บอลโลก 2022 ในระบบสะพัด 1.85 หมื่นล้าน แต่หากไม่มีถ่ายทอดวูบ 1 หมื่นล้าน

บอลโลก 2022 ในระบบสะพัด

หอการค้าไทยเผยผลสำรวจพฤติกรรมและการใช้จ่ายช่วง World Cup 2022 เม็ดเงินในระบบสะพัด 18,500 ล้านบาท หวังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาส 4 โต 4% ชี้ปมลิขสิทธิ์หากไม่มีการถ่ายทอดสด ฉุดเศรษฐกิจหายไป 5,000-10,000 ล้านบาท

วันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมและการใช้จ่ายผลกระทบด้านธุรกิจและสังคมในช่วง World Cup 2022 สำรวจระหว่างวันที่ 1-6 พฤศจิกายน โดยสำรวจจากทั่วประเทศจำนวน 1,257 ตัวอย่าง

พบว่าในช่วงฟุตบอลโลกปี 65 คาดว่าจะมีการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจถึง 18,500 ล้านบาท มาจากการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคและสังสรรค์ ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์รับสัญญาณต่าง ๆ เพิ่มจากฟุตบอลโลกครั้งก่อนถึง 22.1% ซึ่งในด้านเศรษฐกิจแล้วจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายให้เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่มีฟุตบอลโลก

ขณะที่ในส่วนเม็ดเงินนอกระบบสะพัด 57,253.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.9% รวมเป็นเม็ดเงินสะพัดทั้งในและนอกระบบรวม 75,815 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.2%

โดยผลสำรวจพบว่าความสนใจในฟุตบอล World Cup 2022 กว่า 35.6% มีความสนใจในระดับปานกลาง และสนใจในระดับมาก 30% ซึ่งการติดตามข่าวสารต่าง ๆ เกี่ยวกับฟุตบอลยังคงติดตามน้อยและส่วนมากหากมีการติดตามข่าวสารจะผ่านสื่อสังคมออนไลน์เป็นหลักถึง 91.8% ทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ติ๊กต๊อก ทวิตเตอร์ และไลน์

ส่วนเรื่องการใช้จ่ายในช่วงฟุตบอลโลก พบว่าส่วนใหญ่กว่า 49.1% จะใช้จ่ายกับการสังสรรค์และจัดเลี้ยงโดยใช้จ่ายอยู่ที่ 3,077 บาท และอีกกว่า 32.8% จะใช้จ่ายประมาณ 649 บาท ในการมีส่วนร่วมส่ง SMS ชิงของรางวัล ซึ่งหากเทียบการใช้จ่ายในช่วงที่มีบอลโลกกับการใช้จ่ายในช่วงปกติ เพิ่มขึ้น 67.3% เพราะอยากจะเสี่ยงและอยากลงทุน แต่หากมองโดยภาพรวมแล้วผู้คนยังมีการใช้จ่ายแบบกึ่งระมัดระวัง

นายธนวรรธน์ พลวิชัย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ปกติแล้วในช่วงที่มีกระแสฟุตบอลโลกต้องมีการเริ่มโปรโมตหรือการถ่ายทอด เพราะจะทำให้ผู้คนหันมาให้ความสนใจและติดตาม ซึ่งฟุตบอลโลกจะมีตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน-18 ธันวาคม 2565

อย่างไรก็ตาม เรื่องลิขสิทธิ์ยังไม่มีความชัดเจนมากนักและยังพบว่ามีเสียงการคัดค้านไม่เห็นด้วยที่จะนำเงินของภาครัฐมาใช้ในส่วนของการถ่ายทอด แต่ก็เชื่อว่าหากมีการถ่ายทอดสดในช่วงฟุตบอลโลก จะเพิ่มกระแสของการติดตาม อย่างเช่น ผู้คนจะออกไปสังสรรค์ตามร้านที่มีการถ่ายทอด จุดนี้จะช่วยสร้างเม็ดเงินสะพัด 18,500 ล้านบาท ในระบบเศรษฐกิจซึ่งสูงกว่าในช่วงฟุตบอลโลกปี 2018 ที่มีเงินสะพัดอยู่ที่ 18,000 ล้านบาทในระบบ

นอกจากนี้แล้วทางหอการค้ามองว่า ธุรกิจทางด้านร้านอาหารสถานบันเทิงในช่วงฟุตบอลโลกจะคึกคักหากมีการถ่ายทอดสดไม่ว่าจะเป็นแบบฟรีทีวี หรือการถ่ายทอดสดเฉพาะ เพราะจะส่งเสริมให้มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ขึ้นมา จะเป็นผลดีด้านเศรษฐกิจ แต่หากไม่มีการถ่ายทอดสด มูลค่าด้านเศรษฐกิจอาจจะหายไป 5,000-10,000 ล้านบาท และเม็ดเงินที่จะสะพัด 18,500 ล้านบาท จะไปกระตุกเศรษฐกิจในช่วงปลายปีที่จะสร้างแรงกระตุ้นการหมุนเวียนได้เพิ่มอีก 1 เท่า อาจทำให้มีเม็ดเงินสะพัดกว่า 35,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี ในระบบเศรษฐกิจมูลค่าเรื่องการจับจ่ายใช้สอยในปีนี้แค่ดีที่สุดในรอบ 5 ปี นับจากปี 2018 โดยภาพรวมของฟุตบอลโลกปีนี้น่าจะคึกคักภายใต้บรรยากาศที่มีการถ่ายทอดสดที่จะช่วยส่งเสริมกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจ และหวังว่าในไตรมาสที่ 4 จะเป็นตัวกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยโตได้ประมาณ 4% ซึ่งจะผลักให้เศรษฐกิจไทยโตได้ในกรอบ 3.3-3.5% นับเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวและส่งเสริมการใช้จ่ายที่จะลากยาวไปถึงวันหยุดในช่วงสิ้นปีได้เพิ่มมากขึ้น