“มังกรคู่” ไทยวา ผงาด กางแผน 3 ปี ลงทุน 2,000 ล้าน

โฮ เรน ฮวา ไทยวา
โฮ เรน ฮวา
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

“ไทยวา” บริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารมากว่า 75 ปี ธุรกิจหลักที่ทำแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มสำคัญคือธุรกิจแป้งมันสำปะหลัง และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ภายใต้แบรนด์ “ROSE” ธุรกิจอาหารจากแป้งประเภทวุ้นเส้นก๋วยเตี๋ยว แบรนด์ “มังกรคู่ หงษ์ และกิเลนคู่” และธุรกิจผลิตภัณฑ์ย่อยสลายได้ทางชีวภาพแบรนด์ “ROSECO”

ล่าสุดเปิดตัวเลขรายได้ ปี 2565 รวม 10,421 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% จากปี 2564 “ประชาชาติธุรกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ นายโฮ เรน ฮวา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) หรือ TWPC ชาวสิงคโปร์ ถึงทิศทางการทำตลาดในปีนี้

ไทยวาโตฝ่าโควิด

ไทยวาเป็นบริษัทเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารชั้นนำของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการดำเนินงานใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซีย และจีน โดยมีโรงงานและสำนักงานทั้งหมด 15 แห่ง มีสินค้าครอบคลุมทั้งผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับผู้บริโภคและผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลังและแป้งมันสำปะหลังดัดแปร ซึ่งเป็นวัตถุดิบและโซลูชั่นด้านอาหารในการประกอบอาหารสำหรับผู้ผลิต ผู้ประกอบการด้านอาหาร ประมาณ 50 รายการ อาทิ ภายใต้แบรนด์ “ROSE” ธุรกิจอาหารจากแป้งประเภทวุ้นเส้น ก๋วยเตี๋ยว ภายใต้แบรนด์ “มังกรคู่ หงษ์ และกิเลนคู่”

บริษัทมีเป้าหมายออกสินค้าใหม่ ๆ ทุกปีเฉลี่ย 8-10 รายการ รวมถึงผลิตภัณฑ์ไบโอพลาสติกจากแป้งมันสำปะหลังภายใต้แบรนด์ ROSECO ซึ่งที่ผลิตจากแป้งมันสำปะหลังครั้งแรกในโลก และเป็นบรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืนที่มีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาพลาสติก รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัจจุบันกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 2,500 ตัน เชื่อว่าอนาคตจะเพิ่มขึ้นในระยะยาว 10,000 ตันต่อปี ตลาดสำคัญ เช่น ไทย ยุโรป อินเดีย เป็นต้น

“แม้ว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาทั่วโลกต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม แต่บริษัทยังคงทำรายได้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องปี 2564 รายได้อยู่ที่ 9,100 ล้านบาท และในปี 2565 รายได้ 10,421 ล้านบาท โต 14% บริษัทสามารถทำกำไรและรายได้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่านับตั้งแต่ปี 2560 รวมทั้งเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่มากกว่า 20 รายการ แม้อยู่ในช่วงโควิด-19 แต่ไทยวาก็สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดอาหาร แป้งมัน วัตถุดิบออร์แกนิก และวัตถุดิบได้เป็นอย่างดี”

เมื่อดูสัดส่วนรายได้หลักของบริษัทนั้นมาจากธุรกิจแป้งมันสำปะหลัง 49% ธุรกิจสินค้าพิเศษที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (HVA products) 32% อาทิ ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ทำจากแป้งมันสำปะหลัง และธุรกิจอาหารพร้อมทาน 19% และการทำตลาดส่วนใหญ่ไทยวาส่งออกกว่า 60% ในกว่า 30 ประเทศทั่วโลก ขายในประเทศ 40% และอนาคตจากการเปลี่ยนแปลงและพฤติกรรมการบริโภค และคาดการณ์ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นทำให้ไทยวามีโอกาสเติบโตทางได้รายได้ต่อเนื่อง

เป้าหมายธุรกิจ 2566

ในปี 2566 บริษัทยังตั้งเป้าเติบโตต่อเนื่องรายได้โต 12,000-13,000 ล้านบาท ขยายตัว 20% โดยคาดหวังปัจจัยบวกจากการที่จีนเปิดประเทศ ซึ่งจะช่วยหนุนความต้องการบริโภคสินค้าภายในประเทศมากขึ้น ลูกค้าเองก็กำลังมองหาสินค้าใหม่ ๆ ไทยวาได้ตั้งเป้าหมายที่จะยกระดับสินค้าด้านอาหารให้รวดเร็วและครอบคลุมกว่าเดิม ซึ่งปัจจุบันไทยวาเป็นผู้นำในตลาดแป้งมันสำปะหลัง นอกจากนี้ ยังเตรียมเดินหน้าลงทุนในพลังงานหมุนเวียนเพื่อตอบโจทย์ต้นทุนด้านพลังงานที่สูงขึ้น

