กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์จีน หารือบีโอไอ เล็งไทยฐานผลิตส่งออกตลาดโลก

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์

สมาคมผู้ผลิตแผ่นวงจรพิมพ์จีน นำคณะผู้ผลิต PCB และซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องกว่า 60 ราย เข้าพบบีโอไอ เตรียมแผนขยายลงทุนในไทยแบบคลัสเตอร์ เล็งใช้ไทยเป็นฐานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และแผ่นวงจรพิมพ์ส่งออกตลาดโลก

วันที่ 24 เมษายน 2566 นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า สมาคมผู้ผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ของประเทศจีน (China Printed Circuit Association) ได้ประสานกับสมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ไทย นำคณะผู้ผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ (Printed Circuit Board : PCB) และซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้อง

เช่น วัตถุดิบและเครื่องจักร รวมกว่า 60 ราย เดินทางมาเยือนประเทศไทย ระหว่างวันที่ 19-22 เมษายนที่ผ่านมา โดยได้เข้าพบหารือกับบีโอไอ เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566 เพื่อรับทราบข้อมูลโอกาสการลงทุน มาตรการส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ และกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

แผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) นับเป็นชิ้นส่วนสำคัญในเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยอุตสาหกรรมแผ่นวงจรพิมพ์ของจีน เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่มีมูลค่ากว่า 1.7 ล้านล้านบาท (3.4 แสนล้านหยวน) และมีผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมกว่า 6.2 แสนคน

ซึ่งในการเดินทางเยือนประเทศจีนของคณะบีโอไอและ กนอ. เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้พบกับผู้ผลิต PCB รายใหญ่ ได้แก่ WUS Printed Circuit (Kunshan) และ ASKPCB ซึ่งทั้ง 2 บริษัทมีแผนลงทุนในไทยรวมกันกว่า 12,000 ล้านบาท และยังได้หารือเรื่องการนำ supplier บางส่วนย้ายตามมาลงทุนในไทยอีกกว่า 200 บริษัทด้วย

“ขณะนี้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของจีนกำลังเผชิญแรงกดดัน จำเป็นต้องเร่งหาแหล่งผลิตที่ 2 นอกประเทศจีน เพื่อลดความเสี่ยงจากสงครามการค้าและบริหารต้นทุนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ โดยมีแนวโน้มจะขยายฐานผลิตมาที่ไทยจำนวนมาก เพราะมีปัจจัยที่เอื้อต่อการลงทุน

โดยเฉพาะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในยานยนต์และอุปกรณ์สื่อสาร ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของไทย ที่มีนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) และการยกระดับอุตสาหกรรมโดยใช้ระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้มีความต้องการใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้มากขึ้นด้วย”

การเข้าพบบีโอไอครั้งนี้ สมาชิกของสมาคมส่วนใหญ่ให้ความสนใจขยายการลงทุนมายังประเทศไทย โดยจะทยอยเข้ามาลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ที่จะประกอบด้วยผู้ผลิต PCB รวมถึงวัตถุดิบ เครื่องจักรและอุปกรณ์ ซึ่งจะมาตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน

โดยได้สอบถามรายละเอียดสิทธิประโยชน์ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุน ข้อมูลนิคมอุตสาหกรรมและคลังสินค้า กฎระเบียบในการประกอบธุรกิจ การถือหุ้นของต่างชาติ และการอำนวยความสะดวกในการนำผู้เชี่ยวชาญเข้ามาเตรียมการจัดตั้งธุรกิจและติดตั้งเครื่องจักร

“ช่วงเวลานี้เป็นโอกาสดีของไทยที่จะโหมดึงการลงทุนในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากจีน ซึ่งจะสร้างการเติบโตของธุรกิจเกี่ยวเนื่องอีกเป็นจำนวนมาก บีโอไอจะใช้โอกาสนี้ส่งเสริมให้บริษัทไทยที่มีศักยภาพเข้าไปอยู่ในซัพพลายเชนนี้ด้วย ผ่านกิจกรรมเชื่อมโยงอุตสาหกรรม โดยร่วมมือกับภาคเอกชน เช่น สมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ไทย เพื่อให้ประเทศได้รับประโยชน์สูงสุด” นายนฤตม์กล่าว

ทั้งนี้ สถิติการขอรับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิต PCB ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2561-2565) มีจำนวน 18 โครงการ มูลค่าลงทุน 39,067 ล้านบาท และในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ (มกราคม-มีนาคม 2566) มีจำนวน 5 โครงการ มูลค่าลงทุน 14,036 ล้านบาท

นอกจากการเดินทางเยือนประเทศไทยของสมาคมผู้ผลิต PCB ของจีนแล้ว ในเร็ว ๆ นี้จะมีคณะผู้ผลิต PCB รายอื่น ๆ เดินทางมาประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยสมาคมผู้ผลิต PCB ของฮ่องกง จะนำสมาชิกกว่า 30 ราย เดินทางมาในเดือนมิถุนายน 2566 และสมาคมผู้ผลิต PCB ของไต้หวัน จะนำสมาชิกกว่า 10 ราย มาในเดือนกรกฎาคม 2566 ด้วย