นักลงทุนร้องหาพลังงานทดแทน บีโอไอผนึก ก.พลังงานเร่งมาตรการหนุน

พลังงานทดแทน

บีโอไอ เปิดข้อเรียกร้องจากนักลงทุน ขอความมั่นใจด้านพลังงานต้องเพียงพอซัพพอร์ตภาคการผลิตอุตสาหกรรมโดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียน รับเทรนด์ net zero ใช้ฝ่ามาตรการกีดกันทางการค้าที่ทั่วโลกกำลังตั้งกำแพง อย่าง CBAM ด้าน กกพ. 3 การไฟฟ้า ร่วมตั้งคณะทำงานเร่งจัดทำแผนหาพลังงาน คาดเป็นอีกเครื่องมือดึงนักลงทุนที่มุ่งเป้าธุรกิจรักษ์โลก สิ่งแวดล้อม ได้ทั้งสิทธิประโยชน์ตามกลุ่ม บวกในส่วนการปรับปรุงประสิทธิภาพ

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ดเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้อนุมัติเห็นชอบในหลักการเรื่องการจัดหาพลังงานให้กับภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากปัจจุบันพบว่ามีนักลงทุนจำนวนมาก ต้องการให้ภาครัฐจัดหาพลังงานหมุนเวียนให้มีความเพียงพอกับความต้องการในภาคการผลิต

ในส่วนของบีโอไอเองได้พิจารณาเรื่องดังกล่าว เพราะต้องการที่จะสนับสนุนภาคเอกชนที่มีความจำเป็นต้องปรับตัวตามกติกาโลกใหม่ ที่ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งทำให้บริษัทระดับโลกตั้งเป้าหมายการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เทรนด์ net zero และเข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (RE100) ซึ่งทำให้เกิดความต้องการใช้พลังงานหมุนเวียนในการดำเนินกิจการเป็นจำนวนมาก

จากนี้ทางบีโอไอ กระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จะตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อเร่งดำเนินการจัดทำกลไกจัดหาไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Utility Green Tariff แบบเจาะจงกลุ่มโรงไฟฟ้า เพื่อให้กลไกดังกล่าวเป็นเครื่องมือใหม่ในการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายจากบริษัทระดับโลกที่ประกอบธุรกิจด้วยความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม

“ภาคอุตสาหกรรมถูกมาตรการกีดกันทางการค้าจากหลายทาง โดยมุ่งไปเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อย่างยุโรปเขาใช้มาตรการจัดเก็บภาษีก๊าซเรือนกระจกก่อนข้ามพรมแดนสำหรับสินค้านำเข้า (Carbon Border Adjustment Mechanism) หรือ CBAM และก็ยังมีอีกหลายประเทศที่ต่างออกกฎการควบคุมการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอน

นักลงทุนเขาจึงต้องการความมั่นใจว่า หากมาลงทุนในไทยแล้วจะมีพลังงานหมุนเวียนเพียงพอให้เขา เพราะเขาต้องใช้เป็นส่วนสำคัญในการแข่งขันและส่งออกสินค้าไปขายต่างประเทศด้วย หากไทยเรามีพร้อม มันคือข้อได้เปรียบที่จะแข่งกับเพื่อนบ้านได้ไม่ยาก”

สำหรับสิทธิประโยชน์การลงทุน กลุ่มประเภทกิจการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น กิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จะอยู่ในกลุ่มทั้งในกลุ่ม A1 อย่างกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า หรือพลังงานไฟฟ้าและไอน้ำจากขยะ หรือเชื้อเพลิงจากขยะ (refuse derived fuel) ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบสำหรับการผลิตเพื่อส่งออก

A2 กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า หรือ พลังงานไฟฟ้าและไอน้ำจากพลังงานหมุนเวียน เช่น แสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ เป็นต้น หรือกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า หรือพลังงานไฟฟ้าและไอน้ำจากไฮโดรเจน ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี (แคปวงเงิน) ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบสำหรับการผลิตเพื่อส่งออก

ส่วนประเภทกิจการอื่น ๆ ลงทุนแล้วจะลงทุนเพิ่มในบางไลน์การผลิต หรืออย่างการใช้โซลาร์ติดบนหลังคาจะเข้าข่ายมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านพลังงาน ซึ่งจะได้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี เพิ่มเติมวงเงิน 50% ของเงินลงทุนในการปรับปรุงประสิทธิภาพ ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับปรับปรุงประสิทธิภาพ

ขณะที่ในส่วนของกระทรวงพลังงาน ได้จัดทำแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 2558-2579 (AEDP) ไว้อยู่แล้ว โดยเป็น 1 ใน 5 แผน ภายใต้แผนพลังงานแห่งชาติ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาพลังงานทดแทนให้เป็นพลังงานหลักของประเทศ มีสัดส่วนกว่า 50%

ทดแทนการนำเข้าน้ำมันได้ในอนาคต สร้างความมั่นคงด้านพลังงานสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตเทคโนโลยีพลังงานทดแทนในประเทศ และเพื่อวิจัยพัฒนาส่งเสริมเทคโนโลยีพลังงานทดแทนสัญชาติไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดสากล

ซึ่งที่ผ่านมา รัฐได้มีการส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการผลิตพลังงานทดแทน ปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบสายส่ง สายจำหน่ายไฟฟ้า รวมทั้งการพัฒนาสู่ระบบ Smart Grid