รู้จัก โรงไฟฟ้าบ้านขุนกลาง แหล่งพลังงานโครงการหลวง

โรงไฟฟ้าบ้านขุนกลาง

โรงไฟฟ้าบ้านขุนกลาง ดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ เริ่มตั้งไข่ในปี 2522 ปัจุจุบัน นับได้ว่าเป็นต้นแบบระบบไฟฟ้าชุมชนแบบอัจฉริยะขนาดเล็ก ที่ผสมผสานระหว่างไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงและไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เข้าเก็บในแบตเตอรี่หรือระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) โดยใช้ระบบสมาร์ทไมโครกริด ลดความเสี่ยงไฟฟ้าขาด ตก ดับ ในพื้นที่ห่างไกล

วันที่ 31 ธันวาคม 2565 นายปรัชญา ศรีโจ หัวหน้าแผนกโรงไฟฟ้าเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล กล่าวว่า โรงไฟฟ้าบ้านขุนกลางนี้เป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก  ก่อตั้งในปี 2522 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จฯมาช่วยชาวบ้านที่อินทนนท์และส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพืชเมืองหนาวและจัดตั้งโครงการหลวงอินทนนท์ขึ้นมาเพื่อลดพื้นที่การปลูกฝิ่น

ต่อมา ทรงมีพระราชดำริให้สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ สร้างประโยชน์แก่ประชาชนหมู่บ้านขุนกลาง ดอยอินทนนท์หน่วยงานต่างๆบริเวณโดยรอบ เนื่องจากโรงไฟฟ้าบ้านขุนกลางมีขนาดกำลังผลิตสูงกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าในหมู่บ้านขุนกลางและบริเวณใกล้เคียงดังกล่าว

กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ในส่วนที่เหลือใช้ในหมู่บ้าน ยังสามารถจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ ระบบนี้จะช่วยเสริมความมั่นคง เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีบรรยากาศเป็นธรรมชาติดงดงามแปลกตาประกอบด้วยความหนาวเย็นของอากาศบนยอดดอย เป็นที่ดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวอีกด้วย

 โรงไฟฟ้าบ้านขุนกลาง

รศ.ดร.สุทธิชัย เปรมฤดีปรีชาชาญ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า  โรงไฟฟ้าบ้านขุนกลางเริ่ม มีกำลังการผลิต 210 W ผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ 1,200,000 กิโลวัตต์ต่อปี มีฝายอยู่บนน้ำตกสูงจากโรงไฟฟ้า 160 เมตร ทำให้น้ำมีแรงดันสูงและสามารถปั่นกังหันผลิตกระแสไฟฟ้าได้  แต่ปัญหาของโรงไฟฟ้าประเภทพลังงานหมุนเวียนที่พบคือเกิดไฟตก ไฟดับ เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ป่าเมื่อมีต้นไม้หักโค่นพาดสายไฟจะทำให้ไฟดับเวลานาน อีกทั้งเมื่อโรงไฟฟ้าไม่มีระบบควบคุมแบบ Island Mode จึงทำให้โครงการหลวงไฟดับบ่อยครั้ง

ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ปรับปรุงระบบควบคุม เป็นสมาร์ทไมโครกริดตั้งแต่ปี 2562 งบลงทุน 20 ล้านบาท สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างมีเสถียรภาพลดความผันผวน

 โรงไฟฟ้าบ้านขุนกลาง

“ในช่วงไฟขัดข้อง ระบบสมาร์ทไมโครกริดมีความสามารถควบคุมการทำงานแบบอัตโนมัติช่วยจ่ายไฟให้โครงการหลวงได้ตลอด 8 ชั่วโมงที่ไฟดับทันที โดยใช้พลังงาน จากแบตเตอรี่ร่วมจ่ายกับ Hydro หลังจากไฟกลับมาระบบชาร์จแบตฯเพื่อมี ระดับ SOC กลับมาที่ 80%  ซึ่งระบบสมาร์ทกริดนี้ลดทั้งต้นทุนค่าใช้จ่าย ลดการใช้น้ำมันดีเซล และลดปล่อยก๊าซ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”

โครงการนี้ได้พัฒนาระบบนี้เป็นแบตเตอรี่แบบใหม่ (ลิเทียม) ที่ไม่ระเบิดและไม่ติดไฟและไม่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันไฟตกและดับได้ในทันที นอกจากจะสามารถทดแทนเชื้อเพลิงดีเซลในการผลิตไฟฟ้าและต้นทุนที่สูงได้แล้วยังช่วยลดการปล่อยก๊าซ 11.904 ตัน และช่วยการจ่ายไฟให้โครงการหลวงดอยอินทนนท์และประชาชน 500 ครัวเรือนได้อย่างต่อเนื่อง

