี่ยวที่ร่วมมือทุ่มเทการทำงานร่วมกัน เพื่อดูแลคุณภาพทุเรียน จะเสียกำลังใจ

“ตำแหน่ง ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เป็นตำแหน่งทางวิชาการ ไม่มีผลประโยชน์ ไม่เกี่ยวกับความมั่นคงส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีการโยกย้าย บางคนอยู่เป็น 10 ปี หรือเกษียณ ส่วนตำแหน่งใหม่นั้นเป็นงานทางวิชาการ ดูแลระบบกองส่วนกลาง ไม่มีหน่วยงานในภูมิภาค มีการระบบไว้เรียบร้อยแล้ว ไม่ได้ดูแลคุณภาพทุเรียน เหมือน สวพ.6 แต่อย่างไรก็ตามต้องยอมรับในคำสั่ง” ผอ.ชลธีกล่าว

ตั้งข้อสังเกตเรื่องการเมือง

แหล่งข่าวจากผู้ใกล้ชิด นายชลธี นุ่มหนู เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การโยกย้ายกรมวิชาการเกษตร ลงนามโดยรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีจำนวน 7 ตำแหน่ง ส่วนใหญ่จะเป็นตำแหน่งความรับผิดชอบสำคัญ ๆ เช่น การอนุญาตนำเข้าปุ๋ย

มีผู้ตั้งขอสังเกตว่าการโยกย้ายครั้งนี้อาจเกี่ยวข้องกับการเมือง เพราะเป็นช่วงที่ใกล้เลือกตั้ง และนายชลธี นุ่มหนู เป็นน้องชายของ นายศักดินัย นุ่มหนู ส.ส.จ.ตราด พรรคก้าวไกล

ทางด้านนายศักดินัย นุ่มหนู ส.ส.จ.ตราด พรรคก้าวไกลให้ความเห็นกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในสถานะที่เป็นคณะกรรมาธิการด้านการเกษตรของสภาผู้แทนราษฎร มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรในภาคตะวันออกหรือของประเทศอยู่แล้ว เมื่อมีหนังสือจากหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชนยื่นมาจะนำเสนอในเชิงนโยบายในสภาผู้แทนราษฏร สะท้อนปัญหาให้รัฐบาลหาทางแก้ไข ไม่ใช่เป็นการช่วยเหลือตัวบุคคลหรือความสนิทสนมส่วนตัวเป็นการช่วยทำงานเชิงระบบให้คล่องตัวขึ้น ที่น่าเป็นห่วงคือการสานต่อนโยบายทำคุณภาพทุเรียนไทยให้ยั่งยืนและสร้างความมั่นใจให้เกษตรกร

ทั้งนี้ นายชลธี นุ่มหนู เกิด 4 เมษายน 2510 เป็นชาว จ.ตราด อายุ 55 ปี เริ่มบรรจุรับราชการ เจ้าหน้าที่ การเกษตร 1 เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2529 เป็นลูกหม้อกรมวิชาการเกษตร ทำงานมา 36 ปี และเหลืออายุราชการอีก 5 ปี