3 กูรูชี้เศรษฐกิจไทยแกร่ง “ท่องเที่ยว-ลงทุน” ชุบชีวิตธุรกิจ

3 กูรูชี้เศรษฐกิจไทย

สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ จัดงานสัมมนาในหัวข้อ “มองต่างมุมเศรษฐกิจไทย ปี 2566” เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2566 โดยได้เชิญ 3 กูรู 3 ด้านเศรษฐกิจ

ประกอบด้วย นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มาแลกเปลี่ยนมุมมองทางด้านเศรษฐกิจ ณ โรงละครอักษรา คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ

นายสนั่นกล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2566 เริ่มทยอยฟื้นตัวจากแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยว คาดว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากถึง 30 ล้านคน จากปีที่ผ่านมา 11.8 ล้านคน ทำให้ส่งผลดีกับภาคบริการและการจ้างงานก็จะดีขึ้นด้วย

ทั้งนี้ รัฐบาลควรมีงบประมาณช่วยโปรโมต จัดโรดโชว์ให้ชาวจีนเข้าเที่ยวไทยที่กำลังจะเข้ามาในไตรมาส 2 นี้ ทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยและสร้างรายได้ให้กับประเทศ

ส่วนการส่งออกสินค้าจะขยายตัวอย่างน้อย 1-2% โดยภาคเอกชนและกระทรวงพาณิชย์ร่วมทำงานเชิงรุกเจาะตลาดการส่งออกสินค้าไทยไปสู่ภาคตะวันออกกลาง โดยเฉพาะกับประเทศซาอุดีอาระเบียมากขึ้น รวมถึงกระทรวงพาณิชย์จะเจรจาการค้าเพิ่มประเทศเข้ากรอบเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เพิ่มเติม คาดว่าภายใน 2 ปี ประเทศไทยจะมีข้อตกลงเอฟทีเอเพิ่มเป็น 27 ประเทศ

Advertisment

นายสนั่นกล่าวว่า สิ่งสำคัญคือจะช่วยเสริมความสามารถในการแข่งขัน ให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะต้นทุนค่าไฟฟ้า และธุรกิจเอสเอ็มอีได้อย่างไรให้เข้าถึงเงินทุนและมาตรการภาครัฐ ซึ่งมองว่าเรื่องภาษีจะมีส่วนช่วย เพราะที่ผ่านมามีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น คนละครึ่ง แต่เอสเอ็มอีไม่กล้าเข้าร่วมเพราะกลัวเรื่องของภาษี ในเรื่องนี้ได้หารือกับอธิบดีกรมสรรพากรแล้ว ถ้าตกลงกันได้ที่จะช่วยเอสเอ็มอีในเรื่องภาษี ก็จะมีส่วนช่วยการจ้างงานในภาคเอสเอ็มอี 2-3 ล้านคน

นายเมธีกล่าวว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2566 จะยังชะลอตัว แต่ในแต่ละประเทศมีการเติบโตที่แตกต่างกันออกไป เช่น เศรษฐกิจสหรัฐจะเติบโต 1.4% ในปี 2566 และในปี 2567 จะเติบโต 1% ซึ่งชะลอลงจากดอกเบี้ยสหรัฐและเศรษฐกิจยุโรปมีปัญหามากจากสงครามรัสเซียกับยูเครน ขณะที่เศรษฐกิจในเอเชียดีขึ้น โดยเฉพาะของไทยที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง

เช่นเดียวกับด้านเงินเฟ้อของแต่ละประเทศมีความแตกต่างเช่นเดียวกัน ซึ่งเงินเฟ้อของไทยในปีนี้ราคาอาหารและราคาพลังงานไม่สูงมากเท่ากับปีที่ผ่านมาที่เกือบ 100% เงินเฟ้อสูงมาจากราคาค่าไฟ ค่าน้ำมัน อาหารสด แต่เศรษฐกิจปีที่แล้วยังไม่ฟื้นตัวมาก ทำให้แรงกดดันด้านอุปสงค์ยังมีน้อย และผู้ประกอบการส่งผ่านต้นทุนไปบางส่วนเท่านั้น ทำให้ในปีนี้ผู้ประกอบการอาจส่งผ่านต้นทุนราคาสินค้าเพิ่มมากขึ้นได้

“การขึ้นดอกเบี้ยต่างประเทศขึ้นเร็วขึ้นมาก แต่ไทยไม่มีความจำเป็นต้องเร็วตาม โดยยังย้ำการปรับดอกเบี้ยนโยบายกลับสู่ปกติค่อยเป็นค่อยไป ไม่ให้ตลาดผิดไปจากที่คาดไว้ ซึ่งมีหลายคนบอกว่า ขึ้นดอกเบี้ยช้าจะเกิดส่วนต่างดอกเบี้ยกับประเทศอื่น ทำให้เงินไหลออก ซึ่งความจริงในไตรมาส 4 ที่ผ่านมามีเงินไหลเข้าด้วยซ้ำ”

Advertisment

นายภากรกล่าวว่า ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้มากกว่าปีที่แล้ว และนักลงทุนต่างชาติมีความเชื่อมั่น เห็นได้จากเดือน ม.ค. 2566 แค่เดือนเดียวมีเงินไหลเข้ามา 700 ล้านเหรียญสหรัฐ ตอนนี้เงินบาทแข็งค่า 34 บาทต่อเหรียญ เมื่อเทียบกับ 38 บาทต่อเหรียญ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา

สำหรับการสนับสนุนตลาดทุนไทย ล่าสุด ตลท.เริ่มมีกระดานเทรดใหม่ระดมทุนให้เอสเอ็มอีเข้าถึงง่ายมากขึ้น เช่น LiVE Exchange เป็นต้น

นายภากรกล่าวสรุปว่า ในปีนี้สิ่งที่อยากให้นักลงทุนพิจารณาคือ ความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างรัสเซียกับยูเครน ความผันผวนของราคาน้ำมัน อัตราเงินเฟ้อที่ขยับสูงขึ้น ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย เป็นความเสี่ยงที่ลดลง นักลงทุนจะติดตามข่าวสารเพื่อลงทุนในสินทรัพย์ที่เหมาะสม