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการระบบสมาร์ทไมโครกริดบ้านขุนกลาง บริเวณพื้นที่โรงไฟฟ้าบ้านขุนกลาง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ว่าประเทศไทยถือว่ามีความมั่นคงทางพลังงานอย่างมาก โดยเฉพาะด้านไฟฟ้า ทั้งนี้มาจากการดำเนินงานให้มีสำรองไฟฟ้าที่เพียงพอ รวมถึงการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาบริหารแหล่งไฟฟ้าในพื้นที่ชุมชนห่างไกล ผ่านการใช้ระบบกักเก็บพลังงาน ซึ่งปัจจุบัน สนพ. อยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่ (PDP 2022) จึงจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงระบบกักเก็บพลังงานหรือแบตเตอรี่เป็นอันดับต้น ๆ

เนื่องจากจะช่วยเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนให้ได้ตามแผนแล้ว ยังช่วยแก้ไขปัญหาความไม่เสถียรของพลังงานทดแทนอย่างลงตัวและช่วยส่งเสริมระบบไมโครกริด ซึ่งเป็นระบบไฟฟ้าขนาดเล็กที่รวมเอาระบบผลิตไฟฟ้า โหลดไฟฟ้า ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมถึงระบบกักเก็บพลังงานและระบบควบคุมอัตโนมัติเข้าไว้ด้วยกัน โดยสามารถลดภาระในการบริหารจัดการไฟฟ้าและต้นทุนของระบบโครงข่ายไฟฟ้าหลัก ทำให้ระบบมีความมั่นคงขึ้น

 โรงไฟฟ้าบ้านขุนกลาง

“การส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและระบบสมาร์ทกริด นอกจากนี้แบตเตอรี่ยังเป็นชิ้นส่วนสำคัญในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า การใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ห่างไกลหรือสร้างเสถียรภาพของพลังานทดแทนการใช้แบตเตอรี่ก็ถือเป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งภาครัฐได้เตรียมการออกมาตรการส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและการใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตในประเทศแล้ว”นายวัฒนพงษ์ กล่าว

โดยที่ผ่านมา สนพ.ได้ดำเนินการระบบไฟฟ้าชุมชนแบบอัจฉริยะขนาดเล็ก (สมาร์ทไมโครกริด) ที่ผสมผสานระหว่างไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงและไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เข้าเก็บในแบตเตอรี่หรือระบบกักเก็บพลังงาน เพื่อรองรับกรณีระบบไฟฟ้าหลักขัดข้องในพื้นที่ห่างไกล ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โครงการดังกล่าว เป็นการดำเนินงานร่วมกันระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งนี้หากในพื้นที่ดังกล่าวเกิดปัญหาไฟฟ้าจากสายส่งหลักมีปัญหาไม่สามารถส่งไฟได้ สมาร์ทไมโครกริดนี้จะดึงไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมาช่วยเสริมในทันที แบบไม่มีหน่วงเวลา

 โรงไฟฟ้าบ้านขุนกลาง

นายวัฒนพงษ์ กล่าวว่าการติดตั้งระบบสมาร์ทไมโครกริดบ้านขุนกลาง พร้อมแบตเตอรี่ประเภท Li-Ion ขนาด 100 kW/150Kwh. สามารถช่วยแก้ปัญหาไฟฟ้าตกหรือดับในพื้นที่ได้อย่างน้อย 95% เป็นเวลานานกว่า 8 ชั่วโมงในแต่ละครั้ง โดยระบบสมาร์ทไมโครกริดนี้ มีระบบกักเก็บพลังงานหรือแบตเตอรี่ซึ่งเปรียบเสมือน Power Bank ที่ช่วยกักเก็บพลังงานที่ได้นำพลังงานไฟฟ้าจากพลังน้ำและแสงอาทิตย์มาสำรองไว้ใช้ในยามจำเป็น ลดความผันผวนของระบบไฟฟ้าภายในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี

“ ปัจจุบันมีชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและเป็นถิ่นทุรกันดาร การคมนาคมไม่สะดวกและยากต่อการวางระบบสาธารณูปโภค ดังนั้น เพื่อเป็นการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับชุมชนให้มีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ สนพ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้ร่วมกันดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของประเทศไทย มุ่งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ และการจัดการทรัพยากรในระบบจำหน่ายไฟฟ้า และในพื้นที่โครงการหลวงดอยอินทนนท์ ในปัจจุบันมีการติดตั้งสายส่งไฟฟ้าจากพื้นราบแล้ว แต่ด้วยสภาพพื้นที่เป็นป่าเขาหากเกิดฝนตกหนักหรืออุทกภัยจะส่งผลกระทบต่อระบบสายส่งและเกิดไฟฟ้าดับเป็นเวลานานส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานต่างๆ ในโครงการหลวง รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน”นายวัฒนพงษ์ กล่าว