ส่งออกไทย พ.ย. 2565 หดตัว 6% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

จุรินทร์ เผยการส่งออก พ.ย. 2565 หดตัว 6% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลก ขณะที่ 11 เดือนขยายตัว 7.6% ชี้ การเปิดประเทศของจีน จะส่งผลให้การส่งออกผลไม้ไทยดีขึ้น หลังจากหารือเพื่อผลักดันการส่งออก ส่วนเป้าหมายส่งออกปี 2566 คาดจะรู้เร็วนี้ขอรอความชัดเจนอีกครั้ง

วันที่ 27 ธันวาคม 2565 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนพฤศจิกายน 2565 มีมูลค่า 22,308.0 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 6.0% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย หดตัว 2.0%

การส่งออกที่หดตัวเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ภาวะชะลอตัว อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลก ส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค รวมทั้งการใช้มาตรการโควิดเป็นศูนย์ในตลาดจีน

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยหนุนจากค่าระวางเรือ ที่ปรับลดลงต่อเนื่องในเส้นทางสหรัฐ และยุโรป ซึ่งช่วยลดต้นทุนของผู้ส่งออก รวมทั้งการออกมาตรการกระตุ้นการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ในช่วงโค้งสุดท้ายของปี ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 23,650.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 5.6% ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 1,342.3 ล้านเหรียญสหรัฐ

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

ภาพรวมส่งออก 11 เดือน

ส่วนการส่งออกภาพรวม 11 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม-พฤศจิกายน) การส่งออก มีมูลค่า 265,349.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 7.6% การนำเข้า มีมูลค่า 280,438.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวะ 16.3% ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 15,088.9 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับกรณีที่จีนจะมีการเปิดประเทศในวันที่ 8 มกราคม 2566 จะส่งผลให้การเจรจาหารือเพื่อผลักดันการส่งออกผลไม้ไทยไปจีน จะกลับมาขยายตัวมากขึ้น สามารถเดินหน้าส่งเสริมการส่งออกสินค้าผลไม้ไปจีนได้ พร้อมทั้งจะทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยไปจีนในภาพรวมขยายตัว เพราะเมื่อจีนผ่อนคลายมาตรการ Zero โควิด-19 จะทำให้การส่งออกกลับมาดีอีกครั้ง แต่ก็ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจโลกยังคงมีการชะลอตัว

ดังนั้น การประชุมกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ครั้งที่ 2/2565 เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2565 โดยมีมติตั้งวอร์รูม กรอ.พาณิชย์ขึ้นมา เพื่อร่วมมือแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้า การส่งออกและวางแผนผลักดันการส่งออก

พร้อมกันนี้ วางเป้าหมายที่จะขยายการส่งออกไปยังตลาดที่มีศักยภาพ 3 ตลาด ประกอบด้วย ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และอาเซียน CLMV และในต้นปีก็จะนำคณะภาครัฐและเอกชน ในการเยือนตลาดต่างประเทศ เพื่อผลักดันการส่งออกให้มากขึ้น

ขณะนี้ วอร์รูม กรอ.พาณิชย์ ก็อยู่ระหว่างการจัดทำแผนการส่งเสริมการส่งออก ส่วนเป้าหมายการส่งออกในปี 2566 รอการหารือครั้งสุดท้าย รวมไปถึงสรุปตัวเลขการส่งออกในเดือนธันวาคม 2565 เชื่อว่าจะเห็นภาพชัดขึ้น และจะรู้ทิศทางการส่งออกและวางเป้าหมายการส่งออกทั้งปีได้

“แม้การส่งออกติดลบ แต่เทียบการส่งออกที่ผ่านมาถือว่ามีมูลค่าการส่งออกที่ยังคงขยายตัว และไม่ได้ลดลง การส่งออกที่ลดลง ก็เป็นผลจากเศรษฐกิจโลก ฐานการส่งออกสูง แต่จะเห็นว่าการส่งออกใน 11 เดือนขยายตัวไปได้ดี”

ตัวเลขส่งออกพ.ย.2565

 

