อินเดียแซงญี่ปุ่นขึ้นเป็นตลาดรถยนต์อันดับ 3 ของโลก ไม่สน EV ยังนิยม ‘รถใช้น้ำมัน’

ตลาดรถยนต์อินเดีย
REUTERS/Francis Mascarenhas/File Photo

อินเดียแซงหน้าญี่ปุ่นขึ้นเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ด้วยยอดขายในปี 2565 เบื้องต้น 4.25 ล้านคัน สัดส่วนยังคงเป็นรถยนต์ใช้น้ำมันและรถยนต์ไฮบริดเป็นหลัก สะท้อนว่าผู้บริโภครถยนต์ในอินเดียยังไม่นิยมรถยนต์ไฟฟ้า 

ด้วยจำนวนประชากรที่มากถึง 1,400 ล้านคน และกำลังจะก้าวขึ้นเป็นประเทศที่มีประชากรสูงสุดในโลก ทำให้อินเดียเป็นตลาดที่สำคัญอันดับต้น ๆ ของสินค้าและบริการต่าง ๆ – รถยนต์ก็เป็นหนึ่งในนั้น 

Nikkei Asia รายงานในวันที่ 7 มกราคม 2566 ว่า ยอดขายรถยนต์ใหม่ของประเทศอินเดียในปี 2565 สูงกว่ายอดขายในญี่ปุ่นแล้ว ทำให้อินเดียก้าวขึ้นเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกแทนญี่ปุ่นแล้ว 

ข้อสรุปนี้มาจากการพิจารณาข้อมูลเบื้องต้นที่อุตสาหกรรมรถยนต์เปิดเผยออกมา ประกอบด้วยข้อมูลจากรายงานของสมาคมผู้ผลิตรถยนต์แห่งอินเดียที่ระบุว่า ในระหว่างเดือนมกราคมถึงพฤศจิกายน 2565 ยอดการส่งมอบรถยนต์ใหม่ในอินเดียอยู่ที่ 4.13 ล้านคน เมื่อบวกกับยอดขายใหม่ในเดือนธันวาคมของ Maruti Suzuki (มารูติ ซูซุกิ)  ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของอินเดีย ได้ยอดรวมทั้งปีที่ประมาณ 4.25 ล้านคัน 

ในยอดขายรถยนต์ใหม่จำนวนดังกล่าว สัดส่วนยังคงเป็นรถยนต์ใช้น้ำมันและรถยนต์ไฮบริดเป็นหลัก ส่วนรถยนต์ไฟฟ้าแทบไม่มีให้เห็น สะท้อนว่าผู้บริโภครถยนต์ในอินเดียยังคงนิยมรถยนต์ใช้น้ำมัน และรถยนต์ไฮบริดจ์ 

ตัวเลขเบื้องต้นของอินเดียยังไม่รวมยอดขายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในไตรมาสที่ 4 ของ Tata Motors และผู้ผลิตรถยนต์รายอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้เปิดเผยออกมา

ขณะที่ยอดขายรถยนต์ในญี่ปุ่นรวมแล้วอยู่ที่ 4.20 ล้านคัน จึงแน่นอนแล้วว่า อินเดียแซงขึ้นเป็นตลาดใหญ่อันดับ 3 ของโลก 

ทั้งนี้ ภาพรวมตลาดรถยนต์โลกในปี 2564 จีนยังคงเป็นผู้นำตลาดรถยนต์อันดับ 1 ของโลกด้วยยอดขาย 26.27 ล้านคัน สหรัฐอเมริกายังคงเป็นอันดับ 2 ที่ 15.4 ล้านคัน ตามมาด้วยญี่ปุ่นที่ 4.44 ล้านคัน 

ตลาดรถยนต์ในอินเดีย
REUTERS/Anushree Fadnavis

ส่วนตลาดรถยนต์ของอินเดียมีความผันผวนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มียอดขายรถยนต์ประมาณ 4.4 ล้านคันในปี 2561 แต่ลดลงต่ำกว่า 4 ล้านคันในปี 2562 สาเหตุหลักมาจากวิกฤติสินเชื่อในปีนั้นที่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน

ต่อมา ในปี 2563 การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ ยอดขายรถยนต์ก็ลดลงต่ำกว่าระดับ 3 ล้านคัน แล้วในปี 2564 ยอดขายฟื้นตัวกลับมาเข้าใกล้ 4 ล้านคัน แต่ปัญหาการขาดแคลนชิปส่งผลกระทบต่อการเติบโตของยอดขาย 

