SVI ประกาศปั้นแบรนด์แท่นชาร์จรถอีวี รับเทรนด์โลก

นายสมชาย สิริปัญญานนท์

SVI  เดินหน้าเป้าหมาย 30,000 ล้านบาท ประกาศรุกผลิตแท่นชาร์จรถอีวีภายใต้แบรนด์ตัวเอง รับกระแสรถยนต์อีวีในไทยมาแรง หนุนอัตราการทำกำไรที่ดีขึ้น ตั้งเป้ายอดขายปีละ 1,500 ล้านบาท ชูฐานการผลิตในไทย-กัมพูชา รับดีมานด์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิคส์กลุ่มอุตสาหกรรมรับเมกะเทรนด์โลกพุ่ง

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 นายสมชาย สิริปัญญานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสวีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ SVI เปิดเผยว่าบริษัทได้วิจัยพัฒนาและทำตลาดผลิตภัณฑ์แท่นชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าภายใต้แบรนด์ตนเอง หลังภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและมีผู้ประกอบการชั้นนำของโลกได้ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตส่งผลให้ยอดจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีความต้องการใช้แท่นชาร์จที่คาดว่าจะสูงถึง 30 ล้านแท่งภายใน 10 ปี ข้างหน้า

บริษัทนำศักยภาพที่ตั้งฐานการผลิตที่กระจายอยู่ยุทธศาสตร์สำคัญด้านการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิคส์ทั้งประเทศไทย กัมพูชา สโลวะเกีย ออสเตรียและฮังการี ที่มีความได้เปรียบเชิงการแข่งขันทั้งเทคโนโลยีการผลิตและระบบอัตโนมัติ รวมถึงต้นทุนการผลิต ตอบสนองคำสั่งซื้อในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิคส์เกี่ยวกับระบบควบคุมอุตสาหกรรม อุปกรณ์สื่อสารและโทรคมนาคมไร้สาย อุตสาหกรรมยานยนต์อีวี ล้วนอยู่ในอุตสาหกรรมเมกะเทรนด์ของโลกและรับศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว 

ทั้งนี้ ประเทศไทยและกัมพูชา ถือเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิคส์ที่สำคัญของ SVI ช่วยผลักดันเป้าหมายการดำเนินงานปีนี้ไปสู่เป้าหมาย 30,000 ล้านบาท

“เดิมการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิคส์ของ SVI เป็นรูปแบบ OEM แต่เรามองเห็นโอกาสศักยภาพการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย จึงพัฒนาแท่นชาร์จรถอีวีภายใต้แบรนด์ของตัวเองเพื่อเข้าทำตลาด โดยจะเริ่มส่งมอบสินค้าให้แก่คู่ค้าที่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ของไทยในไตรมาส 2 ของปีนี้ ทาง SVI ได้ตั้งเป้าสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวปีละ 1,500 ล้านบาท และจะช่วยพัฒนาอัตราการทำกำไรโดยรวมของทั้งบริษัทดีขึ้น” นายสมชายกล่าว

ขณะที่ฐานการผลิตในกัมพูชา บริษัทอยู่ระหว่างการขยายการผลิต 3 เท่า หรือจาก 10,000 ตร.ม. เพิ่มเป็น 35,000 ตร.ม. คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 2 ปีนี้ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโตในปีนี้โดยฐานการผลิตดังกล่าวจะทำให้ SVI รองรับความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิคส์จากฐานลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ที่ต้องการย้ายฐานการผลิตจากประเทศจีน เนื่องจากความกังวลประเด็นสงครามการค้าสหรัฐ-จีน รวมถึงฐานการผลิตดังกล่าวยังมีได้ประโยชน์ทางด้านสิทธิด้านภาษีเพื่อส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาอีกด้วย