ส่วนการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัว 2.0% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน แต่ยังมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัวดี ได้แก่ ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และไก่แปรรูป ขยายตัว 20.9% ขยายตัวต่อเนื่อง 7 เดือน (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร จีน เนเธอร์แลนด์ และมาเลเซีย)

ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัว 7.5% กลับมาขยายตัวในรอบ 5 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้) ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ ขยายตัวร้อยละ 13.0 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐ จีน เมียนมา อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น) น้ำตาลทราย ขยายตัวร้อยละ 43.4 (ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย ลาว กัมพูชา จีน และฟิลิปปินส์)

สินค้าสำคัญที่หดตัว

ขณะที่ สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ข้าว หดตัว 4.7% หดตัวในรอบ 10 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐ แอฟริกาใต้ แองโกลา เยเมน และโมซัมบิก แต่ขยายตัวในตลาดจีน อิรัก ฮ่องกง ญี่ปุ่น และเซเนกัล) ยางพารา หดตัว 34.2% หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย สหรัฐ อินเดีย และบราซิล แต่ขยายตัวในตลาดเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น)

อาหารสัตว์เลี้ยง หดตัว 5.8% หดตัวในรอบ 39 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐ ญี่ปุ่น มาเลเซีย อินเดีย และอิตาลี แต่ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย เยอรมนี ไต้หวัน เวียดนาม และกัมพูชา) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป หดตัวร้อยละ 7.8 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐ ญี่ปุ่น กัมพูชา แคนาดา และสิงคโปร์ แต่ขยายตัวในตลาดจีน เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย รัสเซีย ทั้งนี้ 11 เดือนแรกของปี 2565 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 10.8% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัว 5.1% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน แต่ยังมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัวดี อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัว 5.5% ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (ขยายตัวในตลาดเวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และซาอุดีอาระเบีย) อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัว 8.0% ขยายตัวต่อเนื่อง 21 เดือน (ขยายตัวในตลาดฮ่องกง สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย อิตาลี และเบลเยียม) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขยายตัว 5.5% ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐ ออสเตรเลีย อินเดีย เวียดนาม และไต้หวัน)

ขณะที่ สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัว 27.5% หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (หดตัวในตลาดจีน เวียดนาม อินเดีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย แต่ขยายตัวในตลาดลาว เมียนมา เกาหลีใต้ เนเธอร์แลนด์ และอียิปต์) เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ หดตัว 20.9% หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัว ในตลาดสหรัฐ ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ แต่ขยายตัวในตลาดจีน เม็กซิโก ไอร์แลนด์ ไต้หวัน และอินเดีย)

เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ หดตัว 16.0% หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย เวียดนาม และเกาหลีใต้ แต่ขยายตัวในตลาดอินเดีย มาเลเซีย จีน ลาว และสิงคโปร์) ทั้งนี้ 11 เดือนแรกของปี 2565 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 6.5% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

ดำเนินการเชิงรุกและลึก

อย่างไรก็ดี แนวโน้มการส่งออกระยะถัดไป กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการเชิงรุกและลึก เพื่อผลักดันและอำนวยความสะดวก การส่งออกมากขึ้น ส่วนภาวะเศรษฐกิจโลก และการบริโภคที่ชะลอตัว จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกในช่วงโค้งสุดท้ายของปี ประกอบกับภาวะความตึงเครียดของความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะมาตรการกีดกันจีนไม่ให้เข้าถึงเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง

อาจส่งผลกระทบด้านอุปทานการผลิตสินค้าในบางอุตสาหกรรมที่ไทยต้องพึ่งพาจีน อย่างไรก็ดี จากการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพของธนาคารกลางในหลายประเทศ ส่งผลให้ภาวะเงินเฟ้อและราคาสินค้าเริ่มชะลอตัวลง อาจเป็นปัจจัยหนุนที่ช่วยให้กำลังซื้อของประเทศคู่ค้าปรับตัวดีขึ้นในอนาคต ประกอบกับรัฐบาลได้ส่งเสริมให้มีการส่งออกผ่านช่องทางรถไฟจีน-ลาว มากขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันการค้าให้เติบโตไปพร้อมกับการเปิดประเทศของจีนตั้งแต่ช่วงต้นปี 2566 เป็นต้นไป