ราคาน้ำมันดิบ (9 ม.ค. 66) ทรงตัว จากค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัว

ราคาน้ำมันดิบ
Photo by Frederic J. BROWN / AFP

ราคาน้ำมันดิบทรงตัว จากค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัว ท่ามกลางความกังวล ภาวะเศรษฐกิจถดถอย

วันที่ 9 มกราคม 2566 หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บมจ.ไทยออยล์ ระบุว่าปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับราคา ดังนี้ ราคาน้ำมันดิบทรงตัว หลังค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง ส่งผลให้ความน่าสนใจในการลงทุนในตลาดน้ำมันเพิ่มขึ้น สำหรับนักลงทุนที่ถือเงินสกุลอื่น เนื่องจากสัญญาน้ำมันดิบจะมีราคาถูกลง ในขณะที่หุ้นทั่วโลกพุ่งขึ้น เนื่องจากนักลงทุนคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะผ่อนคลายลง และอาจส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ชะลอการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย

โดยราคาน้ำมันเวสต์เทกซัสซื้อขายเมื่อ 6 ม.ค. 66 อยู่ที่ 73.77 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น +0.10 เหรียญสหรัฐ และราคาน้ำมันเบรนต์อยู่ที่ 78.57 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง -0.12 เหรียญสหรัฐ

ตลาดยังคงกังวลกับสภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลังสหรัฐรายงานกิจกรรมอุตสาหกรรมภาคบริการในเดือน พ.ย. หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี ในขณะที่รายงานอีกฉบับหนึ่งแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐเพิ่มการจ้างงานอย่างแข็งแกร่งในเดือน ธ.ค. ส่งผลให้อัตราการว่างงานกลับสู่ระดับต่ำสุดก่อนเกิดโรคระบาดที่ 3.5% เนื่องจากตลาดแรงงานยังคงตึงตัว นอกจากนี้ตลาดหุ้นในจีน ซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของโลก ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากความคาดหวังของนักลงทุนที่คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัวจากวิกฤตโควิดในไม่ช้า และจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในปี’66

ซาอุดีอาระเบียผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของโลก ปรับลดราคาน้ำมันดิบ Arab Light ที่ขายให้เอเชีย ซึ่งนับเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่ พ.ย. 64 ท่ามกลางแรงกดดันจากทั่วโลกที่ส่งผลกระทบกับอุปสงค์น้ำมัน

ราคาน้ำมันเบนซิน

ราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่ากับราคาน้ำมันดิบดูไบ จากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นของเวียดนาม และคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันในประเทศจีนที่จะเพิ่มสูงขึ้นก่อนช่วงเทศกาลตรุษจีน

ราคาน้ำมันดีเซล

ราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ จากน้ำมันดีเซลคงคลังสิงคโปร์ ปรับเพิ่มขึ้น 8.26% แตะระดับ 8.34 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 15 สัปดาห์ นอกจากนี้ราคายังได้รับแรงกดดันจากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นจากจีน