ตามข่าวบอกว่า รถยนต์ในอินเดียมีการใช้เซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) น้อยกว่ารถยนต์ที่ขายในประเทศพัฒนาแล้ว อย่างไรก็ตาม การคลี่คลายของวิกฤตชิปยานยนต์ในปี 2565 ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นตัวของยอดขายรถยนต์ในอินเดียด้วย นอกจาก Maruti Suzuki แล้ว Tata Motors (ทาทา มอเตอร์ส) และผู้ผลิตรถยนต์อินเดียรายอื่น ๆ ก็มียอดขายเพิ่มขึ้นเช่นกันในปี 2565 ที่เพิ่งผ่านมา 

อินเดียมีประชากร 1,400 ล้านคน และคาดว่าประชากรจะแซงหน้าจีนในปีนี้ และจำนวนประชากรอินเดียจะเติบโตต่อเนื่องไปจนถึงต้นทศวรรษ 2060 (ช่วง พ.ศ. 2603 – 2612) ด้านรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรก็จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน 

ข้อมูลของบริษัทวิจัย Euromonitor (ยูโร มอนิเตอร์) ระบุว่า ในปี 2564 มีเพียง 8.5% ของครัวเรือนอินเดียเท่านั้นที่เป็นเจ้าของรถยนต์นั่งส่วนบุคคล นั่นหมายความว่า ตลาดรถยนต์ในอินเดียยังมีพื้นที่-มีโอกาสจะเติบโตอีกมากตามจำนวนประชากรและรายได้ที่เพิ่มขึ้น อีกทั้ง รัฐบาลอินเดียได้เริ่มเสนอเงินอุดหนุนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ท่ามกลางการขาดดุลการค้าซึ่งเป็นผลมาจากการนำเข้าน้ำมัน 

ตลาดรถยนต์อินเดีย
REUTERS/Francis Mascarenhas

ด้านประเทศญี่ปุ่น ข้อมูลจากสมาคมผู้ค้ารถยนต์แห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Automobile Dealers Association) และสมาคมยานพาหนะชนิดเบาและรถจัรยานยนต์แห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Light Motor Vehicle and Motorcycle Association) บอกว่า ยอดขายรถยนต์ในปี 2565 อยู่ที่ 4,201,321 คัน ลดลง 5.6% จากปี 2564 

ยอดขายรถยนต์ในญี่ปุ่นที่ลดลงเป็นผลเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนและการล็อกดาวน์ในประเทศจีนทำให้การผลิตลดลงอย่างมาก ส่งผลให้ผู้ผลิตรถยนต์ไม่สามารถผลิตได้ทันความต้องการ

ในอดีต ญี่ปุ่นเคยเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ยอดขายรถยนต์ของญี่ปุ่นทำสถิติสูงสูงสุดในปี 2533 ที่ 7.77 ล้านคัน นั่นหมายความว่ายอดขายในปี 2565 ลดลงเกือบครึ่งหนึ่งจากระดับสูงสุดตลอดกาล

ด้วยปัจจัยเรื่องจำนวนประชากรที่ลดลงก็มีโอกาสน้อยมากที่ยอดขายรถยนต์ในญี่ปุ่นจะฟื้นตัวขึ้นได้มากในอนาคตอันใกล้

จีนแซงหน้าญี่ปุ่นขึ้นเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกในปี 2549 และต่อมา ปี 2552 จีนแซงหน้าสหรัฐฯ กลายเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก 

ปัจจัยที่ทำให้จีนแซงขึ้นเป็นอันดับ 1 คือเรื่องจำนวนประชากรที่มากที่สุดในโลก และรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรที่เพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยเดียวกันกับของอินเดียที่กำลังจะก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก พร้อมกับคาดการณ์ว่ารายได้ของประชากรจะเพิ่มขึ้น 

ในอนาคตอินเดียจะแซงขึ้นเป็นตลาดอันดับ 2 และอันดับ 1 ได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องจับตามองอีกยาว แต่ที่แน่ ๆ คือ รถยนต์เป็นสินค้าที่มีโอกาสเติบโตมาก เช่นกันกับอีกหลาย ๆ สินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต

 

อ้างอิง : Nikkei Asia