เชียงใหม่ เมืองจมฝุ่น วิดีโอคอล 3 ประเทศลดเผาในที่โล่ง

เชียงใหม่ หมอกควัน

แม้ว่าการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก ได้ถูกจัดให้เป็น “วาระแห่งชาติ” มาตั้งแต่ปี 2562 แต่ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่มีแหล่งกำเนิดหลักมาจากเครื่องยนต์สันดาปในรถที่ใช้น้ำมันดีเซล กับฝุ่นละออง PM 10 ที่มีแหล่งกำเนิดมาจากการเผาในที่โล่ง ไม่ได้ลดลงตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติเลย ซ้ำร้ายสถานการณ์มลพิษทางด้านฝุ่นละอองของประเทศดูจะหนักขึ้นในทุกช่วงที่เข้าสู่ฤดูแล้ง หรือตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนพฤษภาคมที่เริ่มต้นเข้าสู่ฤดูฝน

เชียงใหม่หนัก ผู้ว่าฯสั่ง WFH

โดยปีนี้ก็เช่นกัน สถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5-PM 10 ในพื้นที่ภาคเหนือหนักหนาสาหัสขึ้น จากรายงานล่าสุดของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ณ วันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นถึงความเลวร้ายของสถานการณ์ฝุ่นพิษจากข้อมูลดาวเทียม Suomi NPP เฉพาะส่วนของประเทศไทยพบจุดความร้อน (hot spot) 3,280 จุด ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว มีจุดความร้อนสูงสุดอยู่ที่ 9,653 จุด, เมียนมา 7,161 จุด และเวียดนาม 1,516 จุด

จุดความร้อนที่เกิดจากการเผาในที่โล่งดังกล่าวจากการวิเคราะห์ข้อมูลดาวเทียมในส่วนของประเทศไทยพบว่า เกิดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์มากที่สุดถึง 1,951 จุด ตามมาด้วย ป่าสงวนแห่งชาติ 879 จุด, พื้นที่เกษตร 191 จุด, พื้นที่เขต ส.ป.ก. 129 จุด, พื้นที่ชุมชนอื่น ๆ 122 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 8 จุด

ในส่วนของจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุด 3 ได้แก่ เชียงใหม่ 320 จุด, เชียงราย 289 จุด และแม่ฮ่องสอน 281 จุด เมื่อผสมกับจุดความร้อนที่เกิดขึ้นจากการเผาในที่โล่งข้ามแดนทั้งใน สปป.ลาว-เมียนมา มีผลทำให้ค่าฝุ่นพิษ PM 2.5 หลายจังหวัดในภาคเหนืออยู่ในระดับ “สีแดง” หรือมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน-เชียงราย-น่าน-เชียงใหม่-พะเยา ล้วนแล้วแต่มีค่า PM 2.5 สูงสุดกว่า 300 ไมโครกรัม หรือกว่า 6 เท่าของเกณฑ์ค่ามาตรฐานด้วยกันทั้งสิ้น

ล่าสุด ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้ออกประกาศขอความร่วมมือทุกหน่วยงานรัฐบาลทุกแห่ง จัดระบบการทำงานแบบ work from home ในส่วนภารกิจที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการบริการประชาชน เนื่องจากที่ผ่านมาฝุ่นละอองในพื้นที่มีค่า “เกินกว่ามาตรฐาน” หรืออยู่ระหว่าง 112-398 มคก./ลบ.ม. และยังมีแนวโน้มที่ค่าฝุ่นจะเพิ่มสูงขึ้น และยังขอความร่วมมือไปยัง บริษัท-ห้างร้าน หรือสถานประกอบการภาคเอกชนในเชียงใหม่พิจารณาให้พนักงานทำงานที่บ้าน หรือทำงานผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ในส่วนงานที่ไม่กระทบกับกิจการของบริษัท ห้าง ร้านค้าด้วยจุดความร้อน

Advertisment

ขอยุตินำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

จากข้อมูลดาวเทียม Suomi NPP ของ GISTDA ที่แสดงให้เห็นถึงจุดความร้อนที่เกิดจากการเผาในที่โล่ง เกินกว่าครึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว-เมียนมา (ภาพประกอบ) โดยจุดความร้อนเหล่านี้ มูลนิธิชีววิถี (BioThai) ร่วมกับกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) เชื่อว่า เกิดจากการเผาในพื้นที่ที่มีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการอย่างเร่งด่วนให้ยุติการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากแหล่งที่มีการเผาจากประเทศเพื่อนบ้านทันที

การเพิ่มขึ้นของพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศเพื่อนบ้านได้สะท้อนให้เห็นจากปริมาณการนำเข้าข้าวโพดที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์เข้ามาในราชอาณาจักร ตามความตกลงภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ปี 2564-2566 ที่อนุญาตให้ องค์การคลังสินค้า กับผู้นำเข้าทั่วไป สามารถนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อัตราค่าธรรมเนียมพิเศษนำเข้าตันละ 0 บาท โดยให้ผู้นำเข้าเอกชน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เครือข่ายโรงงานผู้ผลิตอาหารสัตว์ สามารถนำเข้าได้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์-31 สิงหาคมของทุกปี

