PM 2.5 เกินมาตรฐาน 30 จังหวัด ภาคเหนือยังจมฝุ่น 372 มคก./ลบ.ม.

PM 2.5 เกินมาตรฐาน 30 จังหวัด ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ เผย 30 จังหวัด ค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน

วันที่ 8 เมษายน 2566 ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศประจำวันที่ 8 เมษายน 2566 ณ 07:00 น สรุปดังนี้ ภาพรวมปริมาณ PM2.5 ในประเทศพบเกินค่ามาตรฐานใน จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ จ.น่าน จ.แม่ฮ่องสอน จ.พะเยา จ.ลำพูน จ.ลำปาง จ.แพร่ จ.อุตรดิตถ์ จ.สุโขทัย จ.ตาก จ.พิษณุโลก จ.กำแพงเพชร จ.พิจิตร จ.เพชรบูรณ์ จ.นครสวรรค์ จ.อุทัยธานี จ.ชัยนาท จ.สิงห์บุรี จ.ลพบุรี จ.อ่างทอง จ.บึงกาฬ จ.หนองคาย จ.เลย จ.อุดรธานี จ.หนองบัวลำภู จ.มุกดาหาร จ.ขอนแก่น จ.กาฬสินธุ์ และ จ. อุบลราชธานี

ภาคเหนือ เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 56 – 372 มคก./ลบ.ม.

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 27 – 238 มคก./ลบ.ม.

ภาคกลางและตะวันตก เกินค่ามาตรฐาน 4 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 22 – 74 มคก./ลบ.ม.

ภาคตะวันออก ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 14 – 25 มคก./ลบ.ม.

ภาคใต้ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 14 – 25 มคก./ลบ.ม.

กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยสถานีตรวจวัดของ คพ. ร่วมกับ​ ​กทม. ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 15 – 50 มคก./ลบ.ม.

คำแนะนำทางสุขภาพ ประชาชนทั่วไป ควรเฝ้าระวังสุขภาพ ลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง

ผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง ถ้ามีอาการทางสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์

สำหรับประชาชน​ที่อยู่​บริเวณพื้นที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ​ (พื้นที่สีแดง)​ ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง หากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์

ทั้งนี้ สามารถติดตามสถานการณ์ผ่านทางเว็บไซต์ Air4Thai.com และ airbkk.com แอปพลิเคชัน Air4Thai และ AirBKK

ขณะที่ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เปิดเผยว่า
ข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของวันที่ 7 เมษายน 2566 ไทยพบจุดความร้อน 3,208 จุด โดยมีเพื่อนบ้านอย่างพม่านำอยู่ที่ 6,792 จุด , สปป.ลาว 4,125 จุด , เวียดนาม 414 จุด, กัมพูชา 176 และมาเลเซีย 26 จุด

สำหรับจุดความร้อนในประเทศไทย ยังคงพบในพื้นป่าอนุรักษ์มากที่สุดถึง 2,093 จุด ตามด้วยป่าสงวนแห่งชาติ 884 จุด , พื้นที่ชุมชนอื่นๆ 81 จุด , พื้นที่เกษตร 80 จุด, พื้นที่เขต สปก. 63 จุด, และพื้นที่ริมทางหลวง 7 จุด

ส่วนค่าฝุ่น PM2.5 เช้าวันนี้ก็ทางภาคเหนือยังคงน่าเป็นห่วงมากเช่นเคย เมื่อตรวจสอบจากแอปพลิเคชัน “เช็คฝุ่น” แบบรายชั่วโมง เมื่อเวลา 10:00 น. ที่ผ่านมาพบหลายจังหวัดมีค่า PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน และอยู่ในระดับสีแดงส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะที่จังหวัด #เชียงราย พุ่งถึง 368.7 ไมโครกรัม ตามด้วย #เชียงใหม่ 305.7 ไมโครกรัม #แม่ฮ่องสอน 294.3 ไมโครกรัม นอกจากนี้ยังมีที่ #น่าน #พะเยา #ลำพูน #ลำปาง #เลย #แพร่ #ตาก #อุตรดิตถ์ #หนองบัวลำภู เป็นต้น ประชาชนควรสวมหน้ากากอนามัย และงดกิจกรรมภายนอกอาคารสถานที่เพื่อป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจที่จะตามมา ในขณะที่กรุงเทพมหานครพบค่าคุณภาพอากาศของทุกเขตอยู่ในระดับดี

สิ่งหนึ่งที่ต้องเฝ้าระวังที่มักจะมากับเหตุการณ์ไฟป่าและจุดความร้อนคือ PM 2.5 สถานการณ์จุดความร้อนจากประเทศเพื่อนบ้านอาจส่งผลให้เกิด PM 2.5 ได้ในพื้นที่บริเวณชายแดนเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากกระแสลมที่จะพัดผ่านเข้ามา ประกอบกับภูมิประเทศทางภาคเหนือของไทยมีลักษณะเป็นหุบเขาแอ่งกระทะ จึงมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับการพัดและการเคลื่อนตัวของกระแสลมในพื้นที่เป็นสำคัญ

ปัญหาไฟป่าหมอกควัน ส่งผลกระทบให้กับระบบต่างๆ ของประเทศมาโดยตลอด โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม และสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยกำลังจะได้ใช้ระบบ THEOS-2 อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่ง 1 ในภารกิจสำคัญของระบบนี้ คือการสำรวจ วิเคราะห์ และติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้น ได้อย่างแม่นยำและทันท่วงที เพื่อการสนับสนุนข้อมูลสำคัญให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำข้อมูลไปใช้วางแผน ป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดข้อมูลเฉพาะพื้นที่ท่านสามารถติดตามจากหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบโดยตรงได้ GISTDA ยังคงติดตามและรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นข้อมูลให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้บริหารจัดการในพื้นที่

ทั้งนี้ สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://fire.gistda.or.th หรือ ติดตามข้อมูลจาก https://fire.gistda.or.th/dashboard.html และควรติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ผ่านแอปพลิเคชัน “#เช็คฝุ่น”