และในอีก 3 ปีข้างหน้าบริษัทมีแผนที่จะขยายการดำเนินงานในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร แป้งมันสำปะหลัง และธุรกิจพิเศษไปสู่ภูมิภาคเอเชียให้มากขึ้นด้วย ตลาดที่จะเข้าไปลงลึกมากขึ้นอย่างอินเดีย อินโดนีเซีย และนอกอาเซียนอย่างสหรัฐ เพราะเล็งเห็นแนวโน้มความต้องการบริโภคสินค้าที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ เรายังมุ่งเน้นไปที่การสร้างสมดุลระหว่างกลุ่มลูกค้า B2C และ B2B ทั้งในประเทศไทย จีน อินโดนีเซีย เวียดนาม อินเดีย และทั่วโลกด้วย พัฒนาสิ่งใหม่ ๆ จากกลยุทธ์ด้านนวัตกรรมอาหารและผลิตภัณฑ์ของเรา เช่น ผลิตภัณฑ์วุ้นเส้น ที่ปัจจุบันเป็นสินค้าที่เติบโตรวดเร็วที่สุดในไทย รวมถึงในภูมิภาคนี้ และพร้อมที่จะขยายฐานการผลิตไปยังอินเดีย อินโดนีเซีย และสหรัฐอเมริกา โดยเน้นไปที่การทำตลาด B2C และ B2B

ทั้งนี้ คาดว่ารายได้จะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไปยังจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทยวาซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการเปิดประเทศและความต้องการบริโภคสินค้าภายในประเทศมากขึ้น แม้ที่ผ่านมาจะเจอปัญหาค่าแรง วัตถุดิบค่าเงิน แต่ไทยวาก็สามารถจัดการความเสี่ยงต่าง ๆ เหล่านี้ได้เป็นอย่างดี

กางแผนลงทุน 3 ปี

บริษัทได้วางงบฯลงทุน 2,000 ล้านบาท ถึงปี 2568 แบ่งการใช้งบฯลงทุน เพื่อขยายฐานการผลิต เช่น ในกัมพูชา โดยจะสร้างโรงแป้งมันคาดปลายปีนี้จะแล้วเสร็จ เพิ่มการผลิตที่เวียดนาม เป็นต้น และจัดจำหน่ายทั่วโลก ประมาณ 600 ล้านบาท การพัฒนาและวิจัยในเทคโนโลยีการเกษตร (AgriTech) ลงทุนในสตาร์ตอัพด้านอาหาร 500-1,000 ล้านบาทผ่าน Thai Wah Ventures ที่ตั้งขึ้นในปี 2565

และนำมาปรับปรุงระบบพลังงานในโรงงาน 300 ล้านบาท เน้นลงทุนในพลังงานหมุนเวียนอย่างโซลาร์รูฟ โซลาร์ฟาร์ม โดยตั้งเป้าจัดหาพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 15 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นระยะยาวในการลดปริมาณคาร์บอนให้เป็นศูนย์ และเป็นการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพในฐานะองค์กรหลัก และพัฒนาไลน์การผลิตกลุ่ม bioplastic และผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มจากมันสำปะหลัง 200 ล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนที่จะเพิ่มการลงทุนในกลุ่มธุรกิจสินค้าพิเศษที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (HVA products) ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่จะมีส่วนสร้างการเติบโตให้กับไทยวาได้อย่างมีนัยสำคัญต่อไปด้วย

วางอนาคตไทยวา

แผนการดำเนินงานในอนาคต 3 ปี จนถึงปี 2568 ไทยวาวางแผนที่จะสร้างการเติบโตทางด้านยอดขายอย่างมากในทั่วทั้งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยขยายทั้งฐานการผลิต ช่องทางการจัดจำหน่าย และการทำการตลาด จาก 15 แห่ง เป็น 20 แห่ง พร้อมทั้งเดินหน้าเสริมความแข่งแกร่งของการดำเนินงานในประเทศจีน เวียดนาม กัมพูชา และอินโดนีเซีย

“ธุรกิจเกษตรและอาหารเป็นธุรกิจที่มีความท้าทายและต้องมีความรับผิดชอบ ผู้บริโภคให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพมากขึ้น และเรายังเป็นหนึ่งในบริษัทเพียงไม่กี่แห่งที่สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากพืชล้วน ๆ สนองต่อความต้องการของตลาดอาหาร แป้งมัน วัตถุดิบออร์แกนิก และวัตถุดิบ เราพร้อมจะเดินหน้าสร้างความแข็งแกร่งในภูมิภาคนี้ต่อไป”