โดยปริมาณนำเข้าล่าสุดปี 2563 ที่ปริมาณ 1.59 ล้านตัน มูลค่า 8,687.96 ล้านบาท ปี 2564 ปริมาณ 1.82 ล้านตัน มูลค่า 12,655.93 ล้านบาท และปี 2565 ปริมาณ 1.48 ล้านตัน มูลค่า 15,022.42 ล้านบาท เฉพาะปี 2566 ล่าสุดมีปริมาณนำเข้ามาแล้ว 0.18 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 2,017.54 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ข้อเรียกร้องของ BioThai-FTA Watch ที่ให้ยุติการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งก่อให้เกิดการเผาพื้นที่โล่งข้ามแดนมายังประเทศไทยนั้น “สามารถทำได้” ตามความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน (ATIGA) ใน Article 8 (b) General Exceptions “necessary to protect human, animal or plant life or health”

Advertisment

ในประเด็นนี้ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายการค้าระหว่างประเทศเชื่อว่า “ทำได้เช่นกัน” แต่มีเงื่อนไขว่า จะต้องใช้อย่างไม่เลือกปฏิบัติ หรือใช้กับทุก ๆ ประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีการเผาในที่โล่งจนกระทบต่อสุขภาพของประชาชน แต่ต้องไม่ลืมว่า ประเทศผู้ร้องก็จะต้องมีมาตรการควบคุมการเผาในที่โล่งอย่างมีประสิทธิภาพและตรวจวัดได้เช่นกัน

ประชุม 3 ฝ่ายสัญลักษณ์ร่วมมือ

ดูเหมือนว่า ข้อเรียกร้องให้มีการยุติการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของ BioThai เพื่อลดพื้นที่เผาในที่โล่ง และนำมาซึ่งการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านให้ควบคุมการเผาอย่างมีประสิทธิภาพนั้น จะไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลไทย โดยอ้างว่า “ทำไม่ได้ เพราะมีเรื่องกฎระเบียบของ WTO การจะดำเนินการอย่างไรต้องพิจารณาให้รอบคอบ” หรืออีกนัยหนึ่ง หากห้ามนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้านก็จะส่งผลกระทบโดยตรงกับโรงงานผู้ผลิตอาหารสัตว์ เมื่อ “ข้าวโพด” ขาดแคลน หรือมีราคาแพงขึ้น ก็จะส่งผลไปยังราคาเนื้อสัตว์ด้วย

ในขณะที่รัฐบาลจะเพิกเฉยกับการเผาในที่โล่งข้ามแดนก็ไม่ได้ ในเมื่อสถานการณ์ฝุ่นมลพิษจังหวัดชายแดนเข้าขั้น “วิกฤต” โดยกลไกที่เหลืออยู่ก็คือ การเปิดการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน โดยรัฐบาลไทยเลือกที่จะ “ขอความร่วมมือ” ผลักดันการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน

ล่าสุด ฝ่ายไทยโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมการประชุม 3 ฝ่าย ระหว่าง ไทย-สปป.ลาว (นายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว) และสหภาพเมียนมา (พล.อ.อาวุโส มิน ออง ไลง์) ผ่านระบบ video conference ในวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา เพื่อแก้ปัญหามลพิษหมอกควันข้ามแดน โดยกรมควบคุมมลพิษไทย ได้แสดงภาพรวมของจุดความร้อนที่เกิดขึ้นใน 3 ประเทศในปีนี้ “เพิ่มขึ้น” จากปี 2565 ถึงร้อยละ 93 พร้อมกับเสนอวิธีการแก้ไขปัญหาฝุ่นหมอกควันข้ามแดน ด้วยการ

1) ปฏิบัติตามเป้าหมายในการลดจุดความร้อนตาม แผนปฏิบัติการเชียงราย (ปี 2017-เดิมกำหนดให้ลดจุดความร้อนในภูมิภาคอาเซียน ร้อยละ 60 ภายในปี 2565 แต่ไม่สำเร็จ จึงให้ขยายระยะเวลาออกไปอีก) พร้อมกับจัดตั้งระบบเตือนภัยและส่งเสริมประสิทธิภาพการดับไฟ การบริหารจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน

2) ให้ใช้ประโยชน์จากกลไกทุกระดับในระดับทวิภาคี โดยฝ่ายไทยได้เสนอให้ส่งเสริมความร่วมมือผ่านกลไก คณะกรรมการชายแดนในระดับจังหวัด ส่วนในระดับภูมิภาคอาเซียน ไทยจะเสนอในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 24 เพื่อให้ “ผู้นำอาเซียน” พิจารณาสั่งการเร่งแก้ปัญหาให้เป็นรูปธรรม และรอบด้าน

และ 3) จัดให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ รวมถึงแนวทางดำเนินการด้านกฎหมายของแต่ละประเทศเพื่อควบคุมต้นเหตุของปัญหา รวมถึงเพิ่มการช่วยเหลือเกษตรกรในการบริหารจัดการของเสีย โดยแปรให้เป็นพลังงาน รวมไปถึงการแปรรูปกากที่เหลือจากการทำการเกษตรเป็นวัสดุที่เป็นรายได้

นับเป็นความพยายามภายใต้ “ความร่วมมือ” 3 ประเทศอีกครั้งหนึ่งที่จะลดการเผาในที่โล่ง หลังจากที่ได้พยายามกันมาแล้วไม่ต่ำกว่า 6 ปี ท่ามกลางหมอกควันพิษที่ปกคลุมทั่วภาคเหนือของประเทศอยู่ในขณะนี้